รูปหนังตะลุง
รูปหนังตะลุง
รูปหนัง เป็นอุปกรณ์สำคัญในการแสดงหนังตะลุง หนังคณะหนึ่งๆ ใช้รูปหนังประมาณ ๑๕๐-๒๐๐ ตัว หนังตะลุงแกะโดยนายช่างผู้ชำนาญ ในจังหวัดหนึ่งๆ ของภาคใต้ มีเพียง ๒-๓ คนเท่านั้น ต้นแบบได้มาจากรูปหนังใหญ่ เพราะรูปเก่าแก่ที่เหลืออยู่เท้าเหยียบนาค มีอายุกว่า ๑๐๐ ปีไปแล้ว ต้นแบบสำคัญคือรูปเรื่องรามเกียรติ์ที่ฝาผนังรอบวัดพระแก้ว ผสมผสานกับรูปหนังของชวา ทำให้รูปกะทัดรัดขึ้นและมือหน้าเคลื่อนไหวได้ รูปหนังจะจัดเก็บไว้ใน แผงหนัง โดยวางเรียงอย่างเป็นระเบียบและตามศักดิ์ของรูป นั่นคือ เอารูปเบ็ดเตล็ดและรูปตลกที่ไม่สำคัญซึ่งเรียกรวมกันว่า รูปกาก ไว้ล่าง ถัดขึ้นมาเป็นรูปยักษ์ พระ นาง เจ้าเมือง ตัวตลกสำคัญ รูปปรายหน้าบท พระอิศวร และฤาษี ตามลำดับ
กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางแห่งศิลปะ ช่างภาคใต้ที่ไปพบเห็นก็ถ่ายทอดมาเป็นแบบ ช่างราม เป็นช่างแกะรูปหนังที่เก่าแก่คนหนึ่งของจังหวัดพัทลุง นอกจากแกะให้หนังภายในจังหวัดแล้ว ยังแกะให้หนังต่างจังหวัดด้วย รูปของช่างรามได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศ แม้ถึงแก่กรรมไปประมาณ ๖๐ ปีแล้ว ชื่อเสียงของท่านทางศิลปะยังมีผู้คนกล่าวขานถึงอยู่ท่านเลียนแบบรูปภาพ เรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระแก้วเริ่มแรกก็แกะรูปที่ นำไปแสดงเรื่องรามเกียรติ์อย่างเดียวจึงได้ชื่อว่า"ช่างราม" ครั้งหนึ่งท่านส่งรูปหนุมานเข้าประกวด ดูผิวเผินสวยงามมาก หัวของวานร ต้องเกิดจากวงกลม แต่ของช่างรามไม่อยู่ในกรอบของวงกลม จึงไม่ได้รับรางวัล
การละเล่นพื้นเมืองที่ได้ชื่อว่า"หนัง" เพราะผู้เล่นใช้รูปหนังประกอบการเล่านิทานหลังเงา การแกะรูปหนังตัวสำคัญ เช่น ฤาษี พระอิศวร พระอินทร์ นางกินรี ยังคงเหมือนเดิม แต่รูปอื่นๆ ได้วิวัฒนาการไปตามสมัยนิยมของผู้คน เช่น ทรงผม เสื้อผ้า รูปหนังรุ่นแรกมีขนาดใหญ่รองจากรูปหนังใหญ่ฉลุลวดลายงดงามมาก เป็นรูปขาวดำ แล้วค่อยเปลี่ยนรูปให้มีขนาดเล็กลง ระบายสีให้ดูสะดุดตายิ่งขึ้น
สมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เคร่งครัดทางด้านวัฒนธรรมมาก ออกเป็นรัฐนิยมหลายฉบับ ยักษ์นุ่งกางเกงขายาว สวมหมวก รูปตลก รูปนาง รูปพระสวมหมวก สวมเสื้อ นุ่งกางเกง นุ่งกระโปรง รูปหนังที่ออกมาแต่งกายมีผิดวัฒนธรรม ตำรวจจะจับและถูกปรับทันที
การแกะรูปหนังสำหรับเชิดหนัง ให้เด่นทางรูปทรงและสีสัน เมื่อทาบกับจอผ้า แสงไฟช่วยให้เกิดเงาดูเด่นและสะดุดตา กรรมวิธีแกะรูปหนังแบบพื้นบ้านนำหนังวัวหนังควายมาฟอก ขูดให้เกลี้ยงเกลา หนังสัตว์ชนิดอื่นก็นิยมใช้บ้าง เช่น หนังเสือใช้แกะรูปฤาษีประจำโรงเป็นเจ้าแผง
ในปัจจุบัน รูปหนังแกะจากหนังวัวอย่างเดียว ซื้อหนังจากร้านค้าที่ฟอกสำเร็จรูปอยู่แล้ว ทั้งสามารถเลือกหนังหนา บาง ได้ตามความต้องการ นายช่างวางหนังลงบนพื้นเขียงที่มีขนาดใหญ่ ใช้เหล็กปลายแหลมวาดโครงร่าง และรายละเอียดของรูปตามที่ต้องการลงบนผืนหนัง ใช้แท่งเหล็กกลมปลายเป็นรูคม เรียกว่า "ตุ๊ดตู่" ตอกลายเป็นแนวตามที่ใช้เหล็กแหลมร่างไว้ ส่วนริมนอกหรือส่วนที่เป็นมุมเป็นเหลี่ยมและกนกลวดลายอันอ่อนช้อย ต้องใช้มีดปลายแหลมคมยาวประมาณ ๒ นิ้ว มีด้ามกลมรี พอจับถนัดมือขุดแกะ ทั้งตุ๊ดตู่และมีดขุดแกะมีหลายขนาด เมื่อทำลวดลายตามที่ร่างไว้เสร็จตัดออกจากแผ่นหนัง เรียกว่ารูปหนัง รูปใดนายช่างเห็นว่าได้สัดส่วนสวยงาม นายช่างจะเก็บไว้เป็นแม่แบบ เพียงแตะระบายสีให้แตกต่างกัน รูปที่นิยมเก็บไว้เป็นแบบ มีรูปเจ้าเมือง นางเมือง รูปยักษ์ รูปวานร รูปพระเอก รูปนางเอก นำรูปแม่แบบมาทาบหนัง แกะไปตามรูปแม่แบบ ประหยัดเวลา และได้รูปสวยงาม ผลิตได้รวดเร็ว สีที่ใช้ระบายรูปหรือลงสี นิยมใช้น้ำหมึก สีย้อมผ้า สีย้อมขนม มีสีแดง เหลือง แสด ชมพู ม่วง เขียว น้ำเงิน และสีดำ ต้องผสมสีหรือละลายสีให้เข้มข้น ใช่พู่กันขนาดต่างๆ จุ่มสีระบาย ต้องระบายเหมือนกันทั้ง ๒ หน้า ระวังไม่ให้สีเปื้อน สีซึมเข้าในเนื้อของหนังเร็ว ลบออกไม่ได้
ช่างแกะรูปต้องมีความรู้ประวัติที่มาของรูป ศึกษาแบบของรูป จากรูปจริง จากรูปภาพ การเปลี่ยนอิริยาบทของรูปได้อย่างถูกต้อง การเบิกตา เบิกปากรูปต้องใช้เวทมนต์ประกอบด้วย ที่สำคัญต้องมีสมาธิอย่างแน่วแน่ เศษหนัง ทำเป็นมือรูป ริมฝีปากล่าง อาวุธต่างๆ ใช้ร้อยมือให้ติดกันเป็น ๓ ท่อน เพื่อให้มือเคลื่อนไหวได้
เมื่อสีแห้งสนิทแล้ว ลงน้ำมันยางใส เพื่อให้รูปเกิดเงาวาววับ เดี๋ยวนี้หาน้ำมันยางไม่ได้ ใช้น้ำมันชักเงาแทน จากนั้นติดไม้ตับ ติดไม้มือ รูปที่ชักปากได้ ติดคันเบ็ดผูกเชือกชักปาก เป็นอันว่าเป็นรูปหนังที่สมบูรณ์ ช่างแกะรูปหนัง นอกจากแกะจำหน่ายแก่คณะหนังตะลุงแล้ว ยังแกะจำหน่ายทั่วไป เพื่อนำไปประดับประดา อาคารบ้านเรือน ชาวต่างชาตินิยมกันมาก แต่ต้องทำอย่างประณีต บรรจง จึงจะจำหน่ายได้ราคาดี ช่างแกะรูปหนังหาความร่ำรวยมิได้ เพียงแต่พอดำรงชีพอยู่ได้เท่านั้น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น