นาฏศิลป์ภาคอีสาน

 นาฏศิลป์ภาคอีสาน
             ประเภทและลักษณะของนาฏศิลป์ภาคอีสาน
                    ฟ้อนภูไทหรือผู้ไท 
พระธาตุเชิงชุม เป็นปูชนียสถานที่สำคัญของจังหวัดสกลนคร ซึ่งในสมัยโบราณนั้นต้องมีคนคอยเฝ้าดูแลรักษาทำความสะอาดอยู่ตลอดทั้งปี       ซึ่งพวกที่ดูแลทำนุบำรุงพระธาตุเชิงชุมนี้จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีรัชฎาชูปการซึ่งมีหลายชนเผ่าด้วยกัน ซึ่งในกลุ่มผู้ดูแลนั้นมีชาวไทอยู่ร่วมด้วย ในตอนนั้นมักจะมีงานบุญทอดผ้าป่า     และฉลององค์พระธาตุเชิงชุมชาวบ้านจะนำข้าวเม่า   ปลาย่างมาติดกัณฑ์เทศน์   ชาวผู้ไทซึ่งเป็นกลุ่มที่อาสาเป็นผู้ปฏิบัติรักษาองค์พระธาตุโดยเฉพาะผู้ชายจะแต่งตัวนุ่งกางเกงขาก๊วย และนุ่งโสร่งทับ  สวมเสื้อดำ  จะฟ้อนด้วยลีลาอันอ่อนช้อยสวยงาม   โดยร้องและฟ้อนกันเป็นหมู่ๆ   แล้วจึงถวายผ้าป่า    ต่อมาได้มีการดัดแปลงท่าฟ้อนให้สวยงามยิ่งขึ้น     เปลี่ยนจากผู้แสดงชายมาเป็นหญิงล้วน
การแต่งกาย  ผู้แสดงหญิงจะนุ่งผ้าซิ่นสีดำขลิบแดง นุ่งยาวกรอมเท้า สวมเสื้อสีดำขลิบแดง หรือแดงขลิบดำก็ได้   แต่ขลิบคอแขนและชายเสื้อ   สวมเล็บมือแปดเล็บติดพู่สีแดง ผมเกล้ามวยผูกผมด้วยผ้าสีแดง
วงดนตรีประกอบ  ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน  ลายผู้ไทของจังหวัดสกลนคร  ซึ่งมีลีลาและจังหวะเร็วกว่าลายผู้ไทของจังหวัดอื่นๆ
 
                      เซิ้งแหย่ไข่มดแดง
     ที่มาของภาพ   : หนังสือวิพิธทัศนา, สถาบันนาฏดุริยางค์ศิลป์ (๒๕๔๒, ๓๖)
                     เซิ้งแหย่ไข่มดแดง 
อาหารอีสานส่วนใหญ่จะได้มาจากธรรมชาติ   ทั้งที่เป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อยและพืชพันธุ์ต่างๆ  นับได้ว่าชาวอีสานเป็นนักกินผู้หนึ่งทีเดียว   ไข่มดแดงนับเป็นอาหารประจำถิ่นอีสาน   จนสามารถนำมาขายจนกลายเป็นอาชีพได้  ทางภาควิชานาฏศิลป์  วิทยาลัยครูบุรีรัมย์เห็นว่าควรจะอนุรักษ์อาชีพแหย่ไข่มดแดงนี้ในรูปของการแสดง  จึงได้ทำการศึกษาถึงขั้นตอนการนำไข่มดแดงลงมาของชาวบ้าน  โดยอาจารย์ประชัน   คะเนวัน   และอาจารย์ดรรชนี   อุบลเลิศ      เป็นผู้เขียนรายละเอียดของขั้นตอน การแหย่ไข่มดแดงโดยละเอียด การแสดงเซิ้งแหย่ไข่มดแดงนับเป็นการอนุรักษ์อาชีพของชาวอีสานอย่างหนึ่ง
เครื่องแต่งกาย    ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วยหรือนุ่งโสร่งก็ได้  เสื้อคอกลมแขนสั้น  มีผ้าขาวม้าคาดเอว และใช้ผ้าขาวม้าโพกศีรษะ  ฝ่ายหญิงสวมเสื้อแขนกระบอก ๓ ส่วนคอกลม  ห่มสไบ  นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่สั้นแค่เข่า 
อุปกรณ์สำหรับการแสดง     ครุใส่น้ำ  ตะกร้าผูกปลายไม้ยาว  ผ้าสำหรับกวนมดแดง 
เครื่องดนตรี   ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน  ลายเซิ้ง
  
                        เซิ้งโปงลาง
      โปงลางเดิมเป็นชื่อของโปงแขวนอยู่ที่คอของวัวต่าง โปงทำด้วยไม้ หรือโลหะ ที่เรียกว่า โปง เพราะส่วนล่างปากของมันโตหรือพองออก  ในสมัยโบราณชาวอีสานเวลาเดินทางไปค้าขายยังต่างแดน โดยใช้บรรทุกสินค้าบนหลังวัว  ยกเว้นวัวต่าง  เพราะเป็นวัวที่ใช้นำหน้าขบวน  ผูกโปงลางไว้ตรงกลางส่วนบนของต่าง  เวลาเดินจะเอียงซ้ายทีขวาทีสลับกันไป  ทำให้เกิดเสียงดัง  ซึ่งเป็นสัญญาณบอกให้ทราบว่าหัวหน้าขบวนอยู่ที่ใด  และกำลังมุ่งหน้าไปทางไหนเพื่อป้องกันมิให้หลงทาง  ส่วนระนาดโปงลางที่ใช้เป็นดนตรีปัจจุบันนี้พบส่วนมากที่จังหวัดกาฬสินธุ์  เช่น  บ้านนาจาน   บ้านหนองสอ  อำเภอเมือง  จังหวัดกาฬสินธุ์   ซึ่งเรียกว่า  “ขอลอ”  หรือ  “เกาะลอ”   แต่คนส่วนมากจึงนิยมเรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า “โปงลาง” ไม้ที่ทำโปงลางนิยมใช้อยู่ ๒ ชนิด คือ ไม้มะหาดและไม้หมากเหลื่อม  โปงลางสามารถเล่นเป็นลายต่างๆ   การฟ้อนโปงลางจึงเป็นการฟ้อนประกอบลายโปงลาง  เช่น  ลายลมพัดพร้าว ลายช้างขึ้นภู ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายนกไซบินข้ามทุ่ง ลายแมงภู่ตอมดอก ลายกาเต้นก้อน เป็นต้น
เครื่องแต่งกาย    หญิงสวมเสื้อแขนกระบอกสีพื้น  นุ่งผ้ามัดหมี่   ใช้ผ้าสไบเฉียงไหล่   ผูกโบว์ตรงเอว    ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ ผู้ชายใส่เสื้อม่อฮ่อม  กางเกงขาก๊วย  ผ้าคาดศีรษะ  คาดเอว
เครื่องดนตรีที่ใช้    ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานลายโปงลาง หรือลายอื่นๆ
 
                      
                           เซิ้งสวิง 
เป็นการละเล่นพื้นบ้านของภาคอีสาน  ซึ่งเป็นการละเล่นเพื่อการส่งเสริมทางด้านจิตใจของประชาชนในท้องถิ่น  อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์    เซิ้งสวิงเป็นชุดฟ้อนที่มีความสนุกสนาน  โดยดัดแปลงท่าฟ้อนจากการที่ชาวบ้านออกไปหาปลา  โดยมีสวิงเป็นหลักในการหาปลา  นอกจากมีสวิงแล้วจะมีข้อง    ซึ่งเป็นภาชนะในการใส่ปลาที่จับได้     เซิ้งสวิงมีการประยุกต์กันมาเรื่อยๆ   และในปี  พ.ศ.๒๕๑๕  ทางกรมศิลปากรจึงได้นำท่าฟ้อนของท้องถิ่นมาปรับปรุงให้มีท่วงท่ากระฉับกระเฉงขึ้น    ท่าฟ้อนจะแสดงให้เห็นถึงการออกไปหาปลา  การช้อนปลา  จับปลา  และการรื่นเริงใจ  เมื่อหาปลาได้มากๆ  ผู้แสดงฝ่ายหญิงจะเป็นผู้ถือสวิงไปช้อนปลา    ส่วนฝ่ายชายจะนำข้องไปคอยใส่ปลาที่ฝ่ายหญิงจับได้
เครื่องแต่งกาย  ฝ่ายหญิงสวมเสื้อแขนกระบอกคอกลม   นุ่งผ้าซิ่น  เกล้าผมมวยทัดดอกไม้  ฝ่ายชายสวมเสื้อม่อฮ่อม   นุ่งกางเกงขาก๊วย    เอาผ้าขาวม้าคาดพุง   และโพกศีรษะ
เครื่องดนตรีที่ใช้    ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานในจังหวะเซิ้ง
 
          
     
                        เซิ้งกระติบข้าว 
เป็นการแสดงของภาคอีสาน  ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายที่สุดชุดหนึ่ง   ซึ่งแต่เดิมเซิ้งอีสานจริงๆ ไม่มีท่าทางอะไร มีแต่กินเหล้ายกมือไม้สะเปะสะปะให้เข้ากับจังหวะเสียงกลองไปตามใจ     โดยไม่ได้คำนึงถึงความสวยงาม  ในราวปี พ.ศ.๒๕๑๗   สมเด็จพระบรมราชินีนาถต้องการการแสดงของภาคอีสาน เพื่อใช้ต้อนรับสมเด็จพระนางอะเลียนา  และเจ้าหญิงบีทริกซ์  แห่งประเทศเนเธอแลนด์  จึงมีการนำเอาเพลงอีสานคือ   หมอลำจังหวะช้าเร็ว   โดยมีท่าถวายบังคม  ท่านกบิน   ท่าเดิน    ท่าดูดาว   ท่าม้วนตัว   ท่าสนุกสนาน  ท่าปั้นข้าวเหนียว   ท่าโปรยดอกไม้   ท่าบังแสงอาทิตย์   ท่าเตี้ย (รำเตี้ย)  และในการแต่งกายครั้งแรกนั้นจะนุ่งผ้าซิ่นห่มผ้าสไบ เกล้าผมสูง  แต่ไม่มีใครยอมห้อยกระติบข้าวด้วยเห็นว่ารุงรัง   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรแล้ว    พระองค์จึงรับสั่งว่า “...ให้ใครสักคนลองรำดูว่า ถ้าไม่ห้อยกระติบข้าว หรือห้อยกระติบข้าว จะเป็นอย่างไร...”  คุณหญิงเบญจวรรณ  อรวรรณ  เป็นผู้ทดลองรำดูครั้งแรก  ไม่ห้อยกระติบข้าวก็น่ารักดี ครั้งที่สอง รำโดยห้อยกระติบข้าว   ทุกคนก็คิดว่ากำลังน่ารัก  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งคำเดียวว่า  “น่าเอ็นดูดีนี่”  ตกลงผู้รำทุกคนรีบห้อยกระติบข้าวกันทางไหล่ขวาทุกคน  การเซิ้งครั้งนั้นเรียกว่า   เซิ้งอีสาน  โดยท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นผู้ตั้งชื่อ  ต่อมามีผู้นำเซิ้งไปแสดงกันทั่วไปแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “เซิ้งกระติบข้าว”
เครื่องแต่งกาย  ใช้ผู้แสดงหญิงล้วน สวมเสื้อแขนกระบอกคอกลมสีพื้น  นุ่งผ้าซิ่น  ห่มสไบเฉียง  ผมเกล้ามวย  ทัดดอกไม้  ห้อยกระติบข้าวทางไหล่ขวา 
เครื่องดนตรีที่ใช้    ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน  ทำนองเซิ้ง
                          เรือมอันเร 
เรือมอันเร  แปลว่า รำสาก  มีพัฒนามาจากการเล่นลูกอันเร ซึ่งหมายถึง  การเต้นสาก นิยมเล่นกันในวันหยุด เช่น วันตรุษสงกรานต์ หนุ่มสาวที่ชอบพอกันจะได้เล่นสนุกสนานร่วมกัน  ปัจจุบันมีการวางแบบแผนไว้ ๕ จังหวะด้วยกันคือ จังหวะไหว้ครู จังหวะกัตปกา  (เด็ดดอกไม้)  จังหวะจึงมูย (เท้าเดียว  หมายถึง  รำเข้าสากทีละเท้า) , จังหวะมโล๊บโดง  (ร่มมะพร้าว) และจังหวะจึงปรี  (สองเท้า หมายถึง รำเข้าสากทีละสองเท้า)  อุปกรณ์ที่สำคัญในการเล่น   เรือมอันเร คือ อันเร  (สากตำข้าว) ๑ คู่ วงกันตรึม ๑ วง  ผู้รำชายหญิงเป็นคู่ๆ  แต่งกายด้วยเสื้อพื้นเมืองคือ ชายนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลม มีผ้าขาวม้าคาดเอว และคล้องไหล่พาดชายไปข้างหลังทั้งสองชายหญิงนุ่งวิ่นปูม ซึ่งเรียกว่า ซัมป๊วดโฮล   สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสไบเฉียง  เป็นการแสดงถึงลักษณะของชาวสุรินทร์แต่ดั้งเดิม คือผู้ชายมีความองอาจ กล้าหาญสง่างาม  ผู้หญิงมีความงดงามและฉลาดเข้มแข็ง   พร้อมที่จะเคียงบ่าเคียงไหล่ผู้ชายได้ 
การแต่งกาย   หญิงนุ่งผ้าถุง   สวมเสื้อแขนกระบอก   คาดสไบ  ชายนุ่งโจงกระเบน  สวมเสื้อคอกลม  มีผ้าขาวม้าคาดเอว  และพาดไหล่


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน