ละครดึกดำบรรพ์
ละครดึกดำบรรพ์ เป็นละครที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ กำเนิดขึ้น ณ ที่บ้านเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) ตั้งอยู่ระหว่างถนนอัษฎางค์กับถนนบ้านหม้อ ชื่อ " โรงละครดึกดำบรรพ์ " เจ้าพระยาเทเวศน์วงศ์วิวัฒน์ได้เดินทางไปยุโรปในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ และมีโอกาสได้ชมโอเปร่า ซึ่งท่านชื่นชมในการแสดงมาก เมื่อกลับมาจึงคิดทำละครโอเปร่าให้เป็นแบบไทย นอกจากท่านจะเป็นผู้สร้างโรงละครดึกดำบรรพ์ สร้างเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์การแสดงแล้ว ท่านยังได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมงานที่สำคัญ ได้แก่ ๑. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์บทเลือกสรรปรับปรุงทำนองเพลง ออกแบบฉาก และกำกับการแสดง ๒. หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด ตาตะนันทน์) เป็นผู้จัดทำนองเพลงควบคุมวงดนตรีและปี่พาทย์ ๓ หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี ทองพรุฬห์) เป็นผู้ควบคุมและฝึกสอนการขับร้อง ๔. หม่อมเข็ม กุญชร ณ อยุธยา ภรรยาของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เป็นผู้ปรับปรุงและประดิษฐ์ท่ารำ และฝึกสอนให้เข้ากับบทและลำนำทำนองเพลง ละครดึกดำบรรพ์ ได้นำออกแสดงครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๔๔๒