โรงหุ่นกระบอก
โรงหุ่นกระบอก แต่เดิมนั้น เจ้าของคณะหุ่นกระบอกมักจะมีโรงหุ่นกระบอกเป็นของตนเอง โรงหุ่นกระบอกมักสร้างด้วยไม้กระดาน ไม่นิยมใช้ไม้ไผ่ เพราะถือเป็นของชั่วคราว ไม่คงทนถาวร และไม่แข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสาและพื้นของโรงหุ่นกระบอก ซึ่งต้องรับน้ำหนักคนจำนวนมาก ถ้าไม่แข็งแรงก็อาจเป็นอันตรายได้ โรงหุ่นกระบอกปลูกเป็นลักษณะรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวประมาณ ๕ เมตร ยกพื้นขึ้นให้สูงพอเหมาะกับสายตาของผู้ชมที่จะยืนดูได้ถนัด ส่วนมากมักยกพื้นขึ้นสูงประมาณ ๑ เมตร ถึง๑.๕๐ เมตร ความสูงจากพื้นโรงถึงหลังคาด้านหน้าประมาณ ๕ เมตร ด้านหลังและด้านข้างมีฝากั้นทึบ เพื่อกันไม่ให้คนภายนอกเข้าไปได้ ส่วนด้านหน้าตั้งเสาเรียงกัน ๔ เสา ให้มีเสาคู่กันอยู่ด้านข้าง เสาที่ตั้งคู่กันนี้ห่างกัน ๑ เมตร ฉะนั้น จะมีที่ว่างตรงกลาง ๓ เมตร ฉาก ฉากที่ใช้ตกแต่งโรงอาจแยกออกได้เป็น ๓ ส่วน คือ ฉากส่วนแรก คือ ฉากที่ขึงไว้เสมอด้านหน้าโรงระหว่างเสาทั้ง ๒ ข้าง โดยขึงตลอด ตั้งแต่ชายหลังคาจนจรดพื้นโรง เบื้องล่างมักเขียนเป็นรูปป้อมปราการ มีกำแพงเมือง และสุมทุมพุ่มไม้ตกแต่ง ที่ฉากส่วนนี้มักมีผ้าต่วน หรือผ้าแพรยกดอก แขวนตลอดความสูง ทำเป็นม่าน