ละครดึกดำบรรพ์
ละครดึกดำบรรพ์
เป็นละครที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ กำเนิดขึ้น ณ ที่บ้านเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) ตั้งอยู่ระหว่างถนนอัษฎางค์กับถนนบ้านหม้อ ชื่อ " โรงละครดึกดำบรรพ์ "
เจ้าพระยาเทเวศน์วงศ์วิวัฒน์ได้เดินทางไปยุโรปในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ และมีโอกาสได้ชมโอเปร่า ซึ่งท่านชื่นชมในการแสดงมาก เมื่อกลับมาจึงคิดทำละครโอเปร่าให้เป็นแบบไทย
นอกจากท่านจะเป็นผู้สร้างโรงละครดึกดำบรรพ์ สร้างเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์การแสดงแล้ว ท่านยังได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมงานที่สำคัญ ได้แก่
๑. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์บทเลือกสรรปรับปรุงทำนองเพลง ออกแบบฉาก และกำกับการแสดง
๒. หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด ตาตะนันทน์) เป็นผู้จัดทำนองเพลงควบคุมวงดนตรีและปี่พาทย์
๓ หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี ทองพรุฬห์) เป็นผู้ควบคุมและฝึกสอนการขับร้อง
๔. หม่อมเข็ม กุญชร ณ อยุธยา ภรรยาของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เป็นผู้ปรับปรุงและประดิษฐ์ท่ารำ และฝึกสอนให้เข้ากับบทและลำนำทำนองเพลง
ละครดึกดำบรรพ์ ได้นำออกแสดงครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๔๔๒ เนื่องในโอกาสต้อนรับเจ้าชายเฮนรี่ พระอนุชาของสมเด็จพระเจ้ากรุงปรัสเซีย ซึ่งเป็นพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนได้รับความนิยมตลอดมา จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เกิดอาการเจ็บป่วย ถวายบังคมลาออกจากราชการ ทำให้ต้องเลิกการแสดงละครดึกดำบรรพ์ไป นับแต่เริ่มแสดงละครดึกดำบรรพ์จนเลิกการแสดง รวมระยะเวลา ๑๐ ปี
ละครดึกดำบรรพ์ มีลักษณะ ดังนี้
๑. การแสดงจัดบนเวที มีฉากและเครื่องกลไกประกอบ ให้ผู้ดูรู้ว่าเป็นสถานที่ไหน มีสภาพอย่างไร เวลาใด เกิดปรากฏการณ์ใดขึ้น โดยใช้เทคนิคใหม่ๆ เข้าช่วย
๒. ใช้ความจริงเป็นหลัก เล่นให้สมจริง
๓. ไม่มีบทที่กล่าวถึงกิริยาอาการต่างๆ ของตัวละคร เพราะผู้ดูเห็นอยู่แล้วว่าใครทำอะไร มีเฉพาะบทพูดของตัวละคร
๔. มีการแทรกการอ่านทำนองเสนาะ เช่น อ่านฉันท์ เพลงเด็ก เพลงพื้นเมือง ขับเสภา เห่เรือ ฯลฯ
๕. การฟ้อนรำมีน้อย เพราะต้องการความรวดเร็ว จึงมีการรำใช้บทเป็นพื้น แต่ฉากสุดท้ายต้องสวยงามกว่าฉากอื่นๆ มักมีฟ้อนรำงามๆ แบบละครใน มีตัวละครมากๆ
๖. ผู้แสดงต้องรำและพูดเอง ต้องเป็นผู้ที่มีรูปงาม รำงาม และเสียงไพเราะ
๗. การแต่งกาย แต่งแบบละครใน แต่ไม่นิยมสวมหัวโขน เพราะทำให้ดูงุ่มง่าม จะใช้การเขียนหน้าแทน
๘. ดนตรีปี่พาทย์ ใช้ปี่พาทย์ไม้นวมเครื่องใหญ่ แต่ยกเว้น ไม่ใช้เครื่องบางอย่างที่หนวกหู เช่น ระนาดทอง และฆ้องเล็ก
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น