ประวัติความเป็นมาของหุ่นกระบอกไทย

 ประวัติความเป็นมาของหุ่นกระบอกไทย
เริ่มต้นขึ้นเมื่อครั้งเด็กชายเล็กๆ คนหนึ่ง ได้มีโอกาสติดตามบิดา ผู้เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ไปราชการยังหัวเมืองฝ่ายเหนือ ครั้นไปถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ เด็กชายผู้นี้ได้มีโอกาสชมการเชิดหุ่นกระบอก จึงเกิดความสนใจและอยากได้หุ่นกระบอกอย่างมาก เนื่องจาก หุ่นกระบอกมีขนาดไล่เลี่ยกับตุ๊กตา มีลักษณะสวยงามน่ารัก และสามารถเชิดให้แสดงกิริยาอาการต่างๆ ได้ หุ่นกระบอกจึงเป็นสิ่งที่ดูแล้วเพลินตาเพลินใจ เป็นที่ถูกใจเด็กชายอย่างยิ่ง ในที่สุดเด็กชายคนนี้ก็ได้หุ่นกระบอกมาตัวหนึ่ง และได้นำกลับมายังกรุงเทพฯ ด้วย

เจ้าของหุ่นกระบอก คนเดิม เป็นชายยากจนชื่อ เหน่ง เป็นชาวจังหวัดสุโขทัย อาศัยอยู่ตามวัด นายเหน่งเห็นหุ่นจีนไหหลำ จึงเอาแบบอย่างมาคิดดัดแปลงประดิษฐฺ์เป็นหุ่นไทยขึ้น และคิดกระบวนร้องเพลงประกอบตามแบบอย่างของหุ่นจีนไหหลำ นายเหน่งนำหุ่นกระบอกออกเชิดแสดง เพื่อหาเลี้ยงชีพ ต่อมามีคนชอบมากขึ้น หุ่นกระบอกของนายเหน่งจึงเป็นที่รู้จักกัน ในหัวเมืองฝ่ายเหนือ ในเวลานั้น นายเหน่งได้มอบหุ่นตัวหนึ่งให้แก่เด็กชายผู้ที่ได้มาเยือน ในระหว่างเดินทางกลับจากหัวเมืองเหนือมายังกรุงเทพฯ เด็กชายผู้เป็นเจ้าของหุ่นกระบอกคนใหม่กับพี่เลี้ยง ได้หัดเล่นเชิดหุ่นกระบอกที่เพิ่งได้มานั้นอย่างสนุกสนานตลอดทาง เป็นที่น่าเสียใจยิ่งที่เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ ได้ไม่นาน เด็กชายเจ้าของหุ่นกระบอกได้เสียชีวิตลง พี่เลี้ยงของเด็กชายผู้นี้ชื่อ หม่อมราชวงศ์เถาะ ซึ่งชื่นชม และติดใจ ในความงดงามน่ารักของหุ่นกระบอกด้วยเช่นกัน เกิดความคิดที่จะจัดการแสดงหุ่นกระบอกต่อสาธารณชน โดยตั้งเป็นคณะหุ่นกระบอกขึ้น เพื่อนำออกแสดงเป็นมหรสพ สร้างความบันเทิงให้ประชาชนทั่วไปได้ชม หม่อมราชวงศ์เถาะจึงเป็นผู้คิดริเริ่มก่อตั้ง และเป็นเจ้าของคณะหุ่นกระบอกคณะแรกในประเทศไทย ผู้คนในสมัยนั้น เรียกหุ่นกระบอกไทยคณะนี้ว่า หุ่นคุณเถาะ
หลังจากนั้น หุ่นกระบอกก็ได้รับความนิยมแพร่หลายมากยิ่งขึ้น จนมีคณะหุ่นกระบอกเกิดขึ้นอีกมากมายหลายคณะ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวเมืองรอบๆ เมืองหลวง ในรัชกาลที่ ๕ จึงถือได้ว่า เป็นยุคทองของการแสดงหุ่นกระบอกของไทย
การเล่นหุ่นกระบอกของไทยเป็นการแสดงมหรสพที่มีความสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง และมีลักษณะเด่นไม่แพ้มหรสพชนิดอื่นๆ การแสดงหุ่นกระบอกประกอบด้วยศิลปะชั้นสูงหลายสาขา ตั้งแต่การสร้างตัวหุ่นซึ่งมีความสูงประมาณ ๓๐ - ๕๐ เซนติเมตร ศีรษะของหุ่นส่วนมากทำจากวัสดุที่มีน้ำหนักเบา แต่มีความทนทาน เช่น ไม้นุ่น หรือไม้ทองหลาง ซึ่งเป็นไม้เนื้อเบา ศีรษะของหุ่นกระบอกมีขนาดความสูงประมาณ ๑๐ - ๑๒ เซนติเมตร ส่วนศีรษะติดกับลำคอที่ยาวประมาณ ๘ เซนติเมตร ศีรษะของหุ่นถ้าจะเทียบแล้วก็คงมีขนาดไล่เลี่ยกับกำมือของผู้ใหญ่ ที่ลำคอคว้านให้เป็นรูไว้ตรงกลาง เพื่อสอดลำไม้ไผ่ ที่มีปล้องขนาดเล็ก เช่น ไม้ไผ่รวก ขนาดความยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร กระบอกไม้ไผ่ที่ใช้เป็นลำตัวของหุ่นนี้เอง ที่เป็นที่มาของชื่อ หุ่นกระบอก มือของหุ่นก็ทำจากไม้ด้วยเช่นกัน หรือบางครั้งอาจใช้แผ่นหนังอย่างหนามาทำเป็นมือหุ่น เพื่อความทนทานขึ้น ที่ข้อมือของหุ่นแต่ละข้างมีไม้ไผ่ที่เหลาให้มีขนาดเล็กประมาณแท่งดินสอ ความยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ผูกติดกับข้อมือของหุ่นไว้ทั้ง ๒ ข้าง เรียวไม้ไผ่ที่ผูกติดกับข้อมือของหุ่นกระบอกนี้ มักเรียกกันว่า "ตะเกียบ" ทั้งนี้ คงเป็นเพราะว่ามีขนาดไล่เลี่ยกับตะเกียบที่ชาวจีนนิยมใช้รับประทานอาหาร และต้องใช้เป็นคู่เช่นเดียวกันนั่นเอง ทั้งตะเกียบ และแกนกระบอกลำตัวของหุ่น ซ่อนอยู่ในเสื้อผ้าของหุ่นซึ่งมีลักษณะคล้ายถุง
ความงดงามของหุ่นกระบอก จะอยู่ที่การวาดหน้าตาของหุ่น เครื่องประดับ และเสื้อผ้าอาภรณ์ต่างๆ ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับ การแต่งกายของโขน และละครของไทยที่มีมาแต่โบราณ ถึงแม้ว่าทั้งตัวหุ่นกระบอกและเครื่องแต่งกาย ตลอดจน เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ของหุ่นกระบอกจะมีขนาดเล็ก แต่ผู้ประดิษฐ์ก็พยายามจะสร้างให้เหมือนของจริงอย่างประณีตงดงาม

ตัวละครหุ่นกระบอกนอกจากตัวพระและตัวนาง คือ ตัวพระเอกและนางเอกแล้ว ยังมีตัวละครอื่นๆ ตามท้องเรื่อง ที่นำมาเล่นแสดง เนื้อเรื่องสำหรับเล่นแสดงหุ่นกระบอกเป็นนิยาย นิทาน หรือเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ รวมทั้งบทละครนอก ในวรรณคดีไทยที่ได้รับความนิยม เช่น ลักษณวงศ์ สังข์ทอง ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี ดังนั้น ตัวละครหุ่นกระบอกจึงมีทั้งนางผีเสื้อสมุทรผู้มีเขี้ยวยาวโง้ง สินสมุทรผู้มีหน้าเป็นยักษ์ตามมารดา ตลอดจนชีเปลือย ม้านิลมังกร เจ้าเงาะ และนางรจนา จะเห็นได้ว่า การแสดงหุ่นกระบอกเรื่องหนึ่งๆ นั้น ตัวละครหุ่นกระบอกที่ครบถ้วนทั้งโรงมีจำนวนมาก ดังนั้น การประดิษฐ์หุ่นกระบอกรวมทั้งอุปกรณ์การแสดงอื่นๆ เช่น อาวุธ พาหนะ ถ้าจะให้งดงามประณีตจริงๆ จึงมิใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้ทั้งเวลา แรงงาน และฝีมือช่างผู้ชำนาญหลายสาขา
นอกจากตัวหุ่นกระบอกแล้ว ในการแสดงยังต้องมีโรงและฉากประกอบตามท้องเรื่อง เช่น ฉากปราสาทราชวัง ฉากป่าเขาลำเนาไพร ฉากท้องทะเลที่มีเกาะแก่งต่างๆ เมื่อมีตัวหุ่นกระบอก มีโรงพร้อมทั้งฉากประกอบตามท้องเรื่องแล้ว ยังต้องมีวงดนตรีปี่พาทย์ และผู้ขับร้องเพลงต่างๆ ตลอดจนผู้พากย์หรือผู้เจรจาประกอบการแสดงด้วย เครื่องดนตรีสำคัญซึ่งจะขาดเสียมิได้ คือ ซออู้ นอกจากนี้ การเล่นแสดงหุ่นกระบอกจะดูมีชีวิตชีวา จนสามารถดึงดูดความสนใจผู้ชมได้ ก็อยู่ที่หุ่นกระบอกนั้นต้องมีผู้เชิดที่มีความชำนาญ จนสามารถเชิดให้หุ่นร่ายรำทำท่าต่างๆ ได้เหมือนคนจริงๆ การที่ผู้เชิดหุ่นจะเชิดได้งดงามอ่อนช้อย เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ชมมากน้อยเพียงใดนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับทักษะของผู้เชิด ซึ่งต้องฝึกฝนเป็นเวลานานแล้ว ผู้เชิดหุ่นกระบอกยังต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถ รำไทยเป็นอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้เชิดหุ่นอาจเคยแสดงละครรำเอง หรืออย่างน้อยเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับท่ารำของไทย หรือเป็นผู้ที่สันทัดในเรื่องนี้เป็นอย่างดี
ในขณะเชิดหุ่นกระบอก ผู้เชิดหุ่นจะนั่งเชิด มือซ้ายถือแกนกระบอกลำตัวของหุ่นไว้ โดยยกตัวหุ่นให้ตั้งตรง ส่วนมือขวาจับตะเกียบ   บังคับการเคลื่อนไหวของมือหุ่น โดยใช้นิ้วมือของผู้เชิดซึ่งทำหน้าที่เสมือนกลไกให้หุ่น แสดงท่าทาง และร่ายรำ ไปตามท้องเรื่อง จะเห็นได้ว่า วิธีการเชิดหุ่นกระบอกนี้ มิใช่เรื่องง่าย ผู้ที่จะเชิดหุ่นกระบอกได้ดี จนกระทั่งมีความชำนาญนั้น ต้องใช้เวลาฝึกฝนเป็นระยะเวลานาน และต้องใช้ความอดทนวิริยะพากเพียรเป็นอย่างมาก
ในรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นยุคทองของหุ่นกระบอก ชาวไทยทั่วไปรู้จัก และนิยมการเชิดแสดงหุ่นกระบอก เป็นมหรสพอย่างมาก สาเหตุที่ทำให้หุ่นกระบอกเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในยุคนั้น คงเนื่องมาจาก ความงดงาม และความน่ารัก ของหุ่นกระบอก ซึ่งมีลักษณะคล้ายตุ๊กตา แต่สามารถเคลื่อนไหว แสดงกิริยาท่าทางได้คล้ายมนุษย์ นอกจากนี้ เนื้อเรื่องประเภทนิยาย นิทาน และวรรณคดีจักรๆ วงศ์ๆ ที่นิยมนำมาใช้สำหรับเล่นหุ่นกระบอกก็เน้นความสนุกสนาน ตลก ทำนองจำอวดของไทย เป็นที่ถูกใจผู้ชม ซึ่งมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การแสดงหุ่นกระบอก จะมีเนื้อเรื่องสนุกสนาน ตลกโปกฮา แทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง แต่ก็แฝงไว้ด้วยคติธรรมอันลึกซึ้ง มีเนื้อเรื่องกินใจ ดังนั้น การเชิดแสดงหุ่นกระบอกของไทยจึงเหมือนกับการละเล่นมหรสพอย่างอื่นๆ คือ เป็นแบบที่เรียกว่า "เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี"


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน