มอญรำ นาฏศิลป์ชั้นสูงของชาวมอญ

 มอญรำ นาฏศิลป์ชั้นสูงของชาวมอญ

มอญรำ
มอญรำ เป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของชาวมอญ มักแสดงในงานสำคัญๆ เช่น ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง รำหน้าศพ คนมอญเรียกการแสดงนี้ว่า ปัวฮะเปิ่น ปัว แปลว่า มหรสพ ฮะเปิ่น แปลว่า ตะโพน ซึ่งแปลตรง ๆ หมายถึงงานแสดงมหรสพที่อาศัยตะโพนเป็นหลัก ในการแสดงนั้นนักดนตรีและผู้รำจะต้องเข้าใจกัน โดยผู้รำจะต้องทิ้งมือให้ลงกับจังหวะของตะโพน

ประวัติ “มอญรำ” ในเมืองไทยนั้น นายพิศาล บุญผูก ชาวมอญเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี กล่าวไว้ว่า ย่าของตนชื่อนางปริก ชาวเรือหัก เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ มีพี่ชายชื่อเดช เป็นนักดนตรีปี่พาทย์มอญ พื้นเพเดิมอยู่ที่ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เคยไปรับจ้างแสดงดนตรีที่บ้านกะมาวัก เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่าเสมอ ๆ (ช่วงก่อนหน้านั้นชาวมอญถูกพม่ากวาดล้างและพยายามกลืนชาติ ไม่ให้มอญได้แสดงออกในศิลปวัฒนธรรมของตน นาฏศิลป์ ปี่พาทย์ มอญรำ จึงได้เลือนหายไปมาก หลังอังกฤษเข้าปกครองพม่าได้เปิดโอกาสให้ชนชาติต่าง ๆ ในพม่าได้แสดงออกในศิลปวัฒนธรรมของตน โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้อย่างเสรี ชาวมอญจึงมีการรวมตัวกันฟื้นฟูนาฏศิลป์ดนตรีของตนขึ้น ทว่ามีส่วนที่เลือนหายไปมาก จึงจำต้องติดต่อมายังมอญเมืองไทย เอาปี่พาทย์มอญไปเป็นแบบปรับปรุง) นายเดชจึงได้ไปพบท่ารำมอญโบราณ และนำมาถ่ายทอดให้กับน้องสาว (ย่าปริก) ต่อมาย่าปริกได้แต่งงานกับปู่ทอเจ่าะ ชาวไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี และที่สุดได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่เกาะเกร็ด ทำการถ่ายทอดวิชามอญรำให้กับลูกหลานสืบมาจนทุกวันนี้
ในงานราชพิธีสำคัญ งานเฉลิมฉลองของไทยนับจากอดีตจนปัจจุบัน มักโปรดฯ ให้มีการแสดงมอญรำด้วยทุกครั้ง เพราะถือว่าเป็นการแสดงชั้นสูง ดังเช่น จารึกที่วัดปรมัยยิกาวาส ที่กล่าวถึงมหรสพในงานฉลองสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้จารึกไว้ ดังนี้
มหรสพ         ครบเครื่องฟ้อน      ประจำงาน
โขนหุ่น          ละครขาน             พาทย์ฆ้อง
มอญรำ         ระบำการ             จำอวด เอิกเอย
ครึกครื้น        กึกปี่ก้อง              จวบสิ้นการฉลอง
สตรีมอญในอดีตจึงมักขวนขวายหาครูดี เพื่อขอถ่ายทอดวิชามอญรำมาไว้ติดตัว เพราะนอกจากการเป็นแม่บ้านแม่เรือน มีวิชาการครัว เย็บปักถักร้อยแล้ว การรำมอญยังเป็นวิชาหนึ่ง ซึ่งแสดงออกถึงความเป็นกุลสตรีมอญอย่างแท้จริง ด้วยลีลาอ่อนช้อยอ้อยอิ่ง แลดูท่ารำที่เรียบง่าย ทว่าแฝงไปด้วยความประณีตในการยักย้ายร่ายรำ เน้นการใช้สะโพก การพลิกพลิ้วของข้อมือ ทำให้มอญรำยังคงเปี่ยมเสน่ห์ ผู้คนให้ความสนใจ และทุกวันนี้ชุมชนมอญเกาะเกร็ด และชุมชนมอญอีกหลาย ๆ แห่ง ก็ได้เชิญครูมอยระเกาะเกร็ดไปถ่ายทอดวิชามอญรำโบราณให้กับเยาวชนในท้องถิ่น ตน ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจอย่างมาก อันแสดงให้เห็นว่า ลมหายใจของ “มอญรำ” ยังคงได้รับการสืบทอดแสดงตนอวดสายตาชาวโลกได้ตราบนานเท่านาน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน