ซัมเปง

 ซัมเปง
ซัมเปง เป็นนาฏศิลป์แบบหนึ่งของชาวไทยมุสลิมทางชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ที่มีลีลาการเต้นคล้ายคลึงกับการเต้นรองเง็ง เป็นการเต้นรำพื้นบ้านที่นิยมกันในหมู่บ้านชาวไทยเชื้อสายมลายู ซัมเป็งแพร่เข้ามายังแหลมมลายูเป็นการเต้นรำเฉพาะในวังของเจ้าเมืองและบ้านขุนนางเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง การแต่งกาย ผู้หญิง แต่งหน้าทาปากแต่งผมพร้อมเครื่องประดับศีรษะสวยงาม นุ่งผ้า “กาเอนบือเละ” (ผ้าถุง) ยาวกรอมเท้าลาดลายปาเต๊ะ สวมเสื้อ “กูรง” คือเสื้อเข้ารูปยาวคลุมสะโพก คอกลมติดผ่าหน้ากว้างพอสวมศีรษะได้ (หรือผ่าหน้าตลอดติดกระดุมทอง) แขนยาวทรงกระบอกมีผ้าผืนใหญ่บางคลุมไหล่ใส่เครื่องประดับ เช่น สร้อย แหวน กำไร ต่างหู เข็มขัด ฯลฯ อย่างสวยงาม
ประวัติความเป็นมา
มีผู้สันนิษฐานว่า เป็นการเต้นที่ได้นำเอาลีลาการเต้นระบำแบบฝรั่งชาติสเปน มาผสมผสานกับลีลาการเต้นรำของชาวพื้นเมืองในแหลมมลายู เช่นเดียวกับการเต้น รองเง็ง
โอกาสที่แสดง
การเต้นซัมเปงใช้แสดงในโอกาสต้อนรับแขกสำคัญของท้องถิ่นหรือเต้นโชว์ เมื่อเวลามีงานรื่นเริง ส่วนสถานที่นั้นอาจจะเป็นบนเวทีหรือในลานบ้านตามแต่ความ เหมาะสม และจะแสดงในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ได้
เครื่องดนตรีที่ใช้ในการแสดงซัมเปง มีอยู่ ๓ ชนิด
๑. มอวูวัส ก็คือ รำมะนาขนาดเล็ก เป็นเครื่องดนตรีที่ตีขัดจังหวะและเร้าใจ
๒. คาบุส มีลักษณะคล้ายซอสามสาย แต่ยาวกว่า เป็นเครื่องดนตรีที่ให้ทำนอง เพลงอย่างไพเราะ
๓. ฆ้อง เป็นเครื่องดนตรีที่ให้จังหวะในการเต้น
ลักษณะการเต้นรำ
เป็นการเต้นรำคู่ชายหญิง ไม่มีการจับมือถูกต้องตัวกัน ต่างเต้นคู่ร่ายรำไปตามจังหวะดนตรี กล่าวกันว่าเดิมนั้นซัมเปงมีการเต้นรำกันเพียงคู่เดียว เป็นท่าที่เต้นหมุนไปรอบๆ เรียก “ปูซิปันยัง” ต่อมาภายหลังมีผู้คิดประดิษฐ์ท่ารำเพิ่มอีกราว ๕ ท่า และเพิ่มคู่เต้นรำมากขึ้น เพื่อให้สนุกมีผู้ร่วมเต้นรำได้มากขึ้น ท่าเต้นรำทั้ง ๕ ท่า คือ ๑. ท่ายาลันปือโต คือ การเต้นแบบเดินตรงไปข้างหน้า ๒. ท่าฮูโนปลาวัน คือ ท่าเต้นถอยหลัง ๓. ท่าซีกูกูราวัง คือ ท่ากางแขนคล้ายๆกับค้างคาวบิน ๔. ท่าซีซิอิกัน คือ ท่าเต้นย้ายตำแหน่งระหว่างชายหญิงแบบก้างปลา ๕. ท่าวินัส คือ ท่าสะบัดปลายเท้า


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน