ทะแยมอญ (ซะมาแขวก)

 ทะแยมอญ (ซะมาแขวก)

ทะแยมอญ   เป็นชื่อที่คนไทยเรียกการแสดงอย่างหนึ่งของคนมอญ ซึ่งเพี้ยนมาจากคำในภาษามอญว่า แต็ะแหฺย็ะฮ์ หมายถึงการขับร้อง  ทะแยมอญเป็นการละเล่นหรือการแสดงของชาวมอญที่มีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากย์(ร้อง โต้ตอบกัน)คล้ายกับการเล่นเพลงพื้นเมืองของไทย เช่น เพลงลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว และเพลงเรือ แต่ไม่มีการร้องหยาบคาย โดยจะมีนักร้องฝ่ายชาย (แหม็ะแขวกนิฮ์เตราะฮ์) และนักร้องฝ่ายหญิง (แหม็ะแขวกนิฮ์แปร-า)  ร้องโต้ตอบกันเป็นคู่ ๆ พร้อมกับการร่ายรำประกอบ สำหรับคำร้องนั้นแต่เดิมเป็นภาษามอญล้วน ๆ  แต่ในปัจจุบันมีการประยุกต์คำร้องมีทั้งที่เป็นภาษามอญล้วน ๆ และที่เป็นภาษามอญปนไทย มักใช้กับทำนองเพลงสมัยใหม่ เช่น เพลงลูกทุ่ง เป็นต้น  เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงการละเล่นทะแยมอญ ได้แก่วงโกร่กฺยาม ซึ่งประกอบด้วยดนตรี ๕ ชิ้น       คือ ซอ (โกร่)   จะเข้มอญ (กฺยาม)   ขลุ่ย (อะโลด)   เปิงมาง (ปุงตัง) และฉิ่ง (คะเด)  และเนื่องจากมีการประยุกต์ทำนองเพลงสมัยใหม่มาใช้ร้องจึงต้องเพิ่มซอด้วงทำ ทำนองอีก ๑ ชิ้น  โดยจะปรับเสียงให้เข้ากับซอมอญ อีกทั้งเพิ่ม ฉาบเล็ก กรับ และกลองรำวง สำหรับเป็นเครื่องประกอบจังหวะอีกด้วย
ทะแยมอญใช้เป็นมหรสพได้ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล เนื้อหาของคำร้องจะมีลักษณะเฉพาะของงานแต่ละประเภท เช่น งานศพ ก็จะร้องพรรณนาประวัติและความดีของผู้ตาย งานแต่งงานก็จะร้อพรรณนาประวัติของเจ้าบ่าวเจ้าสาว อบรมสั่งสอนการใช้ชีวิตคู่และสิ่งที่ควรปฏิบัติต่อกัน จบด้วยการอวยพรให้คู่บ่าวสาวมีความสุข  ส่วนงานที่เกี่ยวกับเทศกาลทางพุทธศาสนาก็จะร้องพรรณนาถึงอานิสงส์ของการทำ บุญ และพรรณาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาในงานเทศกาลประจำปี เช่น วันสงกรานต์ งานลอยกระทง จากนั้นจึงเป็นการร้องเกี้ยวพาราสีกันของผู้แสดงฝ่ายชายและฝ่ายหญิง

บทร้องนั้นเดิมจะร้องโต้ตอบกันด้วยปฏิภาณ มีทั้งที่เล่าเป็นเรื่องราว และการเกี้ยวพาราสีกัน ปัจจุบันผู้แสดงจะร้องด้วยการจำเนื้อร้องต่อ ๆ กันมา และใช้ร้องซ้ำ ๆ ต่างจากสมัยก่อน เมื่อทราบว่าจะต้องเล่นทะแยในงานใด ผู้แสดงจะต้องถามเรื่องราวของงานนั้นกับเจ้าของงาน เพื่อจะได้แต่งคำร้องพรรณนาความได้ถูกต้อง ถูกลักษณะของงาน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน