ละครเสภา

 ละครเสภา

     เสภามีกำเนิดมาจากการเล่านิทาน เมื่อการเล่านิทานเป็นที่นิยมแพร่หลาย ทำให้เกิดมีการปรับปรุงแข่งขันกันขึ้น  ผู้เล่าบางท่านจึงคิดแต่งเป็นกลอน ใส่ทำนอง มีเครื่องประกอบจังหวะ คือ "กรับ" จนกลายเป็นขับเสภาขึ้น

     เสภามีมาแต่โบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่ามีขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ราว พ.ศ. ๒๐๑๑  เสภาในสมัยโบราณไม่มีดนตรีประกอบ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีปี่พาทย์บรรเลงประกอบ

     สมัยรัชกาลที่ ๓  นิยมพลงอัตรา ๓ ชั้น เพลงที่ร้องและบรรเลงในการขับเสภา ซึ่งเคยขับเพลง ๒ ชั้น ก็เปลี่ยนเป็น ๓ ชั้นบ้าง และใช้กันมาจนปัจจุบันนี้

     สมัยรัชกาลที่ ๕  ได้มีผู้คิดเอาตัวละครเข้าแสดงการรำและทำบทบาท ตามคำขับเสภาและร้องเพลง เรียกว่า "เสภารำ"  สมัยนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กวีช่วยแต่งเสภาเรื่อง นิทราชาคริต เพื่อใช้ขับเสภาในเวลาทรงเครื่องใหญ่  มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงคือ พวกขับเสภาสำนวนแบบนอก คือใช้ภาษาพื้นบ้านมาสนใจสำนวนหลวง

     สมัยรัชกาลที่ ๖  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา ช่วยกันชำระเสภาขุนช้างขุนแผน แก้ไขกลอนให้เชื่อมต่อกัน และพิมพ์เป็นฉบับหอสมุดแห่งชาติเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นแบบแผนของการแสดงขับเสภา ซึ่งต่อมากลายเป็นละครเสภา

     ผู้แสดง  นิยมใช้ผู้แสดงชายและหญิง ตามบทเสภาของเรื่อง 

     การแต่งกาย  แต่งกายตามท้องเรื่องคล้ายกับละครพันทาง

     เรื่องที่แสดง  มักจะนำมาจากนิทานพื้นบ้าน เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน ไกรทอง หรือเรื่องจากบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เช่น เรื่องพญาราชวังสัน สามัคคีเสวก

     การแสดง  ละครเสภาจำแนกตามลักษณะการแสดงไว้ ดังนี้

     ๑.  เสภาทรงเครื่อง  สมัยรัชกาลที่ ๔ วงปี่พาทย์ได้ขยายตัวเป็นเครื่องใหญ่ เมื่อปี่พาทย์โหมโรงจะเริ่มด้วย "เพลงรัวประลองเสภา" ต่อด้วย "เพลงโหมโรง" เช่น เพลงไอยเรศ เพลงสะบัดสะบิ้ง หรือบรรเลงเป็นชุดสั้นๆ เพลงครอบจักรวาล แล้วออกด้วยเพลงม้าย่องก็ได้  มีข้อความสำคัญว่า โหมโรงจะต้องลงด้วยเพลงวา จึงจะเป็นโหมโรงเสภา เมื่อปี่พาทย์โหมโรงแล้ว คนขับก็ขับเสภาไหว้ครูดำเนินเรื่อง  จากนั้นร้องส่งเพลงพม่าห้าท่อน แล้วขับเสภาคั่น ร้องส่งเพลงจระเข้หางยาวแล้วขับเสภาคั่น ร้องส่งเพลงสี่บทแลัวขับเสภาคั่น ร้องส่งเพลงบุหลันแล้วขับเสภาคั่น  ต่อไปไม่มีกำหนดเพลง คงมีสลับกันเช่นนี้ตลอดไป จนจวนหมดเวลา จึงส่งเพลงส่งท้ายอีกเพลงหนึ่ง เดิมใช้เพลงกราวรำ ต่อมาเปลี่ยนเป็นอกทะเล เต่ากินผักบุ้ง หรือพระอาทิตย์ชิงดวง  เดิมบรรเลงเพลง ๒ ชั้น ต่อมาประดิษฐ์เป็นเพลง ๓ ชั้น ที่เรียกว่า เสภาทรงเครื่อง คือ การขับเสภาแล้วมีร้องส่งให้ปี่พาทย์รับ

     ๒.  เสภารำ  เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕  กระบวนการเล่น มีคนขับเสภาและเครื่องปี่พาทย์ บางครั้งก็ใช้มโหรีแทน  มีตัวละครออกแสดงบทตามคำขับเสภา และมีเจรจาตามเนื้อร้อง  เสภารำมีแบบสุภาพและแบบตลก  ผู้ริเริ่มคือ ขุนรามเดชะ (ห่วง) บางท่านว่า ขุนราม (โพ) กำนันตำบลบ้านสาย จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเล่าลือกันว่าขับเสภาดี ผู้แต่งเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยา  สมัยรัชกาลที่ ๖ ขุนสำเนียงวิเวกวอน (น่วม บุณยเกียรติ) ร่วมกับนายเกริ่นและนายพัน คิดเสภาตลกขึ้นอีกชุดหนึ่งเลียนแบบขุนช้างขุนแผน โดยแสดงเรื่องพระรถเสนตอนฤาษีแปลงสาร

     ดนตรี  มักนิยมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าบรรเลง และมีกรับขยับประกอบการขับเสภา

     เพลงร้อง  มีลักษณะคล้ายละครพันทาง แต่จะมีการขับเสภาซึ่งเป็นบทกลอนสุภาพ แทรกอยู่ในเรื่องตลอดเวลา

     สถานที่แสดง  แสดงในโรงบนเวที มีการเปลี่ยนฉากตามท้องเรื่องอย่างละครดึกดำบรรพ์


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน