การรำ
การรำเดี่ยว
รำ คือ การแสดงที่มุ่งความงามของการร่ายรำ การรำนี้จะมีเนื้อร้องหรือไม่มีก็ได้ จุดมุ่งหมายเป็นการแสดงฝีมือในการร่ายรำ ประเภทของรำ จำแนกตามลักษณะ ดังนี้
การรำเดี่ยว คือ การแสดงรำที่ใช้ผู้แสดงเพียงคนเดียว แสดงถึงความสามารถของผู้รำ และแสดงศิลปะของลีลาการร่ายรำตามแบบนาฏศิลป์ ตลอดทั้งให้ถึงเห็นความงามของเครื่องแต่งกาย การรำเดี่ยวมักนิยมใช้เป็นชุดเบิกโรง ใช้แสดงสลับฉาก หรือใช้แสดงในโอกาสต่างๆ เช่น รำฉุยฉายพราหมณ์ รำฉุยฉายเบญกาย รำฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวน รำพลายชุมพล ฯลฯ
รำฉุยฉายเบญกาย
รำฉุยฉายเบญกาย อยู่ในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดนางลอย เนื้อเรื่องกล่าวถึง ทศกัณฐ์พญายักษ์แห่งกรุงลงกา ใช้ให้นางเบญกายไปตัดศึก โดยแปลงเป็นนางสีดา และทำตายลอยน้ำไปยังพลับพลาพระราม นางเบญกายขอไปดูตัวจริงของนางสีดา แล้วแปลงตัวให้ละม้ายคล้ายนางสีดา และแสร้งทำจริตกิริยาให้เหมือนนางสีดาเพื่อขึ้นเฝ้าทศกัณฐ์
รำพลายชุมพล ที่มาของภาพ :หนังสือวิพิธทัศนา, สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ (๒๕๔๒,๒๑๘) รำพลายชุมพล
รำพลายชุมพล เป็นรำเดี่ยวที่อยู่ในละครเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแตกทัพ กล่าวถึงพลายชุมพลจะออกไปทำศึกกับพระไวย โดยปลอมตัวเป็นมอญ ใช้ทำนองเพลงมอญดูดาวประกอบ การบรรยายถึงการแต่งกาย แสดงให้เห็นถึงความองอาจสง่างามของตัวละคร
การรำคู่
รำดาบสองมือ
ที่มาของภาพ:หนังสือวิพิธทัศนา, สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ (๒๕๔๒, ๔๒)
การรำคู่
การรำคู่ คือ การรำที่ใช้ผู้แสดง ๒ คน ลักษณะการรำคู่มี ๒ ประเภท คือ การรำคู่เชิงศิลปะการต่อสู้ และการรำคู่ชุดสวยงาม
๑. การรำคู่เชิงศิลปะการต่อสู้ เป็นการรำที่ไม่มีบทร้อง ผู้รำทั้งคู่ต้องมีท่ารำที่สัมพันธ์กันอย่างดีในเชิงศิลปะการต่อสู้ที่หวาดเสียวกับความสวยงามในทางนาฏศิลป์ เป็นการอวดลีลาท่ารำ เพราะการต่อสู้มีทั้งรุกและรับผู้แสดงทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันด้วยลีลาคนละแบบ ดังนั้นผู้แสดงจึงต้องฝึกทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน มักใช้แสดงสลับฉาก หรือในโอกาสต่างๆตามความเหมาะสม ได้แก่รำกระบี่กระบอง รำดาบสองมือ รำทวน รำโล่ รำดาบ รำกริช เป็นต้น
๒. การรำคู่ชุดสวยงามคนมักนิยมดูกันมาก เพราะเป็นร่ายรำตามบทร้อง หรือที่เรียกว่า การรำใช้บท หรือรำทำบท หมายถึง การใช้ลีลาท่ารำตามบทที่วางไว้ทำให้ท่ารำมี ความหมายตามบท ในการแสดงรำคู่นี้ผู้แสดงจะรำคนละบทลีลาท่ารำจะแตกต่างกัน มุ่งเน้นแสดงลีลาการร่ายรำอย่างสวยงามตลอดทั้งชุด เช่น รำรจนาเสี่ยงพวงมาลัย รำหนุมานจับสุพรรณมัจฉา รำพระลอตามไก่ พระรามตามกวาง หนุมานจับนางเบญจกาย เมขลารามสูร ทุษยันต์ตามกวาง รถเสนจับม้า รำประเลง รำกิ่งไม้เงินทอง เป็นต้น
รำดาบสองมือ
รำดาบสองมือ เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของไทยมาแต่โบราณ ผู้ใช้ดาบเป็นอาวุธต้องมีความชำนาญในการใช้ดาบของตนฟาดฟันคู่ต่อสู้ และรับรองป้องกันอาวุธจากฝ่ายศัตรูด้วยความคล่องแคล่วว่องไว ประเพณีการต่อสู้ด้วยอาวุธต่างๆ นี้ ก่อนที่จะต่อสู้จะต้องรำไหว้ครูด้วยลีลาสง่างาม ตามเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละคน ต่อจากนั้นจึงเริ่มต่อสู้กันอย่างจริงจัง
เมขลารามสูร
ที่มาของภาพ : หนังสือวิพิธทัศนา, สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ (๒๕๔๒, ๘๖)
เมขลารามสูร
นางเมขลา เทพธิดารักษามหาสมุทร มีแก้วมณีประจำกาย ครั้นถึงวสันตฤดูก็ออกจากวิมาน ไปร่วมร้องรำอย่างสำราญกับเทพบุตรเทพธิดา ฝ่ายรามสูรเป็นอสูรเทพบุตรเหาะผ่านมาเห็นนางเมขลาโยนแก้วมีแสงสวยงาม ก็อยากได้ดวงแก้วนั้นจึงขอดวงแก้ว แต่นางเมขลาไม่ยอมให้และโยนดวงแก้วล่ออยู่ไปมา รามสูรโกรธจึงขว้างขวานเพชรไปยังนางเมขลา ทำให้เกิดเสียงกัมปนาทหวาดไหว จึงเกิดเป็นตำนานฟ้าแลบฟ้าร้องขึ้น
รถเสนจับม้า
ที่มาของภาพ : หนังสือวิพิธทัศนา, สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ (๒๕๔๒, ๙๐)
รถเสนจับม้า
การแสดงชุดรถเสนจับม้า อยู่ในละครเรื่องรถเสน ซึ่งกล่าวถึงรถเสนเป็นโอรสของท้าวรถสิทธิ์ กับนางสิบสองคนสุดท้อง คือ นางเภา ท้าวรถสิทธิ์ได้นางยักษ์สันธีเป็นชายา จึงจับนางสิบสองไปขังไว้ในอุโมงค์มืด แล้วควักลูกตา ต่อมารถเสนตีไก่ชนะราชทูตต่างเมือง ท้าวรถสิทธิ์จึงโปรดปราน นางสันธีอิจฉาจึงแสร้งทำป่วยไข้ แล้วออกอุบายให้รถเสนไปนำมะม่วงหาวมะนาวโห่ที่เมืองคชบุรีมารักษา รถเสนจึงทูลลาออกไปจับม้าเพื่อเดินทางต่อไป
การแสดงชุดนี้ ความงดงามในศิลปะอยู่ที่กระบวนลีลาท่ารำอันสง่างามของผู้แสดงเป็นรถเสน และผู้แสดงที่เลียนแบบอิริยาบถของม้า จัดเป็นการแสดงที่น่าชมอีกชุดหนึ่ง
การรำหมู่
รำสีนวล
ที่มาของภาพ : หนังสือวิพิธทัศนา, สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ (๒๕๔๒, ๒๒๖)
การรำหมู่
การรำหมู่ คือ การแสดงที่ใช้ผู้แสดงมากกว่า ๒ คนขึ้นไป มุ่งความงามของท่ารำและความพร้อมเพรียงของผู้แสดง เช่น รำโคม รำพัด รำซัดชาตรี เป็นต้น ในกรณีที่นำ การแสดงที่ตัดตอนมาจากการแสดงละคร และการรำนั้นเป็นการรำของตัวละครตัวเดียวมาก่อน เมื่อนำมารำเป็นหมู่ก็ยังคงเรียกว่ารำตามเดิม เช่น รำสีนวล รำแม่บท
รำสีนวล
รำสีนวล เป็นการรำประเภทการละเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่งของชาวไทยในภาคกลาง เนื่องจากการรำสีนวลเป็นศิลปะที่สวยงามทั้งท่ารำและเพลงขับร้อง จึงพัฒนามาเป็นชุดสำหรับจัดแสดงในงานทั่วๆไป และนับเป็นการแสดงนาฏศิลป์อีกชุดหนึ่ง ที่นิยมแพร่ฃหลายเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ลักษณะท่ารำและคำร้องของรำสีนวลมีความหมายถึงอิริยาบถที่นุ่มนวลอ่อนช้อยของกุลสตรี
ฟ้อน
ฟ้อน
ฟ้อน หมายถึง การแสดงกริยาเดียวกับระบำหรือการรำ เพียงแต่เรียกให้แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น จัดเป็นการแสดงพื้นเมืองของภาคนั้นๆ แต่ในรูปของการแสดงแล้วก็คือ ลักษณะการร่ายรำนั่นเอง ที่ผู้แสดงต้องแสดงให้ประณีตงดงาม โดยสืบทอดมาจากศิลปะของชนชาติต่างๆ ที่มีการก่อตั้งชุมชนอาศัยอยู่ในอาณาเขตล้านนานี้มาช้านาน นอกจากนี้ยังมีลักษณะของการรับอิทธิพลจากศิลปะของชนชาติที่อยู่ใกล้เคียงกันด้วย ท่านอาจารย์ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แบ่งการฟ้อนออกเป็น ๕ ประเภท ดังนี้
๑. ฟ้อนที่สืบเนื่องมาจาการนับถือผี เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อและพิธีกรรม เป็น การฟ้อนเก่าแก่ที่มีมาช้านาน
ได้แก่ ฟ้อนผีมด ผีเม็ง ฟ้อนผีบ้านผีเมือง ฟ้อนผีนางด้ง
๒. ฟ้อนแบบเมือง หมายถึง ศิลปะการฟ้อนที่มีลีลาแสดงลักษณะเป็นแบบฉบับของ "คนเมือง" หรือ "ชาวไทยยวน"
ได้แก่ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนเจิง ตบมะผาบ ฟ้อนดาบ ตีกลองสะบัดไชย ฟ้อนสาวไหม
๓. ฟ้อนแบบม่าน เป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะการฟ้อนของพม่า กับของไทยลานนา ได้แก่ ฟ้อนม่านมุ่ยเชียงตา
๔. ฟ้อนแบบเงี้ยวหรือแบบไทยใหญ่ หมายถึง การฟ้อนตลอดจนการแสดงที่รับอิทธิพล หรือมีต้นเค้ามาจากศิลปะการแสดงของชาวไทยใหญ่ ได้แก่ เล่นโต กิ่งกะหร่า (กินนรา) หรือฟ้อนนางนก กำเบ้อคง มองเซิง ฟ้อนไต (ไทยใหญ่) ฟ้อนเงี้ยว
๕. ฟ้อนที่ปรากฏในบทละคร เป็นการฟ้อนที่มีผู้คิดสร้างสรรค์ขึ้นในการแสดง ละครพันทาง ซึ่งนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๕
ได้แก่ ฟ้อนน้อยใจยา ฟ้อนลาวแพน ฟ้อนม่านมงคล
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น