การแต่งกายโขน
การแต่งกายโขน แบ่งออกเป็น ๓ ฝ่าย คือ ฝ่ายมนุษย์เทวดา(พระ นาง) ฝ่ายยักษ์ ฝ่ายลิง (เชิญคลิกดูภาพ)
ลักษณะบทโขน ประกอบด้วย
บทร้อง ซึ่งบรรจุเพลงไว้ตามอารมณ์ของเรื่อง บทร้องแต่งเป็นกลอนบทละครเป็นส่วนใหญ่ อาจมีคำประพันธ์ชนิดอื่นบ้างแต่ไม่นิยม บทร้องนี้จะมีเฉพาะโขนโรงในและโขนฉากเท่านั้น
บทพากย์ การแสดงโขนโดยทั่วไปจะเดินเรื่องด้วยบทพากย์ ซึ่งแต่งเป็นคำประพันธ์ชนิดกาพย์ฉบัง ๑๖ หรือกาพย์ยานี ๑๑ บทมีชื่อเรียกต่าง ๆ ดังนี้
๑ พากย์เมือง หรือพากย์พลับพลา คือบทตัวเอก เช่น ทศกัณฐ์หรือพระรามประทับในปราสาทหรือพลับพลา เช่น
ครั้นรุ่งแสงสุริยโอภา พุ่งพ้นเวหา
คิรียอดยุคันธร
สมเด็จพระหริวงศ์ทรงศร ฤทธิ์เลื่องลือขจร
สะท้อนทั้งไตรโลกา
เสด็จออกนั่งหน้าพลับพลา พร้อมด้วยเสนา
ศิโรตมก้มกราบกราน
พิเภกสุครีพหนุมาน นอบน้อมทูลสาร
สดับคดีโดยถวิล
๒ พากย์รถ เป็นบทชมพาหนะและกระบวนทัพ ไม่ว่าจะเป็นรถ ม้า ช้าง หรืออื่นใดก็ได้ ตลอดจนชมไพร่พลด้วย เช่น
เสด็จทรงรถเพชรเพชรพราย พรายแสงแสงฉาย
จำรูญจำรัสรัศมี
อำไพไพโรจน์รูจี สีหราชราชสีห์
ชักรชรถรถทรง
ดุมหันหันเวียนวง กึกก้องก้องดง
เสทือนทั้งไพรไพรวัน
ยักษาสารถีโลทัน เหยียบยืนยืนยัน
ก่งศรจะแผลแผลงผลาญ
๓ พากย์โอ้ เป็นบทโศกเศร้า รำพัน คร่ำครวญ ซึ่งตอนต้นเป็นพากย์ แต่ตอนท้ายเป็นทำนองร้องเพลงโอ้ปี่ ให้ปี่พาทย์รับ เช่น
อนิจจาเจ้าเพื่อนไร้ มาบรรลัยอยู่เอองค์
พี่จะได้สิ่งใดปอง พระศพน้องในหิมวา
จะเชิญศพพระเยาวเรศ เข้ายังนิเวศน์อยุธยา
ทั้งพระญาติวงศา จะพิโรธพิไรเรียม
ว่าพี่พามาเสียชนม์ ในกมลให้ตรมเกรียม
จะเกลี่ยทรายขึ้นทำเทียม ต่างแท่นทิพบรรทม
จะอุ้มองค์ขึ้นต่างโกศ เอาพระโอษฐ์มาระงม
ต่างเสียงพระสนม อันร่ำร้องประจำเวร
๔ พากย์ชมดง เป็นบทตอนชมป่าเขา ลำเนาไพร ทำนองตอนต้นเป็นทำนองร้อง เพลงชมดงใน ตอนท้ายเป็นทำนองพากย์ธรรมดา เช่น
เค้าโมงจับโมงมองเมียง คู่เค้าโมงเคียง
เคียงคู่อยู่ปลายไม้โมง
ลางลิงลิงเหนี่ยวลดาโยง ค่อยยุดฉุดโชลง
โลดไล่ในกลางลางลิง
ชิงชังนกชิงกันสิง รังใครใครชิง
ชิงกันจับต้นชิงชัน
นกยูงจับพยูงยืนยัน แผ่หางเหียนหัน
หันเหยีบเลียบไต่ไม้พยูง
๕ พากย์บรรยาย เป็นบทขยายความเป็นมา ความเป็นไป หรือพากย์รำพึงรำพันใดๆ เช่น พากย์บรรยายตำนานรัตนธนู
เดิมทีธนูรัตน วรฤทธิเกรียงไกร
องค์วิศวะกรรมไซร้ ประดิษฐะสองถวาย
คันหนึ่งพระวิษณุ สุรราชะนารายณ์
คันหนึ่งนำทูลถวาย ศิวะเทวะเทวัน
ครั้นเมื่อมุนีทัก- ษะประชาบดีนั้น
กอบกิจจะการยัญ- ญะพลีสุเทวา
ไม่เชิญมหาเทพ ธก็แสนจะโกรธา
กุมแสงธนูคลา ณ พิธีพลีกรณ์
๖ พากย์เบ็ดเตล็ด เป็นบทที่ใช้ในโอกาสทั่วๆ ไป เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เข้าประเภทใด เช่นกล่าวว่า ใครทำอะไร หรือพูดกับใคร ว่าอย่างไร เช่น
ภูวกวักเรียกหนุมานมา ตรัสสั่งกิจจา
ให้แจ้งประจักษ์ใจจง
แล้วถอดจักรรัตน์ธำมรงค์ กับผ้าร้อยองค์
ยุพินทรให้นำไป
ผิวนางยังแหนงน้ำใจ จงแนะความใน
มิถิลราชพารา
อันปรากฏจริงใจมา เมื่อตาต่อตา
ประจวบบนบัญชรไชย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น