พิธีไหว้ครูนาฎศิลป์

 พิธีไหว้ครูนาฎศิลป์

การไหว้ครูนับเป็นวัฒนธรรมไทยแบบหนึ่ง เป็นขนบธรรมเนียมอันดีงามในส่วนที่เกี่ยวกับกิริยามายาท สัมมาคารวะ และมีส่วนที่จะโน้มน้าวจิตใจมนุษย์ให้รักษาคุณความดี รักษาวิทยาการสืบเนื่องไปด้วยดี ทั้งยังจูงใจให้เป็นผู้มีนิสัยอ่อนโยนไม่แข็งกระด้าง
การไหว้ครู คือ การแสดงถึงความเคารพกตเวทีแด่ท่านบูรพาจารย์และครูบาอาจารย์ ผู้ซึ่งได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการ จึงพร้อมใจกันปวารณาตนรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะมานะอดทน เพื่อจะได้เป็นความรู้ติดตัวนำไปประกอบอาชีพ เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองในภายภาคหน้า
ประวัติการไหว้ครู

การประกอบพิธีไหว้ครูนั้นได้มีการกำหนดระเบียบแบบแผน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติโดยการบอกเล่าต่อๆ กันมาเป็นมุขปาฐะ  ตำราพิธีไหว้ครูและครอบโขน-ละครของไทยมีอยู่ ๒ ฉบับ คือ สมุดไทยมีจำนวน ๓ เล่ม แต่คงเหลือเพียงเล่ม ๒ เล่มเดียว ส่วนเล่ม ๑ และ เล่ม ๓ หายไป มีนักปราชญ์ได้รวบรวมชำระทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราเป็นพิธีไหว้ครูครอบโขน-ละครฉบับหลวง ในรัชกาลที่ ๔ ส่วนอีกฉบับหนึ่งคือ สมุดไทย เล่ม ๒ ซึ่งหลงเหลือมาจากฉบับแรก แล้วตีพิมพ์ใช้เป็นแบบฉบับของการทำพิธีไว้ครูและครอบโขน-ละครในรัชการลที่ ๖
 
ในสมัยรัชการลที่ ๔ พิธีไหว้ครูละครหลวงได้เริ่มเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ.๒๓๙๗  ส่วนการไหว้ครูนอกพระราชวังนั้นเริ่มมีมานานแล้ว เพราะได้ปฏิบัติกันเป็นประเพณีติดต่อกัน เช่น การฝึกหัดละครโนห์ราชาตรี เมื่อหัดรำเพลงครูได้แล้ว ครูจึงสอนให้ท่องบท เพราะละครโนห์ราชาตรียังใช้ร้องกลอนสด (เหมือนอย่างเล่นเพลงลิเก) ไม่มีหนังสือบทอย่างละครในกรุงเทพฯ แล้วสอนให้ร้องรำทำบทไปจนพอทำได้  ผู้ที่เป็นครูหัดจึงพาไปให้ครูครอบเรียกว่า "เข้าครู"
พิธีไหว้ครูนั้นมีมาแต่โบราณ และมีอยู่ในแทบทุกสาขาอาชีพของคนไทย โดยเฉพาะในวงการศิลปินแล้วการไหว้ครูเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้  นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับลัทธิธรรมเนียมของการแสดงโขน-ละคร เพราะลักษณะพิเศษของโขน-ละครไทยนั้น นอกจากจะเป็นนาฏศิลป์และว่าเป็นลัทธิอีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือ เป็นลัทธิมีพิธีกรรมของตนเอง และโดยเหตุนี้ นาฏศิลป์ไทยมีความผูกพันใกล้ชิดกับศาสนาฮินดูตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม  ลัทธิธรรมเนียมของโขน-ละครไทยที่เกิดขึ้นต่อมาจึงหนักไปในทางไสยศาสตร์หรือศาสนาฮินดู  เทพเจ้าอันเป็นที่นับถือในลัทธิโขน-ละครนี้ คือ พระเป็นเจ้าของศาสนาฮินดู ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม และพระพิฆเนศ  นอกจากนั้นก็มีเทพเจ้าอื่นๆ อีกบางองค์ เช่น พระปรคนธรรพ ผู้ซึ่งถือกันว่าเป็นใหญ่ในทางดนตรี รองลงมาได้แก่ ครูปัธยาย ซึ่งมีวัตถุที่เคารพแสดงออกด้วยหัวโขน ได้แก่ พระภรตฤษี หัวโขนยักษ์ หัวโขนพระราม พระลักษมณ์ เทริดโนห์รา และรัดเกล้าอันเป็นศิราภรณ์ของนางกษัตริย์ ในเรื่องละครหัวโขนอื่นๆ ที่ใช้ในการแสดงนั้น ถือว่าเป็นวัตถุที่เคารพทั้งสิ้น จะจับต้องหรือตั้งไว้ที่ใดก็ต้องกระทำด้วยความเคารพ

ประเพณีโบราณ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่า ผู้ที่จะเป็นประธานประกอบพิธีไหว้ครูและพิธีครอบโขนละคร ตลอดจนประสิทธิ์ประสาทให้ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นประธานพิธีไหว้ครูสืบไป  จะต้องเป็นผู้ได้รับครอบโดยถูกต้องตามขั้นตอน เช่น ได้รับมอบตำราเครื่องโรง (อาวุธต่างๆ) จากครูซึ่งมีคุณสมบัติเป็นครู  ผู้ที่ได้รับครอบสืบทอดมาก่อนแล้ว หรือได้รับพระราชทานครอบจากพระมหากษัตริย์  เพราะราชประเพณีไทยแต่โบราณถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ ทรงพระบารมีเหนือเทพเจ้าผู้เป็นครูแห่งศิลปะทั้งหลาย ฉะนั้น การที่ทรงกระทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับศิลปะไม่ว่าจะเป็นพิธีไหว้ครู หรือพระราชทานครอบ หรือทรงประสิทธิ์ประสาทให้ประกอบกิจใดๆ ย่อมกระทำได้ และผู้ที่ได้รับพระราชทานครอบก็จะสามารถประกอบพิธีครอบผู้อื่นต่อไปได้
คุณสมบัติของครูผู้ที่รับการคัดเลือก ให้ได้รับครอบให้เป็นประธานประกอบพิธีไหว้ครูและครอบนั้น ต้องเป็นบุรุษที่แสดงเป็นตัวพระ เพราะถือว่า ผู้แสดงเป็นตัวพระเท่ากับเทวดา ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี เคยอุปสมบทมาแล้ว มีความประพฤติดี อยู่ในศีลธรรม มีความรู้ทางนาฏศิลป์ชั้นสูง มีความเชี่ยวชาญในการแสดง และมีศิษย์ที่ตนเองฝึกสอนจำนวนพอสมควร
พิธีครอบของกรมศิลปากร ครูผู้กระทำพิธีครอบได้สืบทอดมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) หลวงวิลาศวงงาม (หร่ำ อินทรนัฏ) และนายอาคม สายาคม และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ หลังจากที่นายอาคม สายาคม ถึงแก่มรณกรรมแล้ว มิได้ครอบถ่ายทอดให้แก่ผู้ใด จึงหมดผู้ที่จะกระทำพิธีต่อไป  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานประกอบพระราชพิธีครอบประธานประกอบพิธีไหว้ครูโขน ละคร ตามแบบแผนราชประเพณีโบราณ  ซึ่งได้ผนวกเอาพิธีต่อท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพเข้าในวันนั้นด้วย  
พระราชพิธีกระทำในวันพฤหัสบดี ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๒๗ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่มีความสำคัญสูงสุดของวงการนาฏศิลปิ์และดุริยางคศิลป์ไทย เป็นพระราชพิธีครั้งแรกของประเทศไทย นับเป็นประวัติศาสตร์ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน