หุ่นกระบอก
หุ่นกระบอก
ความหมาย
คำว่า "หุ่น" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า"รูป, รูปแบบ, รูปตุ๊กตา, รูปแบบที่จำลองจากของจริงต่างๆ; ... ชื่อการเล่นมหรสพ ที่ใช้รูปหุ่น แสดงเป็นเรื่องราว เช่น หุ่นกระบอก หุ่นจีน, ..." ดังนั้น การเล่นหุ่น หรือการแสดงหุ่น ก็คือ การแสดงที่ใช้รูปจำลองที่มีกลไก ทำให้รูปจำลองนั้นเคลื่อนไหวได้โดยการเชิด หรือการชัก แทนการใช้ตัวคนในการดำเนินเรื่อง
ความนิยมในการเล่นแสดงหุ่นเป็นมหรสพ ในประวัติศาสตร์โลก
การแสดงหุ่นเป็นมหรสพอย่างหนึ่งที่มีมาช้านาน และเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ตามภูมิภาคต่างๆ ของโลก แม้จะไม่มีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่แน่ชัดว่า การเล่นหุ่นชนิดต่างๆ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อใด และมีในประเทศใดก่อนก็ตาม แต่ก็มีหลักฐานให้สันนิษฐานได้ว่า การเล่นหุ่นเกิดขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งฝ่ายโลกตะวันตก และฝ่ายโลกตะวันออก โดยมีปรากฏเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับหุ่นตุ๊กตา รูปเคารพหลากหลายชนิด ที่นำมาใช้ประกอบพิธีกรรมในโบสถ์หรือวิหาร ตามโอกาสต่างๆ ทั้งที่ประเทศอียิปต์ กรีซ อิตาลี อินเดีย และที่พระ หรือนักบวช นำเข้ากระบวนแห่ต่างๆ ด้วย หุ่นตุ๊กตารูปเคารพเหล่านี้สามารถขยับอวัยวะบางส่วนได้ เพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในศาสนา นอกจากการใช้หุ่นตุ๊กตารูปเคารพ เพื่อการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทั่วไปแล้ว ยังใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำศพอีกด้วย โดยมีผู้นำหุ่นตุ๊กตาจากสุสานแห่งหนึ่ง ในอียิปต์ออกแสดง และได้กลายเป็นการแสดงมหรสพในโรงละครหุ่นในเวลาต่อมา เป็นที่น่าประหลาดใจว่า หุ่นตุ๊กตารูปเคารพจำนวนมาก ที่ขุดค้นพบในประเทศอียิปต์ และประเทศเม็กซิโก ซึ่งอยู่ห่างไกลกันเกือบคนละซีกโลก มีลักษณะที่เหมือนกันมาก จนเกือบแยกกันไม่ออก
ในกลุ่มประเทศทางตะวันออก จากการศึกษาหลักฐานทางด้านคติชนวิทยาของอินเดีย มีข้อความเล่าว่า ในโบราณกาล ที่ประเทศอินเดีย มีการเล่นหุ่นเพื่อแสดงเป็นมหรสพ เช่นเดียวกับการพบหลักฐานที่ระบุว่า มีการแสดงหุ่นเป็นมหรสพในอีกหลายประเทศ เช่น สยาม ชวา พม่า ตุรกี เปอร์เซีย นอกจากนี้ ก็มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ชาวจีน และชาวญี่ปุ่น ชอบการแสดงหุ่นอย่างมากด้วย
ส่วนกลุ่มประเทศทางตะวันตก เช่น ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี หรือประเทศกรีซ การเล่นแสดงหุ่นก็ได้รับความนิยมอย่างสูง แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่การเล่นแสดงหุ่นต้องสูญสลายไป พร้อมกับการล่มสลายของอาณาจักรโรมัน ครั้นเมื่อคริสต์ศาสนาได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีก การเล่นแสดงหุ่นจึงกลับฟื้นคืนมา โดยมีการใช้หุ่นเชิดแสดงประกอบการเผยแผ่ศาสนา ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นครั้งแรก ที่ประเทศอิตาลี และต่อมาที่ประเทศฝรั่งเศส ครั้นถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เกิดความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน ของบุคคลในวงการศาสนา ถึงความเหมาะสม เกี่ยวกับการนำหุ่นมาเล่นแสดงในโบสถ์วิหาร จนถึงกับมีการห้ามเล่นแสดงหุ่นในโบสถ์ ผู้ที่นิยมการแสดงหุ่นจึงนำมาเล่นแสดงนอกโบสถ์ โดยเล่นที่บริเวณรอบๆ โบสถ์ และต่อมาก็นำไปเล่นทั่วๆ ไปในที่ชุมชน เช่น กลางตลาด แต่การเล่นแสดงหุ่นในยุคนั้น ยังคงเป็นไป เพื่อประโยชน์ในการเผยแผ่ศาสนา
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น