รำวงและรำโทน

 รำวงและรำโทน

        รำวงเป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของชาวบ้าน ที่ร่วมกันเล่นเพื่อความสนุกสนานและเพื่อความสามัคคี นิยมเล่นกันในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๘ รำวงนั้นเดิมเรียกว่า "รำโทน" เพราะได้ใช้โทนเป็นเครื่องดนตรีตีประกอบจังหวะ โดยใช้โทนเป็นจังหวะหลัก มีกรับและฉิ่งเป็นเครื่องดนตรีประกอบ แต่ไม่มีเนื้อร้อง ผู้รำก็รำไปตามจังหวะโทน ลักษณะการรำก็ไม่มีกำหนดกฏเกณฑ์ เพียงแต่ย่ำเท้าให้ลงจังหวะโทน ต่อมามีผู้คิดทำนองและบทร้องประกอบจังหวะโทนขึ้น ต่อมารำโทนได้พัฒนาเป็น "รำวง" มีลักษณะคือ มีโต๊ะตั้งอยู่กลางวง ชาย-หญิงรำเป็นคู่ๆ ไปตามวงอย่างมีระเบียบ เรียกว่า "รำวงพื้นเมือง" เล่นได้ทุกงานเทศกาล ทุกฤดูกาล หรือจะเล่นกันเองเพื่อความสนุกสนาน

        ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๔ อยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้เจรจาขอตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพื่อเป็นทางผ่านสำหรับลำเลียงเสบียง อาวุธและกำลังพล เพื่อไปต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตร โดยยกพลขึ้นที่ ตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔  จอมพล ป. พิบูลสงคารม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น จำเป็นต้องยอมให้ทหารญี่ปุ่นตั้งฐานทัพ มิฉะนั้นจะถูกฝ่ายอักษะซึ่งมีประเทศญี่ปุ่นรวมอยู่ด้วยนั้นปราบปราม  ประเทศไทยขณะนั้นจึงเป็นจึงเป็นเป้าหมายให้ฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตี ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดทำลาย ทำให้ชีวิตผู้คน บ้านเรือน ทรัพย์สินเสียหายยับเยิน โดยเฉพาะที่ที่อยู่ใกล้กับฐานทัพญี่ปุ่น ส่วนใหญ่แล้วฝ่ายพันธมิตรจะส่งเครื่องบินมารุกรานจุดยุทธศาสตร์ในเวลาคืนเดือนหงาย เพราะจะมองเห็นจุดยุทธศาสตร์ได้ง่าย  ชาวไทยมีทั้งความหวาดกลัวและตึงเครียด จึงได้ชักชวนกันเล่นเพลงพื้นเมือง คือการรำโทน เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ที่ตึงเครียด ให้เพลิดเพลินสนุกสนานขึ้นบ้าง

        การรำโทนนั้นใช้ภาษาที่เรียบง่าย เนื้อร้องเป็นเชิงเย้าแหย่ หยอกล้อ เกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว ทำนองเพลง การร้อง ท่ารำ การแต่งกายก็เรียบง่าย มุ่งความสนุกสนาน พอผ่อนคลายความทุกข์ไปได้บ้างเท่านั้น จอมพล ป. พิบูลสงครามเกรงว่าชาวต่างชาติที่ได้พบเห็นจะเข้าใจว่า ศิลปะการฟ้อนรำของไทยมิได้ประณีตงดงาม ท่านจึงได้ให้มีการพัฒนาการรำโทนขึ้นอย่างมีแบบแผน ประณีตงดงาม ทั้งท่ารำ คำร้อง ทำนองเพลง และเครื่องดนตรีที่ใช้ตลอดจนการแต่งกาย จึงเรียกกันว่า "รำวงมาตรฐาน" เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างต่อไป

        เนื้อเพลงรำวง-รำโทน มีดังต่อไปนี้

 

เพลงช่อมาลี

ช่อมาลี คนดีของพี่ก็มา สวยจริงหนาเวลาค่ำคืน (ซ้ำ)

  โอ้จันทร์ไปไหน ทำไมจึงไม่ส่องแสง

  เดือนมาแฝงแสงสว่าง เมฆน้อยลอยมาบัง (ซ้ำ)

เธอรำช่างน่าดู

  (ช) เธอรำช่างน่าดู ถ้าแม้นรำคู่จะเป็นบุญตา

  (ญ) อย่ามาทำอย่ามาทำพูดจา ประเดี๋ยวจะว่าให้ได้อาย

  (ช) หวานคารมคำคมแง่งอน (ญ) รู้ว่างอนมาวอนทำไม

(ช) รับรักฉันหน่อยได้ไหม (ญ) อุ้ย ไม่ได้ หวานใจเธอมี

ยวน ยวน ยวน

  ยวน ยวน ยวน กระบิดกระบวนยั่วยวนใจชาย

  ยักท่ามาแต่ระบำ ฟ้อนรำหมุนเวียนเปลี่ยนไป

  ยักคิ้วยักเอวยักไหล ตาชม้ายไม่วายแลมอง

ตามองตา

  ตามองตา             สายตาก็จ้องมองกัน รู้สึกเสียวซ่านหัวใจ

  จะว่ารักฉันก็ไม่รัก    จะว่าหลงฉันก็ไม่หลง ฉันยังอดโค้งเธอไม่ได้

        เธอช่างงามวิไล เหมือนดอกไม้ที่เธอถือมา

ใกล้เข้าไปอีกนิด

  ใกล้เข้าไปอีกนิด ชิดๆ เข้าไปอีกหน่อย

  สวรรค์น้อยน้อย อยู่ในวงฟ้อนรำ

  รูปหล่อเขาเชิญมาเล่น เนื้อเย็นเขาเชิญมารำ

  มองมานัยน์ตาหวานฉ่ำ (ซ้ำ) มามารำกับพี่นี่เอย

ยวนยาเหล

  ยวนยาเหล ยวนยาเหล หัวใจว้าเหว่ ไม่รู้จะเร่ไปหาใคร

  จะซื้อเปลยวน ที่ด้ายหย่อน หย่อน (ซ้ำ) จะเอาน้องนอนไกวเช้า ไกวเย็น

เพลงลา

  ออกปากว่าจะลา น้ำตาไหลร่วง (ซ้ำ) แสนรักแสนห่วงโอ้แม่ดวงจันทรา

  ด้วยถึงกำหนดหมดลา ขอลาแล้วเธอจ๋า

  แต่ในอุรานั้นคร่ำครวญ




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน