คณะหุ่นกระบอก
คณะหุ่นกระบอก
เจ้าของคณะหุ่นกระบอกส่วนมากเป็นชาวบ้าน ที่เป็นคณะของเจ้านายมีอยู่บ้าง แต่มิได้ออกรับเล่นงานทั่วไป คณะที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยม คือ คณะหุ่นกระบอก ของหม่อมราชวงศ์เถาะ มีผู้ช่วยเชิดหุ่นที่มีความสามารถสูงหลายคน ผู้เชิดหุ่นคนหนึ่ง ที่รู้จักกันดี ตั้งแต่สมัยที่การแสดงหุ่นกระบอกเฟื่องฟู มาจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่า เป็นปรมาจารย์ทางด้านศิลปะ การเชิดแสดงหุ่นกระบอก คือ นายเปียก ประเสริฐกุล ซึ่งต่อมาคือ เจ้าของคณะหุ่นกระบอก คณะนายเปียก ประเสริฐกุล ที่ยังคงมีชื่อเสียง จนถึงปัจจุบัน
นายเปียกนั้นได้อาศัยอยู่ในบ้านของหม่อมราชวงศ์เถาะมาตั้งแต่วัยเยาว์ และหัดเชิดหุ่น จนสามารถเชิดได้ทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ ตัวลิง หรือแม้กระทั่งตัวตลก เมื่อคราวมงคลสมัย งานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน นายเปียกได้มีโอกาสติดตามคณะหุ่นกระบอก ของหม่อมราชวงศ์เถาะ ที่มาแสดงถวายตัวหน้าพระที่นั่งเป็นครั้งแรก เวลานั้นนายเปียกมีอายุเพียง ๑๖ ปี และรับบทเป็นคนเชิดหุ่นกระบอกตัวขุนช้าง ในการแสดงหุ่นกระบอกเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอนแต่งงานพระไวย นายเปียกเชิดหุ่นตัวขุนช้างซึ่งเป็นตัวตลกได้ดียิ่ง ปรากฏว่า บทเจรจาของตัวขุนช้าง ซึ่งนายเปียกเชิดแสดง เป็นที่ต้องพระทัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจน บรรดาข้าราชบริพารผู้โดยเสด็จเป็นอย่างมาก จึงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเงิน ๑ ถุง เป็นรางวัลพิเศษ ให้คนเชิดหุ่นกระบอกตัวตลกขุนช้างผู้นั้น
แม้ต่อมาภายหลัง จะมีหุ่นกระบอกคณะต่างๆ ตั้งขึ้นมากมายหลายคณะ ผู้ที่ต้องการหาหุ่นกระบอกคณะต่างๆ เหล่านี้ไปแสดง ต่างก็มีความจำนง ระบุความประสงค์ ให้มีนายเปียก ประเสริฐกุล ร่วมคณะไปเชิดหุ่นกระบอกด้วย ผู้ชมส่วนใหญ่จึงจะพอใจ ชื่อเสียงของนายเปียก ประเสริฐกุล จึงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ในเวลานั้น นายเปียกเองก็ได้ช่วยเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกัน โดยออกรับงาน ร่วมกับผู้เป็นเจ้าของคณะหุ่นกระบอกทั้งหลาย จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๔๒ นายเปียกจึงได้ตั้งคณะหุ่นกระบอกของตนเองขึ้น ชื่อเสียงคณะหุ่นกระบอก ของนายเปียก ประเสริฐกุล ปรากฏแพร่หลายเป็นที่รู้จักดี ในปัจจุบัน โดยมีนางชื้น สกุลแก้ว บุตรสาวของนายเปียก ได้สืบทอดคณะหุ่นกระบอกนี้ ต่อจากบิดา
ในคณะของหม่อมราชวงศ์เถาะ มีผู้เชิดหุ่นกระบอกที่มีชื่อเสียงเลื่องลือ เป็นที่รู้จักกันดียิ่งอีกคนหนึ่ง จนปรากฏชื่ออ้างถึงในสาส์นสมเด็จ โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ คือ นางเลียบ หรือที่บรรดาคนหุ่น ตลอดจน นักดนตรีไทยทั้งหลายในสมัยนั้น เรียกกันว่า "แม่ครูเคลือบ" ท่านผู้นี้สามารถเชิดหุ่นได้อย่างมีท่วงท่างดงาม จนได้มีโอกาสเชิดหุ่นกระบอกถวายหน้าพระที่นั่ง ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อนึ่ง แม่ครูเคลือบยังมีความสามารถในการขับร้องเป็นเลิศ และได้ใช้ชีวิตบั้นปลายในต่างจังหวัด ฝึกสอนลูกศิษย์หลายคน ให้เชิดหุ่นกระบอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดสมุทรสงคราม ลูกศิษย์ของแม่ครูเคลือบ ๒ คน ที่มีความสามารถอย่างมาก และได้ก่อตั้งคณะหุ่นกระบอกสืบต่อมา อีก ๒ คณะ คือ นางสาหร่าย ช่วยสมบูรณ์ เจ้าของคณะหุ่นกระบอกแม่สาหร่าย และครูวงษ์ รวมสุข ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของคณะหุ่นกระบอกชูเชิดชำนาญศิลป์
ในการนำศิลปะการเชิดหุ่นกระบอกไทย มาเผยแพร่ ในเขตปริมณฑลรอบนอกกรุงเทพฯ นอกจากการถ่ายทอดความรู้ของแม่ครูเคลือบแล้ว ยังมีคณะหุ่นกระบอกของ มหาอำมาตย์ตรี พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทัศนนิภาธร เรียกกันในชื่อสามัญว่า "หุ่นพระองค์สุทัศน์" เป็นคณะหุ่นกระบอกสำคัญ ที่ก่อให้เกิดความนิยมมหรสพชนิดนี้ ในภาคตะวันตกของประเทศไทย เหตุที่เน้นความสำคัญของภูมิภาคนี้ เนื่องจากต่อมาภายหลัง ถึงแม้ว่า ความนิยมหุ่นกระบอกไทย ในกรุงเทพฯ และในภูมิภาคอื่นๆ ได้เสื่อมถอยสร่างซาลง แต่บรรดาคณะหุ่นกระบอกในภาคตะวันตก ยังคงมีให้ได้ชมเป็นเครื่องมหรสพของสังคมอยู่บ้าง
คณะหุ่นกระบอกที่ยังสามารถรับงานแสดงในปัจจุบัน มีเหลืออยู่เพียงไม่กี่คณะ ส่วนมากออกรับงาน ในแถบภาคกลาง เช่น กรุงเทพฯ นครปฐม เพชรบุรี ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม นนทบุรี คณะหุ่นกระบอกที่ยังคงสามารถรวมเป็นคณะ และออกรับงานแสดงเป็นอาชีพได้ คือ หุ่นกระบอกคณะนายเปียก ประเสริฐกุล หุ่นกระบอกคณะชูเชิดชำนาญศิลป์ หุ่นกระบอกคณะดรุณีสี่พี่น้อง และคณะหุ่นแม่สังวาลย์ ส่วนคณะหุ่นกระบอกของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะหุ่นกระบอกของนายจักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๘ จนถึงปัจจุบันนั้น เป็นการจัดแสดง เพื่อการกุศล มิได้รับงานการแสดงทั่วไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น