ประวัติความเป็นมาของการเล่นหุ่นเป็นมหรสพของไทย
ประวัติความเป็นมาของการเล่นหุ่นเป็นมหรสพของไทย
ประเทศไทยมีหลักฐานเป็นเอกสารแสดงว่า มีการเล่นหุ่น เป็นเครื่องบันเทิง หรือมหรสพมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งหลักฐานที่แสดงว่า มีการเล่นหุ่น ปรากฏอยู่ในบันทึก ทั้งที่เป็นหมายรับสั่ง สมุดไทย วรรณกรรม และวรรณคดีเรื่องต่างๆ ตั้งแต่แผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรื่อยมาจนถึงแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในสมัยอยุธยาตอนปลาย และต่อมาจนถึงสมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ โดยระบุไว้ว่า มีการแสดงหุ่นในงานฉลอง และสมโภชทั้งในพิธีหลวง เช่น งานออกพระเมรุ และในพิธีราษฎร์ต่างๆ แต่การแสดงหุ่น ดังที่ปรากฏในบันทึกต่างๆ เหล่านั้น สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นการเล่นหุ่นหลวง มิใช่การเล่นหุ่นกระบอก ซึ่งมีหลักฐานแน่ชัดว่า เกิดขึ้น และนิยมกันอย่างแพร่หลาย ในสมัยรัชกาลที่ ๕
ในที่นี้จะได้อธิบายถึงลักษณะและองค์ประกอบสำคัญของหุ่นหลวง และการเชิดแสดงหุ่นหลวงอย่างสังเขป ตลอดจนหุ่นประเภทอื่นๆ ของไทย ที่มีการเล่นแสดงเป็นมหรสพ เพื่อเป็นพื้นฐานความเข้าใจ ก่อนนำเข้าสู่เรื่องหุ่นกระบอกไทย
นายจักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ได้ให้คำจำกัดความของหุ่นหลวง ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลาง ไว้ว่า
"หุ่นหลวง เป็นศิลปะการแสดงชนิดหนึ่ง ที่ใช้วัสดุมาประดิษฐ์ ให้มีรูปร่างท่าทางเหมือนคน มีขนาดใหญ่ สูงถึง ๑ เมตร มีคนเชิดและชัก ให้เคลื่อนไหว หุ่นหลวงเป็นมหรสพของหลวง ที่มีมาแต่สมัยอยุธยา"
ส่วนลักษณะและเครื่องแต่งกายของหุ่นหลวงก็ได้อธิบายไว้ว่า ตัวหุ่นทำด้วยไม้ คว้านให้บางเบา เฉพาะที่ส่วนเอวของตัวหุ่น ใช้เส้นหวายขดซ้อนกัน เพื่อให้เคลื่อนไหวได้ นอกจากนี้ มีเชือกร้อยจากนิ้วมือ ผ่านตามลำแขน เข้าสู่ลำตัวของหุ่น เพื่อให้มือและแขนขยับได้ ส่วนเท้านั้นติดไว้กับแข้งและขา กระดิกไม่ได้เหมือนมือ จากข้างในของลำตัวมีแกนไม้ยาว สำหรับคนเชิดจับ ยื่นออกมาจากส่วนก้นของหุ่น "...ตัวหุ่นหลวงเหล่านี้ ถึงจะมีขนาดเขื่องกว่าตัวหุ่นกระบอก แต่ก็มีน้ำหนักเบากว่ามาก ฝีมือการประดิษฐ์ก็ล้วนวิจิตร ประณีต สมกับที่ได้ชื่อว่า ‘หุ่นหลวง’ โดยแท้... ส่วนเครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับหุ่นหลวง มีลักษณะคล้ายกับ เครื่องแต่งกายของโขน ละคร..."
วิธีเชิดเล่นหุ่นหลวงนั้น นายจักรพันธุ์ โปษยกฤต ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า ผู้เชิดคงจะเชิดหุ่นให้อยู่เหนือระดับศีรษะ โดยผู้เชิดยืนจับแกนไม้ที่บังคับตัวหุ่น ยกชูขึ้นด้วยมือข้างหนึ่ง และใช้มืออีกข้างหนึ่ง คอยบังคับสายชัก ที่ร้อยจากอวัยวะต่างๆ ของหุ่นให้ออกมาทางก้น โดยห้อยลงมารวมกันที่แป้นไม้ ที่ตรึงติดอยู่กับแกนไม้ชิ้นที่สำหรับจับเชิด
นอกจากหุ่นหลวงซึ่งเป็นมหรสพที่เล่นในงานพระราชพิธีต่างๆ ที่มีมาแต่เดิมแล้ว ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีการประดิษฐ์หุ่น ที่มีขนาดความสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร เรียกกันว่า หุ่นเล็ก ด้วยเหตุนี้ ต่อมาจึงมีผู้เรียกหุ่นหลวงว่า "หุ่นใหญ่" ตามขนาดของหุ่น ผู้ประดิษฐฺ์หุ่นเล็ก คือ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ โดยทรงประดิษฐ์ขึ้น ๒ แบบ คือ หุ่นจีน เป็นลักษณะหุ่นมือ ใช้นิ้วเชิดบังคับให้เคลื่อนไหว หัว และหน้า เขียนสีต่างๆ รวมทั้งเครื่องแต่งกายเหมือนอย่างงิ้ว หุ่นจีนใช้เล่นเรื่องของจีน เช่น ซวยงัก สามก๊ก ส่วน หุ่นไทย ซึ่งมีขนาดเท่าหุ่นจีน เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ มีลักษณะเช่นเดียวกับหุ่นหลวง ใช้เล่นเรื่องรามเกียรติ์ หุ่นไทยเป็นหุ่นชักอย่างหุ่นหลวง หุ่นจีน และหุ่นไทย ของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญสร้างขึ้นอย่างวิจิตรประณีต ทั้งหุ่นจีน และหุ่นไทยนี้ ยังเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน โดยตั้งแสดงไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
อนึ่ง ยังมีการเล่นแสดงหุ่นอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า ละครเล็ก ซึ่งสันนิษฐานว่า เริ่มมีการเล่นเป็นมหรสพ ราว พ.ศ. ๒๔๔๔ โดยนายแกร ศัพทวนิช เป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้น ตัวหุ่นมีขนาดสูงประมาณ ๑ เมตร สร้างขึ้นเลียนแบบหุ่นหลวง และหุ่นเล็ก แต่ต่างกันที่การบังคับหุ่น และลีลาการเชิด ซึ่งเป็นศิลปะ ที่คิดสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ต่อมา เมื่อนายแกรถึงแก่กรรม นายทองอยู่ ศัพทวนิช ลูกชาย และนางทองหยิบ ลูกสะใภ้ ได้รับการสืบทอดต่อมาจนถึงวัยชรา จึงได้มอบตัวหุ่นละครเล็กที่ยังเหลืออยู่บ้างให้แก่ นายสาคร ยังเขียวสด (ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ในนามของโจหลุยส์) ซึ่งเป็นลูกของคนเชิดในคณะละครเล็ก ของนายแกร ตัวหุ่นละครเล็กที่นายแกรสร้างไว้ ซึ่งยังเหลืออยู่เพียง ๓๐ ตัว ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ
แต่เดิมตัวหุ่นละครเล็กที่สำคัญและเป็นตัวนายโรงจะใช้ผู้เชิด ๓ คน ส่วนตัวนาง และตัวตลกอื่นๆ จะใช้ผู้เชิด ๒ คนบ้าง หรือ ๑ คนบ้าง เรื่องราวส่วนใหญ่จะเป็นละคร เช่น พระอภัยมณี แก้วหน้าม้า จนกระทั่ง นายสาคร ยังเขียวสด ได้สร้างหุ่นละครเล็กขึ้นมาใหม่ และมีการพัฒนารูปแบบในการเชิด ให้ออกมาเชิดอยู่ด้านนอก เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นลีลาของผู้เชิดไปพร้อมๆกับหุ่น โดยหุ่น ๑ ตัว ใช้ผู้เชิด ๓ คน และมีการถ่ายทอดสู่บุตรชายหญิง โดยจัดตั้งคณะหุ่นขึ้นครั้งแรก ใช้ชื่อว่า คณะสาครนาฏศิลป์ละครเล็กหลานครูแกร และได้ก่อตั้งโรงละคร สำหรับจัดแสดงหุ่นละครเล็กขึ้นเป็นครั้งแรก ในประเทศไทย ซึ่งรู้จักกันในนาม นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก (โจหลุยส์) ในปัจจุบัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น