นาฏศิลป์ภาคกลาง

 นาฏศิลป์ภาคกลาง


              

             ประเภทและลักษณะของนาฏศิลป์ภาคกลาง

                    

                                          รำโทน

รำโทน เป็นการละเล่นพื้นบ้านชนิดหนึ่งของชาวบ้านเมืองลพบุรีนิยมเล่นกันแพร่หลายในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๘   เหตุที่เรียกชื่อว่ารำโทน เพราะเดิมเป็นการรำประกอบจังหวะการตี  "โทน" ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีหลักในการเล่น ภายหลังแม้ใช้เครื่องดนตรีอื่น เช่น รำมะนา ตีให้จังหวะแทนก็ยังเรียกชื่อเช่นเดิม   ผู้ที่นิยมเล่นรำโทน คือหนุ่มสาวชาวบ้าน กล่าวกันว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผู้คนต้องอพยพหนีภัยทางอากาศจากกรุงเทพฯ ไปยังชนบทตามที่ต่างๆ กัน ในภาวะสงครามนั้นยามค่ำคืนจะมืดไปทุกหนทุกแห่ง เนื่องจากทางรัฐบาลห้ามกระทำการต่างๆ หลายอย่าง เช่น ห้ามจุดไฟ ห้ามชุมนุมและอื่นๆ ประชาชนเกิดความเหงาและเครียด การสนทนากันเพียงอย่างเดียวไม่สนุก จึงได้คิดเล่นรำโทนขึ้น การละเล่นชนิดนี้ชาวบ้านรู้จักและเล่นได้ทุกคน ขณะที่เล่นจะจุดตะเกียงตั้งไว้ตรงกลาง ผู้เล่นจะยืนล้อมวง  จุดประสงค์ของการเล่นคือ  เพื่อความสนุกสนาน  และเพื่อพบปะเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาว 

เพลงรำโทน ที่นำมาร้องนั้นใช้วิธีจดจำสืบทอดกันมา เป็นเพลงที่มีเนื้อร้องง่ายๆ เป็นเพลงสั้นๆ ไม่มีชื่อเพลงเฉพาะ  มักเรียกชื่อตามวรรคแรกของเนื้อร้อง  ไม่บอกชื่อผู้แต่ง   ใครอยากแต่งขึ้นมาใหม่ก็ได้  ไม่นิยมดัดแปลงทั้งเนื้อร้องและท่ารำ  คือจำมาอย่างไรก็ร้องและรำอย่างนั้น  บางครั้งการถ่ายทอดอาจได้มาเฉพาะเนื้อเพลง กรณีเช่นนี้ผู้เล่นจะคิดท่ารำประกอบเองตามความหมายของเนื้อเพลง เนื้อร้องมักเป็นการเกี้ยวพาราสี ปลุกใจหรือสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่หรือมาจากวรรณคดีไทย เช่น เพลงลพบุรีของเรานี่เอ๋ย   เจ็ดนาฬิกา ใครรักใครโค้งใคร  เชื่อผู้นำของชาติ ศิลปากร ฯลฯ   จากการสำรวจพบว่า แม้เป็นเพลงเดียวกัน   หากคณะของผู้เล่นอยู่ต่างสถานที่หรือต่างท้องถิ่นกัน  ท่ารำและเนื้อเพลงก็อาจผิดแผกกันไปได้ แต่บางเพลงยังคงเหมือนกันทุกประการ อย่างไรก็ตามเพลงทุกเพลงไม่จำเป็นต้องได้จากการสืบทอดเสมอไป ผู้เล่นสามารถแต่งเนื้อร้อง  และท่ารำขึ้นเป็นปัจจุบันในขณะเล่นก็ได้

เพลงรำโทนช่วงก่อนปี พ.ศ.๒๔๘๔ เนื้อเพลงส่วนใหญ่จะเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับตัวละครในวรรรณคดี  เช่น  ไกรทอง  ลักษณวงศ์  พระศรีสุริโยทัย  แต่ที่พบมากที่สุดได้แก่  เพลงรัก หรือ  เพลงที่เกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว   เช่น   ไหนเล่าดอกรัก    ยามเย็นเดินเล่นทะเลเหนือ   ว่าวน้อยที่เราเคยเล่น   เดือนจ๋าเดือน  สวยจริงหล่อจริง  จันทร์วันเพ็ญ  ฯลฯ

             ตัวอย่าง     เพลงรำโทน

                               รำแบบกรมศิลป                                          

            รำแบบ รำแบบกรมศิลป       กรมศิลป กรมศิลปากร

ร้องรำทำท่าแขนอ่อน                        รำซับรำซ้อนเอวอ่อนเป็นละเวง

                             สวยจริง หล่อจริง

            สวยจริง หล่อจริง                  ขอเชิญยอดหญิงมาเล่นรำโทน

แขนอ่อนเอนโอน (ซ้ำ)                         มาเล่นรำโทนกันตลอดไป

            เรามาช่วยกันโค้ง                   เรามาช่วยกันหนา

เรามาช่วยเล่นกีฬา                            แบบระบำของไทย (ซ้ำ)

                             จันทร์วันเพ็ญ

            จันทร์วันเพ็ญ                         กระต่ายเต้นหมอบชะเง้อ

ดวงจันทร์นั้นคือเธอ                          กระต่ายเจอก็ได้เป็นขวัญตา

            แลตะลึง                                   รำพึงเฝ้าแต่แลหา

กระต่ายน้อยคอยจันทรา (ซ้ำ)         เปรียบเหมือนว่าตัวฉันคอยเธอ

เครื่องดนตรี  เดิมใช้ "โทน" ตีในจังหวะ "ป๊ะ โท่น ป๊ะ โท่น ป๊ะ โท่น โท่น" หรือ "ป๊ะ โท่น โท่น ป๊ะ โท่น โท่น" ใช้โทนใบเดียว หรือหลายใบก็ได้ ต่อมานิยมใช้ "รำมะนา" แทนเพราะเสียงดังไพเราะและเร้าใจดีกว่า อาจใช้อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ถังน้ำมันตีให้จังหวะ แทนก็ได้ นอกจากนี้อาจจะใช้ฉิ่งตีให้จังหวะได้อีกด้วย 

            ในบางพื้นที่   เช่น   บ้านแหลมฟ้าผ่า    ตำบลบางพึ่ง    อำเภอบ้านหมี่    จังหวัดลพบุรี    ใช้ถังน้ำมันเหล็กที่ติดอยู่กับรถจี๊บของทหารมาตีแทนโทน  และมีเครื่องประกอบจังหวะอย่างอื่นอีก  ได้แก่ ถังน้ำมันเหล็ก ๑ ลูก ฉิ่ง ฉาบเล็ก และกรับ เป็นต้น  สำหรับเครื่องดนตรีที่วิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี นำมาใช้ประกอบการรำโทนที่ปรับปรุงใหม่ประกอบด้วย โทน ๑ คู่  ฉิ่ง ๑ คู่ กรับ ๓ คู่ และฉาบเล็ก ๑คู่ 

วิธีเล่น  ผู้เล่นชายโค้งชวนหญิงออกมารำเป็นคู่ๆ  ช่วยกันร้องไปรำตามกันไปเป็นวง  นักดนตรีก็ตีโทนให้จังหวะเร้าใจ เพลงหนึ่งๆ จะร้องซ้ำ ๓ - ๔ เที่ยวก็จะเปลี่ยนเพลงต่อไป การรำไม่มีท่ารำตายตัวมักเป็นการใส่ท่าตามเนื้อร้อง เปลี่ยนคู่รำกันตามใจ ผู้มาดูอาจช่วยตบมือและร้องตามไปด้วย

            การแต่งกาย   รำโทนแต่เดิมสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นการแต่งกายแบบพื้นบ้าน  พบว่าการเล่นรำโทนได้รับความนิยมมากที่สุด   นอกจากร้องรำในหมู่ชาวบ้านแล้ว   ทหารและข้าราชการก็นิยมเล่น  โดยร้องเล่นกับชาวบ้านด้วยพบว่าทหารในจังหวัดสระบุรีได้ร่วมเล่นรำโทนกับหญิงสาวชาวบ้าน…”

            จะเห็นได้ว่าการเล่นรำโทนยังไม่มีระเบียบแบบแผนของการแต่งกายเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นการ  “ร่วมเล่น”   เพื่อความบันเทิงไม่ใช่เพื่อการแสดงเช่นการแสดงชนิดอื่นๆ 

            ชายนิยมแบบสากลประกอบด้วยหมวก  เสื้อชั้นนอกคอเปิด หรือคอปิด  ถ้าเป็นคอเปิดต้องใส่เสื้อชั้นในคอปก  มีผ้าผูกคอเงื่อนกลาสีหรือเงื่อนหูกระต่าย กางเกงขายาวแบบสากล สวมรองเท้าถุงเท้า

โอกาสที่แสดง     ไม่มีโอกาสที่แน่นอน   ชาวบ้านนึกอยากจะเล่นเมื่อใดก็ชวนกันมาเล่นที่ลานบ้านคนใดคนหนึ่ง จะเล่นตอนกลางคืนเท่านั้นมักเริ่มเล่นตอนหัวค่ำ เล่นกันไปเรื่อยๆ จนไม่มีคนเล่นหรือง่วงนอนกันมากแล้วก็จะเลิกเล่น แยกย้ายกันกลับบ้านของตน เล่นได้ทุกโอกาส  เพื่อการพักผ่อน  คลายความเครียด  และเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่ม-สาว   ไม่นิยมเล่นในงานศพ

  

     

                                        รำวงมาตรฐาน

    ที่มาของภาพ  :  หนังสือวิพิธทัศนา,  สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ (๒๕๔๒, ๒๒๔)

                            รำวง

วิวัฒนาการมาจากรำโทน  ซึ่งเป็นการเล่นพื้นเมืองของไทยที่นิยมเล่นกันในฤดูเทศกาล  เฉพาะท้องถิ่นในบางจังหวัด   การเล่นรำโทนจะมีผู้รำทั้งชายและหญิงรำกันเป็นคู่ๆ  รอบๆ ครกตำข้าวที่วางคว่ำไว้หรือไม่ก็รำเป็นวงกลม  นอกจากจะมีการร้องเพลงประกอบการรำแล้ว    ยังมีเครื่องดนตรีที่ตีประกอบจังหวะหรือโทน ด้วยเหตุที่การรำชนิดนี้มีโทนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะจึงเรียกกันว่ารำโทน  ในปี  พ.ศ.๒๔๘๓    มีผู้นำการเล่นรำโทนในท้องถิ่นอื่นๆ    และเล่นกันได้ทุกเวลาไม่เฉพาะในฤดูกาล   จึงมีการเล่นรำโทนกันอย่างแพร่หลายในจังหวัดต่างๆ 

            ในสมัยนั้น  จอมพล  ป. พิบูลสงคราม  เป็นนายกรัฐมนตรี พิจารณาเห็นว่าคนไทยนิยมเล่น       รำโทนกันอย่างแพร่หลาย  ถ้าปรับปรุงการเล่นรำโทนให้เป็นระเบียบทั้งเพลงร้อง   ลีลาท่ารำ   และการแต่งกาย  จะทำให้รำโทนเป็นการเล่นที่น่านิยมยิ่งขึ้น  ดังนั้นรัฐบาลในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม  จึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรปรับปรุงการเล่นรำโทนขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ.๒๔๘๗  กรมศิลปากรได้แต่งบทร้องเพิ่มขึ้น ๔ เพลง คือ  เพลงงามแสงเดือน  เพลงชาวไทย   เพลงรำซิมารำ  และเพลงคืนเดือนหงาย  ต่อมาท่านผู้หญิงละเอียด  พิบูลสงคราม    ภริยาท่านนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม  ได้แต่งบทร้องให้อีก๖ เพลง คือ เพลงบูชานักรบ  เพลงหญิงไทยใจงาม  เพลงดอกไม้ของชาติ  เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า  และเพลงยอดชายใจหาญ   เพื่อให้เหมาะสมในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทางราชการจึงได้เปลี่ยนจากการเรียกรำโทนมาเป็น “รำวง”  เพราะผู้เล่นหญิงชายรำร่วมกันและการเล่นก็รำเป็นคู่ๆ  เคลื่อนย้ายเวียนไปเป็นวงกลม  เพลงที่แต่งทำนองขึ้นใหม่   นอกจากจะใช้โทนตีประกอบการเล่นตามเดิมแล้ว   ยังมีวงปี่พาทย์บรรเลงประกอบ และบางเพลงก็ใช้วงดนตรีสากลบรรเลงประกอบด้วย  นับว่าเพลงรำวงที่แต่งขึ้นใหม่มีความสมบูรณ์ทั้งเนื้อร้องและดนตรีที่บรรเลงทำนองประกอบการร้อง

            เพลงร้องที่แต่งขึ้นใหม่ในสมัยนั้น  ได้มีการกำหนดท่ารำของแต่ละเพลงไว้โดยเฉพาะ  เช่น  เพลงงามแสงเดือน ใช้ท่าสอดสร้อยมาลาเป็นท่ารำ  เพลงชาวไทยใช้ท่าชักแป้งผัดหน้า  เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญใช้ท่าแขกเต้าเข้ารัง และท่าผาลาเพียงไหล่ เป็นต้น  เพลงรำวงที่กำหนดท่ารำโดยใช้ท่ารำแม่บทดังกล่าวนี้เรียกว่า รำวงมาตรฐาน  นิยมในงานรื่นเริงแทนการเต้นรำ   และยังจัดเป็นชุดนาฏศิลป์ไทยที่นำไปแสดงเพื่อความบันเทิงได้อีกด้วย

            ส่วนเพลงรำโทนที่เคยใช้ร้องมาแต่เดิม  เช่น  เพลงหล่อจริงนะดารา  เพลงใกล้เข้าไปอีกนิด   เพลงยวนยาเหล  เพลงตามองตา  ฯลฯ เมื่อเปลี่ยนมาใช้ดนตรีบรรเลงประกอบในเวลาร้อง  ลีลา  ท่ารำก็ยังคงใช้ท่ารำแบบเดิม  เพราะมิได้กำหนดท่ารำมาตรฐานแบบท่ารำแม่บทไว้ในเพลงเหล่านี้

            เมื่อปรับปรุงเพลงร้องทำนองดนตรีและลีลาท่ารำ  รวมทั้งเปลี่ยนชื่อจากรำโทนมาเป็นรำวงแล้ว  ก็กำหนดการแต่งกายของผู้เล่นรำวงให้เป็นระเบียบ  เช่น  ผู้ชายแต่งชุดสากล  ผู้หญิงแต่งชุดเสื้อกระโปรง    หรือชุดไทยพระราชนิยม  ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน  สวมเสื้อคอกลม   มีผ้าคาดเอว   ผู้หญิงแต่งชุดไทย  เป็นต้น

            การเล่นรำวง  นอกจากจะเป็นที่นิยมของชาวไทยแล้ว  ชาวต่างชาติก็ยังนิยมเล่นรำวงด้วยเพลง     รำวงที่ต่างชาติรู้จักและมักจะร้องกันได้  คือ  เพลงลอยกระทง  การเล่นรำวงจะเล่นได้ทุกโอกาสที่มีงานรื่นเริงหรือมีการแสดงนาฏศิลป์ไทย ในการนำนาฏศิลป์ไทยไปแสดงที่ต่างประเทศในบางครั้ง  เมื่อจบการแสดงแล้ว    จะมีการเชิญชวนแขกผู้มีเกียรติ  ขึ้นมาร่วมรำวงกับผู้แสดงชายและหญิงของคณะนาฏศิลป์ไทย   นับเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีระหว่างคณะนาฏศิลป์ไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาชมการแสดง  อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ศิลปะการเล่นรำวงให้แพร่หลายไปในนานาประเทศอีกด้วย

 

                       รำกลองยาว หรือ เถิดเทิง

      ที่มาของภาพ  :  หนังสือวิพิธทัศนา, สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ (๒๕๔๒, ๗๒)

                          รำกลองยาว 

ประเพณีการเล่นเทิงบ้องกลองยาว  หรือ เถิดเทิง  มีผู้เล่าให้ฟังเป็นเชิงสันนิษฐานว่าเป็นของพม่า    นิยมเล่นกันมาก่อนเมื่อครั้งที่พม่ามาทำสงครามกับไทยในสมัยกรุงธนบุรี    หรือสมัยต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  เวลาพักรบพวกทหารพม่าก็จะเล่นสนุกสนานกันด้วยการเล่นต่างๆ  ซึ่งทหารพม่าบางพวกก็เล่น  “กลองยาว”  พวกไทยเราได้เห็นก็จำมาเล่นกันบ้าง  

            เมื่อชาวไทยเห็นว่ารำกลองยาวเป็นการเล่นที่สนุกสนาน   และเล่นได้ง่ายก็นิยมเล่นกันไปแทบ ทุกบ้านทุกเมืองมาจนทุกวันนี้

เครื่องดนตรี     กลองยาว   กรับ   ฉิ่ง  ฉาบ    โหม่ง

การแต่งกาย    

๑.  ชาย   นุ่งกางเกงขายาวครึ่งแข้ง  สวมเสื้อคอกลม  แขนสั้น เหนือศอก   มีผ้าโพกศีรษะและผ้าคาดเอว

๒.  หญิง  นุ่งผ้าซิ่นมีเชิงยาวกรอมเท้า  สวมเสื้อทรงกระบอกคอปิด  ผ่าอกหน้า ห่มสไบทับเสื้อ  คาดเข็มขัดทับเสื้อ   ใส่สร้อยคอและต่างหู   ปล่อยผมทัดดอกไม้

โอกาสและวิธีการเล่น  นิยมเล่นกันในงานตรุษ งานสงกรานต์ หรืองานแห่แหน ซึ่งต้อง           เดินเคลื่อนขบวน  เช่น  ในงานแห่นาค   แห่พระ  และแห่กฐิน  เป็นต้น  คนดูคนใดรู้สึกสนุกจะเข้าไป  รำด้วยก็ได้   เพราะเป็นการเล่นอย่างชาวบ้าน  เคลื่อนไปกับขบวน  พอถึงที่ตรงไหนมีลานกว้างหรือเหมาะก็หยุดตั้งวงเล่นกันก่อนพักหนึ่งแล้วเคลื่อนไปต่อ  การเล่นเถิดเทิงกรมศิลปากรปรับปรุงใหม่ กำหนดให้มีแบบแผนลีลาท่ารำ  โดยกำหนดให้มีกลองรำ  กลองยืนด้วย

            กลองรำ  หมายถึง  ผู้ที่แสดงลวดลายในการร่ายรำ  กลองยืน  หมายถึง  ผู้ตีกลองยืนให้จังหวะในการรำ   การเล่นเถิดเทิงแบบนี้มีมาตรฐานตายตัว   ผู้เล่นทั้งหมดต้องได้รับการฝึกฝนมาก่อน  คนดูจะได้เห็นความงามและความสนุกสนานแม้จะไม่ได้ร่วมเล่นด้วยก็ตาม  จำนวนผู้แสดงแบบนี้จะมีเป็นชุด คือ พวกตีเครื่องประกอบจังหวะ คนตีกลองยืน คนตีกลองรำ และผู้หญิงที่รำล่อ พวกตีประกอบจังหวะ   จะร้องประกอบเร่งเร้าอารมณ์ให้สนุกสนานในขณะที่ตีด้วย  เช่น

            “มาแล้วโหวย  มาแล้ววา  มาแต่ของเขา ของเราไม่มา  ตะละล้า”

            “ต้อนเข้าไว้  ต้อนเขาไว้  เอาไปบ้านเรา  พ่อก็แก่แม่ก็เฒ่าเอาไปหุงข้าวให้พวกเรากินตะละล้า”

            “ใครมีมะกรูด  มาแลกมะนาว  ใครมีลูกสาว  มาแลกลูกเขย เอาวะ  เอาเหวย  ลูกเขยกลองยาว  ตะละล้า”

            ที่เรียกการเล่นประเภทนี้ว่า เถิดเทิง เทิงบ้องนั้น  คงเรียกกันตามเสียงกลองยาว  กล่าวคือมีเสียงเมื่อเริ่มตีเป็นจังหวะ  หูคนไทยได้ยินเป็นว่า “เถิด – เทิง – บ้อง – เทิง – บ้อง” เลยเรียกตามเสียงที่ได้ยินว่าเถิดเทิง  หรือเทิงบ้องกลองยาวตามกันไป  เพื่อให้ต่างกับการเล่นอื่น

 

                                  รำเหย่อย

    ที่มาของภาพ   :  สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน  เล่มที่ ๑๓ (๒๕๔๙, ๑๙๗)

                          รำเหย่อย 

รำเหย่อย เป็นการเล่นพื้นบ้านของหมู่บ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี  นิยมเล่นในฤดูกาลต่างๆ เฉพาะในบางท้องถิ่นนอกตัวจังหวัดกาญจนบุรี เป็นการเล่นร้องรำเกี้ยวพาราสีหยอกเย้าโต้ตอบกันระหว่างชายกับหญิง

การแสดงรำเหย่อย  เริ่มด้วยประโคมกลองยาว  ร่วมกับเครื่องประกอบจังหวะ  ได้แก่  ฉิ่ง  ฉาบ  กรับ  โหม่ง  และปี่  จังหวะตีกลองยาวเปลี่ยนหลากหลายลูก  เมื่อนักดนตรีประโคมกลองจบลง ผู้รำฝ่ายชายร้องเชิญชวนฝ่ายหญิงให้เล่นรำพาดผ้า    แล้วนำผ้าคล้องไหล่ไปพาดบ่าฝ่ายหญิงออกมารำคู่กันทีละคู่ผลัดเปลี่ยนกันไปจนครบจำนวนคู่ในหมู่ผู้แสดง ทั้งสองฝ่ายด้นกลอนสดร้องโต้ตอบกันเข้าจังหวะดนตรี

            ผู้แสดงแต่งกายแบบพื้นบ้านภาคกลาง   ชายนุ่งผ้าพื้นโจงกระเบนต่างสีกัน  สวมเสื้อคอกลมแขนสั้นเหนือศอก   มีผ้าคาดเอวและพาดไหล่   หญิงนุ่งผ้าพิมพ์ลายโจงกระเบนหลากสีกัน   สวมเสื้อคอกลมแขนยาว   ห่มสไบทับเสื้อ   มีเครื่องประดับได้แก่   เข็มขัด  สร้อยคอ   สร้อยข้อมือ

 

                               เต้นกำรำเคียว

    ที่มาของภาพ   :   หนังสือวิพิธทัศนา, สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ (๒๕๔๒, ๗๐)

                          เต้นกำรำเคียว 

เต้นกำรำเคียว     เป็นเพลงพื้นเมืองของชาวบ้านจังหวัดนครสวรรค์     นิยมเล่นตามท้องนาในฤดูกาลลงแขกเกี่ยวข้าว    ร้องเล่นกันเพื่อความรื่นเริงสนุกสนาน      ผ่อนคลายจากความเหน็ดเหนื่อย    เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ ศิลปินของกรมศิลปากรได้ไปฝึกหัดการเล่นเต้นกำรำเคียว จากชาวบ้านตำบลย่านมัทรี  อำเภอพยุหคีรี   จังหวัดนครสวรรค์    ต่อมากรมศิลปากรได้ปรับปรุงการเล่น    เพื่อให้เหมาะสมกับการนำออกแสดงในงานบันเทิง โดยให้นายมนตรี  ตราโมท  ผู้เชี่ยวชาญนาฏดุริยางค์ไทยกรมศิลปากร  และศิลปินแห่งชาติ   แต่งทำนองเพลงประกอบการแสดงตอนต้น   ก่อนร้องบทโต้ตอบและตอนจบบทร้อง   ผู้แสดงทั้งชายและหญิงมือขวาถือเคียว    มือซ้ายกำรวงข้าว    ทำท่าตามกระบวนเพลง  ร้องเย้าหยอกเกี้ยวพาราสีกัน    บทร้องมีอยู่  ๑๑  บท   คือ   บทมา   ไป   เดิน  รำ   ร่อน  บิน ยัก  ย่อง  ย่าง  แถ ถอง และเพลงในกระบวนนี้ผู้เล่น  อาจด้นกลอนพลิกแพลงบทร้องสลับรับกันด้วยความสนุกสนาน บางครั้งในการแสดงอาจตัดบทร้องบางบทเพื่อความกระชับ  ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงนำและตอนจบ

โอกาสที่เล่น  เล่นกันในฤดูเกี่ยวข้าว ชาวนามักมีการเอาแรงกัน โดยต่างฝ่ายต่างไปช่วยกัน     เกี่ยวข้าว   จะไม่มีการว่าจ้างกัน  ขณะที่มีการเกี่ยวข้าวนั้น เขามักจะมีการร้องเพลงเกี่ยวข้าวไปด้วย โดยร้องแก้กันระหว่างฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง และเมื่อหยุดพักการเกี่ยวข้าวประมาณตะวันบ่ายคล้อยแล้ว  การเต้นกำรำเคียวจึงเริ่มเล่น

วิธีการเล่น  จะแบ่งผู้เล่นเป็น  ๒  ฝ่าย  คือ ฝ่ายชาย  เรียกว่า พ่อเพลง ฝ่ายหญิง เรียกว่า แม่เพลง เริ่มด้วยพ่อเพลงร้องชักชวนแม่เพลงให้ออกมาเต้นกำรำเคียว     โดยร้องเพลงและเต้นออกไปรำล่อ  ฝ่ายหญิงและแม่เพลงก็ร้องและรำแก้กันไป   ซึ่งพ่อเพลงแม่เพลงนี้อาจจะเปลี่ยนไปหลายๆ คน ช่วยกัน    ร้องจนกว่าจะจบเพลง  ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นพ่อเพลงแม่เพลงก็ต้องเป็นลูกคู่

การแต่งกาย   ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วย  และเสื้อกุยเฮงสีดำ มีผ้าขาวม้าคาดเอว สวมงอบ   และ  จะไม่ใส่รองเท้า

ฝ่ายหญิงนุ่งโจงกระเบนและเสื้อแขนกระบอก    สีดำหรือเป็นสีพื้นก็ได้    และไม่สวมรองเท้าผู้แสดงทุกคนต้องถือเคียวในมือขวาและถือรวงข้าวในมือซ้ายด้วย

ดนตรีที่ใช้  ตามแบบฉบับของชาวบ้านแบบเดิมไม่มีดนตรีประกอบเพียงแต่ลูกคู่ทุกคนจะปรบมือ และร้อง เฮ้  เฮ้ว ให้เข้าจังหวะ   แต่เมื่อกรมศิลปากรนำไปดัดแปลง  ก็ใช้ระนาดเป็นเสียงดนตรีประกอบในท่าเดินเข้า-ออก

สถานที่แสดง  เดิมแสดงกลางแจ้ง  ที่บริเวณท้องนาที่เกี่ยวข้าวกัน ปัจจุบันมีผู้สนใจการแสดงชนิดนี้มากขึ้นจึงนำมาแสดงบนเวที

จำนวนคน   แต่เดิมไม่จำกัดผู้เล่น เพียงแต่ให้ชายหญิงจับคู่กันเป็นคู่ๆ ต่อมากรมศิลปากรได้จำกัดผู้เล่นเพียง ๕ คู่   เพื่อให้ครบทำนองและเนื้อเพลง


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน