ประวัติความเป็นมาของหุ่นกระบอกไทย

 ประวัติความเป็นมาของหุ่นกระบอกไทย

อาจถือได้ว่า หุ่นกระบอกไทยมีกำเนิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประวัติความเป็นมาของการเล่นแสดงหุ่นกระบอก เพื่อเป็นเครื่องมหรสพ มีปรากฏอย่างชัดเจน ในลายพระหัตถ์ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงโต้ตอบกันในหนังสือสาส์นสมเด็จ ดังจะนำมากล่าวเป็นตอนๆ ดังนี้

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงริเริ่มตั้งข้อสังเกต ถึงเรื่องหุ่นกระบอกขึ้นก่อน ในลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๙ กราบทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เกี่ยวกับคนขอทานตาบอด นั่งร้องเพลง และสีซออยู่ข้างถนน และเลยไปถึงเรื่องหุ่นกระบอก มีความว่า "มีเรื่องเกล้ากระหม่อมบวช ซึ่งติดจะขัน จะเก็บมาเล่าถวายอีกเรื่องหนึ่ง คือ เมื่อเกล้ากระหม่อมบวชนั้นได้ตั้งใจรักษากาย วาจา ใจ ให้เป็นพระ พ้นอาบัติทั้งปวง ความปฏิบัติเป็นไปได้สมปรารถนา แต่มาวันหนึ่ง เจ้ากรรมจริงๆ เดินกลับจากบิณฑบาต พอถึงแถวหน้าศาลเจ้าพ่อเสือก็พบคนขอทานตาบอด นั่งร้องเองสีซอเองอยู่ข้างถนน ตามที่ควรเป็นแล้ว ดนตรีของคนขอทานนั้นควรจะไม่น่าฟัง แต่ที่ไหนได้ นี่อะไร มันช่างไพเราะดีเสียเหลือเกิน ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยพบการเล่นดนตรี ที่ไพเราะจับใจเหมือนคราวนั้นเลย เล่นเอาลืมสติ หย่อนฝีเท้าก้าวเดินช้าๆ ฟังเสียงสำเหนียกการบรรเลงจนพ้นมาด้วยความเสียใจ โกยเอาอาบัติไปพอแรง จะกราบทูลได้อย่างง่ายๆ ว่า ตาคนที่เล่นเพลงพาลืมตัวไปได้นั้น คือ ตาคนที่มีชื่อลือชาเรียกกันโดยสมญาว่า ‘ตาสังขารา’ นั้นแล ทำนองร้องของแกก็ไพเราะไปในทางร้อง และความก็ดีด้วย ส่วนทางซอของแกก็ไพเราะไปในทางดนตรีอีกทางหนึ่ง แต่ทั้งสองทางเข้ากันสนิทสนมกลมเกลียวดีเหลือเกิน ติดใจจนกระทั่งสึกออกมาแล้ว ลองทำดูบ้าง ไม่ยักได้ ถ้าสีซอเหมือนร้อง แล้วทำได้ แต่ร้องไปทางร้อง สีซอไปทางซอ ทำไม่ได้ ทำให้รู้สึกว่าตาสังขารานั้นเป็นคนเลิศประเสริฐมนุษย์ แกแบ่งใจให้เป็นสองภาค เล่นสองอย่างพร้อมกันได้ เราแบ่งไม่ได้ จึงเล่นไม่ได้ ทางที่แกเล่นก็คือ หุ่นกระบอกเรานี่เอง แต่เวลานั้นหุ่นกระบอกยังไม่เกิด หุ่นกระบอกก็เอาอย่างตาสังขารานั้นเองไปเล่น แต่หุ่นกระบอกนั้นไม่ประหลาดเพราะคนหนึ่งร้อง คนหนึ่งนั่งสีซอ เป็นของทำได้ง่าย ไม่เหมือนตาสังขาราซึ่งร้องเองสีซอเอง เล่นยากเหลือเกิน"

ข้อความในจดหมายลายพระหัตถ์ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตอบ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๙ ปรากฏดังนี้ "คนตาบอดสีซอขอทานที่ท่านตรัสถึงนั้น หม่อมฉันรู้จักดีทีเดียว เคยเรียกแกว่า ‘ตาสังขารา’  เพราะแกชอบขับเรื่องปลงสังขารกับเรื่องพระยาฉัททันต์ รู้สึกไพเราะจับใจมาก ประหลาดอยู่ที่ไปพบคนเช่นนั้นที่เมืองพม่า เมื่อหม่อมฉันขึ้นไปบูชาพระมหาธาตุสิงคุดร ที่เมืองแปร มีคนขอทานตาบอด ๒ คน นั่งอยู่ที่ร้านข้างทาง คนหนึ่งขับลำนำและสีซออู้ อีกคนหนึ่งตีระนาด (ไทย) ประสานกันไป ฟังไพเราะจับใจ เสียแต่ไม่เข้าใจคำขับ ถึงกระนั้นก็ต้องหยุดยืนฟังทั้งเมื่อขาขึ้นและขาลง จะทูลเลยไปถึงเรื่องหุ่นกระบอก เพราะเรื่องประวัติเกี่ยวข้องกับตัวหม่อมฉันเองมากอยู่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ ปีที่หม่อมฉันเข้าว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึงเดือนตุลาคม หม่อมฉันขึ้นไปตรวจหัวเมืองเหนือ ครั้งนั้น ลูกชายกลาง อิทธิดำรง (น้องรองจุลดิศ) อายุได้สัก ๕ ขวบ ติดหม่อมฉัน จึงตามไปด้วย หม่อมราชวงศ์เถาะ (เป็นทหารมหาดเล็กอยู่ก่อน ท่านคงรู้จัก) รับอาสาไปเป็นพี่เลี้ยง เมื่อไปถึงเมืองอุตรดิตถ์ สามเณรรณชัย เวลานี้เป็นพระยาสุโขทัย ให้หุ่นกระบอกมาเล่นให้ดู ได้เห็นเป็นครั้งแรก แกเล่าให้ฟังว่า หุ่นกระบอกนั้นเกิดขึ้นที่เมืองสุโขทัย ด้วยคนขี้ยาคนหนึ่งชื่อ ‘เหน่ง’ ซึ่งเที่ยวอาศัยอยู่ตามวัด เห็นหุ่นจีนไหหลำ จึงเอาอย่างมาคิดทำเป็นหุ่นไทย และคิดกระบวนร้องตามรอยหุ่นไหหลำ มีคนชอบ จึงเลยเที่ยวเล่นหากิน ลูกชายกลางของหม่อมฉันได้เห็นหุ่น ก็ชอบเป็นกำลัง สามเณรรณชัยจึงไปขอเขามาให้เธอตัวหนึ่ง แต่เวลาเดินทาง หม่อมฉันให้เขาทำวอป่าให้เธอนั่งมา ก็เล่นเชิดหุ่นกับคุณเถาะเรื่อยมาตลอดทาง แต่เมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ ได้สักหน่อยหนึ่ง ชายกลางป่วยสิ้นชีพ คุณเถาะเกิดความคิดจะเล่นหุ่น ยืมเงินหม่อมฉันได้ลงทุนทำ ก็เกิดมีหุ่นกระบอกขึ้น ในกรุงเทพฯ ราว พ.ศ. ๒๔๓๖ แต่แรกมักเรียกว่า ‘หุ่นคุณเถาะ’  ด้วยประการฉะนี้"

ต่อมา สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีลายพระหัตถ์ตอบสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๙ ความว่า "เรื่องหุ่นกระบอกเรียกว่า หุ่นคุณเถาะนั้น เกล้ากระหม่อมทราบดี คนเล่นก็ทราบว่า ชื่อ นางเลียบ ตัวคุณเถาะก็รู้จักดี เป็นคนเลี้ยงชายกลาง ตัวชายกลางก็คุ้นกับเกล้ากระหม่อม ทั้งเกรงใจ ด้วยเกล้ากระหม่อมเป็นผู้มีหน้าที่ปลอบให้กินยา หุ่นคุณเถาะนั้น ได้เห็นเป็นครั้งแรกที่ไหนฝ่าพระบาทนำไปเล่นถวาย ดูเหมือนที่บางปะอิน จะเป็นงานอะไรก็ลืมไปเสียแล้ว ฝ่าพระบาทได้กราบบังคมทูลถึงประวัติหุ่นว่า นายเหน่งเป็นต้นคิด แปรมาจากหุ่นไหหลำ และจำทำนองร้องเดินเรื่องมาจากเพลงตาสังขารา"

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าหนังสือสาส์นสมเด็จ เป็นหลักฐานสำคัญ ที่มีการบันทึกความเป็นมา เกี่ยวกับการเรียกชื่อและประวัติของหุ่นกระบอก ข้อความที่บันทึกแสดงให้เห็นว่า ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการแสดงหุ่นกระบอกไทย ถวายหน้าพระที่นั่งแล้ว


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน