ละครร้อง
ละครร้อง
ละครร้องเป็นศิลปะการแสดงแบบใหม่ ที่กำเนิดขึ้นในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ปรับปรุงขึ้นโดยได้รับอิทธิพลจากละครต่างประเทศ ต้นกำเนิดละครร้องมาจากการแสดงของชาวมลายู เรียกว่า "บังสาวัน" ได้เคยเล่นถวายรัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตรครั้งแรกที่เมืองไทรบุรี และต่อมาละครบังสาวันได้เข้ามาแสดงในกรุงเทพฯ โรงที่เล่นอยู่ที่ข้างวังบูรพา พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงแก้ไขปรับปรุงเป็นละครร้องเล่นที่โรงละครปรีดาลัย คณะละครนี้ต่อมาได้เปลี่ยนเรียกชื่อว่า "ละครหลวงนฤมิตร" บางครั้งคนยังนิยมเรียก "ละครปรีดาลัย" อยู่ ต่อมาเกิดคณะละครร้องแบบปรีดาลัยขึ้นมากมาย เช่น คณะปราโมทัย ปราโมทย์เมือง ประเทืองไทย วิไลกรุง ไฉวเวียง เสรีสำเริง บันเทิงไทย นาครบันเทิง
ได้นิยมกันมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 และครั้งหลังสุด คือ โรงละครนาคบันเทิงของแม่บุนนาค กับโรงละครเทพบันเทิงของแม่ช้อย
นอกจากนี้ได้กำเนิดละครร้องขึ้นอีกแบบหนึ่ง โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงดัดแปลงละครของชาวตะวันตกจากละครอุปรากรที่เรียกว่า "โอเปอเรติก ลิเบรตโต" มาเป็นละครในภาษาไทย และได้รับความนิยมอีกแบบหนึ่ง
ละครร้องจึงแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. ละครร้องสลับพูด ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
2. ละครร้องล้วนๆ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 6)
ผู้แสดง
ละครร้องสลับพูด ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน ยกเว้นแต่ตัวตลก หรือจำอวด ใช้ผู้ชายแสดง
ละครร้องล้วนๆ ใช้ผู้ชายและผู้หญิงแสดงจริงตามเนื้อเรื่อง
การแต่งกาย
ละครร้องสลับพูด แต่งตามฐานะของตัวละคร
ละครร้องล้วนๆ แต่งแบบละครพันทาง หรือตามลักษณะของตัวละครในเรื่อง
เรื่องที่แสดง
ละครร้องสลับพูด แสดงเรื่อง ตุ๊กตายอดรัก ขวดแก้วเจียระไน เครือณรงค์ กากี ภารตะ สาวเครือฟ้า
ละครร้องล้วนๆ แสดงเรื่อง สาวิตรี
การแสดง
ละครร้องสลับพูด มีทั้งบทร้องและบทพูด ยึดถือการร้องเป็นส่วนสำคัญ มีลูกคู่คอยร้องรับอยู่ในฉาก ยกเว้นแต่ตอนที่เป็นการเกริ่นเรื่องหรือดำเนินเรื่อง ลูกคู่จะเป็นผู้ร้องทั้งหมด
ละครร้องล้วนๆ ตัวละครขับร้องโต้ตอบกัน และเล่าเรื่องเป็นทำนองแทนการพูด ดำเนินเรื่องด้วยการร้องเพลงล้วนๆ ไม่มีบทพูดแทรก มีเพลงหน้าพาทย์ประกอบอิริยาบถของตัวละคร จัดฉากประกอบตามท้องเรื่อง ใช้เทคนิคอุปกรณ์แสงสีเสียง เพื่อสร้างบรรยากาศให้สมจริง
ดนตรี
ละครร้องสลับพูด บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ไม้นวม หรืออาจใช้วงมโหรีประกอบ ในกรณีที่ใช้แสดงเรื่องเกี่ยวกับชนชาติอื่นๆ
ละครร้องล้วนๆ บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ไม้นวม
เพลงร้อง
ละครร้องสลับพูด ใช้เพลงชั้นเดียวหรือเพลง 2 ชั้น ในกรณีที่ตัวละครร้องใช้ซออู้คลอตามเบาๆ เรียกว่า ร้องคลอ
ละครร้องล้วนๆ ใช้เพลงชั้นเดียวหรือเพลง 2 ชั้น ที่มีลำนำทำนองไพเราะ
สถานที่แสดง
ละครร้องสลับพูด และละครร้องล้วนๆ มักแสดงตามโรงละครทั่วไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น