หุ่นกระบอก

 หุ่นกระบอก

มีลักษณะคล้ายกับหุ่นมือ กล่าวคือ ลำตัวของหุ่นมีส่วนกลวงภายใน เพื่อให้แขนสอดเข้าไปเชิดได้ การเชิดแสดงหุ่นกระบอกก็เชิดจากด้านล่างเช่นเดียวกัน หุ่นกระบอกส่วนมากมีศีรษะและลำคอกลวง ส่วนหัวของหุ่นกระบอกอาจประดิษฐ์ขึ้น จากวัสดุต่างๆ ที่มีน้ำหนักไม่มากนัก เช่น กระดาษ ไม้ที่มีเนื้อเบา

หุ่นกระบอกเป็นมหรสพสำหรับชาวบ้าน และสามารถเชิดแสดง โดยใช้บท สำหรับการแสดงหุ่นสารพัดประเภท ไม่ว่าจะเป็นโศกนาฏกรรม ตลก เทพนิยาย หรือเรื่องจินตนาการแบบเพ้อฝัน (fantasy) แต่ที่เหมาะที่สุดคือ นำมาเล่นกับบท ซึ่งมีเรื่องราวที่เน้นการแสดงออกของตัวละคร มากกว่าการสนทนา

โรงหุ่นกระบอกมีลักษณะคล้ายโรงหุ่นมือ คือ มีที่ว่างด้านล่างของพื้นเวที เพราะใช้การเชิดแสดงจากด้านล่างเป็นส่วนมาก แต่ที่บางภูมิภาค เช่น เกาะซิซิลี มีการเชิดแสดงจากด้านบน ในกรณีเช่นนี้ โรงหุ่นกระบอกจะมีลักษณะคล้ายโรงหุ่นชักสายเชิด


หุ่นเงา

เป็นหุ่นที่คนไทยรู้จักกันดี ในชื่อ หนังตะลุง เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของหุ่นกระบอก ความแตกต่าง คือ ผู้ชมจะไม่ชมการแสดงจากการมองตัวหุ่นโดยตรง แต่จะชมภาพของหุ่น ซึ่งปรากฏที่จอ โดยใช้ไฟส่องจากด้านหลังของตัวหุ่นที่มีลักษณะแบนเป็นภาพมิติเดียวนั้น ให้เงาของตัวหุ่นไปตกกระทบจอที่ใช้ผ้าขาวผืนใหญ่ขึงตึง เกิดเป็นภาพบนจอ ผู้ชมจึงชมการเชิดแสดงหุ่นประเภทนี้ในลักษณะของการดูหนัง

ลักษณะของหุ่นประเภทนี้เป็นแผ่นภาพแบน ประดิษฐ์ขึ้นจากกระดาษแข็ง แผ่นสังกะสี ในประเทศทางตะวันออกจะประดิษฐ์จากหนังสัตว์ เช่น โค กระบือ ขนาดหุ่นเงา หรือที่เรียกว่า "ตัวหนัง" จะมีขนาดไม่เกิน ๕๐ เซนติเมตร ลักษณะของตัวหนัง อาจออกแบบให้เห็นเป็นภาพใบหน้า ที่เอียงข้างของตัวละคร หรืออาจเป็นภาพหน้าตรง ที่แสดงความรู้สึกต่างๆ ก็ได้ แต่ส่วนมากจะเป็นภาพใบหน้าด้านข้าง ตัวหนังสามารถเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ เช่น แขน ขา ได้บ้าง โดยการดึงเชือก ที่ผูกไว้ที่อวัยวะนั้นๆ

การเชิดจะเชิดตัวหนังทางด้านหลังของจอ และเชิดจากด้านล่าง ผู้เชิดต้องวางแนวจับตัวหนังด้านแบนๆ นั้นให้ขนานไปกับจอ แล้วเคลื่อนตัวจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง เป็นแนวระนาบตามกันไป ความสนุกสนานของการชมหนังตะลุงเกิดจากบทสนทนา หรือการแสดงของผู้เชิด ซึ่งช่วยสร้างสีสันให้แก่การเล่น หุ่นเงาเหมาะที่จะใช้แสดงกับเรื่องราวที่มีอยู่ในคติชาวบ้าน เช่น นิทาน นิยายพื้นบ้าน หรือเนื้อเรื่องประเภทเทพนิยาย สำหรับโรงเชิดหุ่น มีลักษณะคล้ายโรงเชิดหุ่นมือ แต่ด้านหน้าโรงขึงจอผ้าขาวให้ตึง


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน