ละคร
ละคร
ละครไทย เป็นศิลปะและวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แบ่งออกเป็น ละครรำแบบดั้งเดิม ได้แก่ ละครชาตรี ละครนอก ละครใน และ ละครรำที่ประยุกต์ขึ้นใหม่ ได้แก่ ละครดึกดำบรรพ์ ละครพันทาง ละครเสภา ละครสังคีต ละครร้อง ละครพุด ละครเพลง ละครหลวงวิจิตรวาทการ
ละครที่ได้รับวัฒนธรรมตะวันตก
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ วัฒนธรรมทางนาฎศิลป์ของตะวันตกได้แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย ทำให้เกิดละครแบบต่างๆ ขึ้น เช่น ละครดึกดำบรรพ์ ที่กล่าวมาแล้ว แต่ละครดึกดำบรรพ์ยังคงใช้ท่ารำของไทยเป็นหลัก ยังถือได้ว่า เป็นนาฎศิลป์ของไทยอย่างสมบูรณ์ ส่วนละครที่นำแบบของตะวันตกมาใช้จริงๆ ก็คือ ละครที่ไม่ใช้ท่ารำเลย ใช้แต่กิริยาท่าทางของคนธรรมดาสามัญ ที่เราปฏิบัติกันอยู่เท่านั้น เช่น ละครร้อง ละครพูด ละครพูดสลับลำ และละครสังคีต
ละครร้อง
ละครร้อง เป็นแบบละครที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์ ทรงปรังปรุงขึ้น เป็นละครที่แสดงบนเวที เปลี่ยนฉากไปตามเนื้อเรื่อง ดำเนินเรื่องด้วยการร้องเท่านั้น ถ้อยคำที่ร้องมีทั้งบอกชื่อตัวละคร บอกกิริยา อารมณ์ของตัวละคร และเป็นคำพูดของตัวละคร
วิธีแสดง ในตอนแรกผู้แสดงเป็นผู้หญิงล้วน แต่สมัยหลังๆ มา ให้มีผู้ชายเป็นตัวตลกได้ การแสดงบทบาทใช้ท่าของคนธรรมดาสามัญ ไม่มีการรำ
การร้อง ถ้าเป็นบท บอกชื่อตัวละคร บอกกิริยา หรืออารมณ์ของตัวละคร ต้นเสียงกับลูกคู่เป็นผู้ร้อง ถ้าบทนั้นเป็นคำพูดของตัวละคร ผู้แสดงตัวนั้นจะต้องร้องเอง แต่การร้องของตัวละครนี้ ตัวละครจะร้องเฉพาะที่เป็นถ้อยคำเท่านั้น ส่วนการเอื้อน ที่เป็นทำนองติดต่อนั้น ลูกคู่จะต้องร้องแทรกเข้ามาให้
การเจรจา เป็นการเจรจาทวนบท คือ พูดเป็นใจความเดียวกับบทที่ร้องไปแล้วโดยมาก แต่ก็มีเจรจาบทอื่นๆ บ้าง จะเป็นการเจรจา อย่างไรก็ตาม ผู้แสดงจะต้องพูดด้วยปฏิภาณปัญญาของตนเอง
เรื่องที่แสดง เป็นเรื่องชีวิตของธรรมดาสามัญชนอย่างนวนิยาย เช่น เรื่องตุ๊กตายอดร้ก ขวดแก้วเจียระไน เครือฟ้าของประเสริฐอักษร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) เป็นต้น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น