รำเซิ้งบั้งไฟพญานาค
รำเซิ้งบั้งไฟพญานาค
ภูมิหลัง
มูลเหตุแห่งความเชื่อว่า ธรรมชาติทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ผืนน้ำ พืช สัตว์ มนุษย์ อุบัติขึ้นในโลกด้วยอำนาจแห่งผีฟ้าหรือผีแถน ซึ่งในพงศาวดารล้านช้างกล่าวถึงชนกลุ่มแรกที่ออกมาจากน้ำเต้าปุ้งว่า ขุนทั้งสามคือ ปู่ลางเชิง ขุนเค็ก ขุนคาน ขออนุญาตต่อแถนเพื่อลากลับมาอยู่เมืองมนุษย์ตามเดิมโดยอ้างว่า "ข่อยนี้อยู่เมืองบน ก็บ่แก่น แล่นเมืองฟ้าก็บ่เป็น" พระยาแถนจึงอนุมัติให้อพยพลงมาอยู่ "นาบ่อนน้อยอ้อยหนู" และให้ควายลงมาไถนาด้วย ต่อมาควายตัวนี้ตายลงจึงเกิดเป็นต้นน้ำเต้าขึ้นที่ซากของควายมีผลน้ำเต้าใหญ่มากผลหนึ่ง เมื่อผลน้ำเต้านั้นโตเต็มที่ก็ได้ยินเสียงคนอยู่ในนั้นเป็นจำนวนมาก ขุนทั้งสามจึงเอาเหล็กชีแดงเจาะรูเพื่อให้คนออกมา ๒ รู คือ พวกไทยลมกับไทยผิวเนื้อดำคล้ำ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพวกข่า ขอม เขมรและมอญ แต่ยังมีคนเหลืออยู่ในน้ำเต้าปุ้งอีกขุนทั้งสามจึงหาสิ่วมาเจาะใหม่อีก ๓ รู พวกที่ออกมารุ่นหลังนี้ไม่ถูกรมควันจากเหล็กชีจึงมีผิวกายขาวกว่า ได้แก่ ไทยเลิง ไทยลอ ไทยคราว ซึ่งกลายมาเป็นบรรพบุรุษของคนลาว คนไทย คนญวณ ในภายหลัง จึงปรากฏในฮีตคองว่า
"เถิงเดือนเจียงนั้นให้เลี้ยงผีมดผีหมอ ผีฟ้า ผีแถน และนิมนต์พระสงฆ์เจ้าเข้าปริวาสกรรม" "เถิงเดือนเจ็ดฟ้าวเลี้ยงมเหสักข์หลักเมือง บนอารีกขาเทพยดาทั้งสี่ คือ ท้าวจตุโลกบาล ผู้ปกครองรักษาโลกอันได้แก่ ท้าวธตะรัฏฐะ ท้าววิรุฬหวะ ท้าวรัฐปักขะ และท้าวกุเวระและเทพยดาทั้งแปด"
ชาวล้านช้าง รวมถึงชาวผักขวง อำเภอทองแสนขัน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมล้านช้าง จึงยึดมั่นในลัทธิภูติผีวิญญาณตลอดมา จึงพบได้ว่า มีพิธีกรรมจำนวนมากที่พยายามติดต่อกับวิญญาณโดยผ่าน กระจ้ำ หรือ หมอจ้ำ และมีการเซ่นสรวงบวงพลีเพื่อให้เป็นที่ชื่นชอบของวิญญาณเหล่านั้น กระจ้ำหรือหมอจ้ำต้องสาธยายเวทย์มนต์ ซึ่งมีการผูกสัมผัสเป็นบทร้อยกรองขับเห่ เพื่อพรรณาเนื้อความที่วิงวอน ขับไล่วิญญาณและสิ่งชั่วร้าย บทพรรณนาในพิธีกรรมเหล่านี้ได้ถูกพัฒนาโดยการนำเครื่องดนตรีมาประกอบ เปลี่ยนจากหมอจ้ำมาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการขับลำนำที่เรียกว่า หมอลำ โดยมีแคนเป็นเครื่องประกอบ เพิ่มความสนุกสนาน ทำให้เกิดการฟ้อนรำประกอบ ดนตรีและการฟ้อนรำของชาวล้านช้างนั้น ส่วนใหญ่ใช้เพื่อประกอบพิธีกรรม และเป็นการรื่นเริงหลังฤดูการเก็บเกี่ยวหรือมีความสำเร็จในการประกอบอาชีพ เช่น การล่าสัตว์ การเพาะปลูก ย่อมต้องมีการขอบคุณวิญญาณหรือเทพเจ้าที่ได้ช่วยอำนวยให้เกิดผลดี ดังปรากฏในพงศาวดารว่า
"พระยาแถนหลวงให้ศรีคันธพะเทวดา ลาลงมาบอกสอนคนทั้งหลายให้เฮ็ด ฆ้อง กลอง กรับ เจงแวง ปี่ พาทย์ พิณ เพี๊ยะ เพลงกลอน ได้สอนให้ดนตรีทั้งมวล และเล่าบอกส่วนครูอันขับฟ้อนฮ่อนนะสิ่งสว่าง ระเมง ละมาง ทั้งมวลถ้วนแล้ว ก็จั่งเมือเล่าเมือไหว้แก่พระยาแถนหลวงสู่ประการนั้นแล"
ความเชื่อ
เซิ้งบั้งไฟ เป็นประเพณีและพิธีกรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล จากคตินิยมและความเชื่อเรื่องตำนานพญาคันคาก (คางคก) ซึ่งเป็นทั้งวรรณกรรมมุขปาฐะและวรรณกรรมจารึก ตามตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าถือชาติกำเนิดเป็นพญาคางคก ได้อาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ในเมืองพันทุมวดี ด้วยเหตุใดไม่แจ้งพญา แถนเทพเจ้าแห่งฝนโกรธเคืองโลกมนุษย์มาก จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกนานถึง ๗ เดือน ทำให้เกิดความลำบากยากแค้นอย่างแสนสาหัสแก่มวลมนุษย์ สัตว์ และพืชจนกระทั่งพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่แข็งแรงก็จะรอดตาย และได้พากันมารวมกลุ่มใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กับพญาคางคก สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงได้หารือกันเพื่อจะหาวิธีการปราบพญาแถน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้หลายครั้ง จนเกิดความท้อถอยหมดกำลังใจ และสิ้นหวังรอวันตาย ในที่สุดพญาคางคกขออาสาที่จะไปรบกับพญาแถน จึงได้วางแผนในการรบ จนได้รับชัยชนะ และตกลงทำสัญญาสงบศึกกับพญาคางคก ดังนี้
๑. ถ้ามวลมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อใด ให้พญาแถนสั่งให้ฝนตกในโลกมนุษย์
๒. ถ้าได้ยินเสียงกบ เขียดร้อง ให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว
๓. ถ้าได้ยินเสียงสนูว่าว ให้ฝนหยุดตกเพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว และได้ปฏิบัติตามสัญญาจนบัดนี้
ความสำคัญและคุณค่าทางสังคมและทางจิตใจที่มีในวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนนั้นๆ
การฟ้อนเป็นกิจกรรมร่วมกันของชุมชน การได้ร่วมกันฟ้อนเช่นในงานบุญต่างๆ จะก่อให้เกิดความเป็นมิตร ซึ่งส่งผลให้เกิดความสงบสุขในชุมชน การละเล่นเพื่อความสนุกสนานหลังจากการทำงานหรือในหลังฤดูการเก็บเกี่ยวทำให้ได้รับความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของอารมณ์ หลังจากที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน และเป็นการสืบทอดรักษาศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป
องค์ประกอบที่บ่งบอกให้เห็นคุณลักษณะของศิลปะพื้นถิ่น
๑ เครื่องดนตรี ๘ ชิ้น ประกอบด้วย กลองตุ้ม พังฮาด กลองยาว รำมะนา ฆ้องเหม่ง ฉิ่ง
ฉาบ กั๊บแก๊บ
๒ ผู้แสดง ๑๒ คน
รูปแบบ วิธีการแสดงของศิลปะพื้นถิ่นแบบดั้งเดิม
คำว่า "เซิ้ง" นิยมใช้ในงานบุญบั้งไฟ การเซิ้งบั้งไฟเป็นการฟ้อนประกอบการขับกาพย์เซิ้ง ลักษณะขึ้นลงตามจังหวะช้าๆ ของกลองตุ้ม พังฮาด หรือในบางครั้งก็มีโทนประกอบ นิยมเซิ้งกันเป็นกลุ่มๆ ตั้งแต่ ๓ – ๔ คนขึ้นไป จะมีหัวหน้าเป็นคนขับกาพย์เซิ้งนำ แล้วคนอื่นๆ จะร้องรับไปเรื่อยๆ การเซิ้งบั้งไฟนั้นอาจจะเป็นผู้หญิงล้วน ชายล้วน หรือมีการสลับชายหญิงก็ได้ ท่าฟ้อนในการแห่บั้งไฟนั้นมีหลายท่า ยกตัวอย่างเช่น ท่าไหว้ครู ท่านาคพ่นน้ำ ท่าม้วนเชือก ท่ายูงรำแพน ท่าเกี่ยวข้าว ท่าทวยเทพ ท่าแหวกม่านเข้าหอ ท่าประแป้ง เป็นต้น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น