ประเภทของหุ่นและวิธีการแสดง

 ประเภทของหุ่นและวิธีการแสดง

ในภาษาอังกฤษมีคำที่หมายถึง "หุ่น" อยู่ ๒ คำ คือ พัปเพ็ต (Puppet) และ แมริโอเนตต์ (Marionette) โดยมีความหมายที่แตกต่างกัน คือ พัปเพ็ตเป็นหุ่นที่เชิด โดยใช้มือจับแกนลำตัวหุ่น แล้วเชิดจากด้านล่าง ส่วนแมริโอเนตต์เป็นหุ่นที่เชิด โดยการชักสายที่โยงจากส่วนต่างๆ ของหุ่น แล้วเชิดจากด้านบน

หุ่นที่เล่นแสดงตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก อาจจำแนกได้เป็น ๖ ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

๑. หุ่นมือ (Hand - puppet)

๒. หุ่นนิ้วมือ (Finger - puppet) 

๓. หุ่นสำหรับสร้างเป็นภาพยนตร์ (Stop - motion puppet)

๔. หุ่นกระบอก (Rod - puppet)

๕. หุ่นเงา (Shadow - puppet)  

๖. หุ่นชักสายเชิด (String - puppet หรือ Marionette)

หุ่นแต่ละประเภทมีความแตกต่างทั้งในรูปลักษณะ การสร้าง และวิธีเชิดแสดง

หุ่นมือ

มีตั้งแต่ขนาดเล็กๆ สำหรับให้เด็กเล่นแสดง ไปจนถึงขนาดใหญ่ที่มีความสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ใช้เชิดแสดงเป็นมหรสพสำหรับผู้เชิดระดับมืออาชีพ หุ่นมือมีลำตัวกลวง เพื่อให้ผู้เชิดสอดแขนเข้าไปได้ โดยใช้มือและนิ้วมือควบคุมบังคับการเคลื่อนไหวของตัวหุ่น ส่วนศีรษะของหุ่นมือ คือ อวัยวะหลักที่สำคัญมากของหุ่นประเภทนี้ ซึ่งวัสดุที่นำมาใช้ประดิษฐ์ มีหลายชนิด เช่น ลูกบอลยาง กระดาษแข็ง ถุงเท้ายัดนุ่น เศษผ้าหรือผ้าสักหลาด กระดาษปิดกาว เศษพลาสติก ยางหรือไม้ที่มีน้ำหนักเบา ศีรษะของหุ่นมือ ส่วนมากเคลื่อนไหวไม่ได้ แต่ในบางครั้งผู้ประดิษฐ์อาจสร้างให้ขยับขากรรไกร ดวงตา และใบหูได้ ศีรษะของหุ่นมือจะตรึงติดอยู่กับลำตัวหุ่นซึ่งมีลักษณะเป็นเสื้อคลุมหลวมๆ ตรงๆ ลงมา เพื่อให้ผู้เชิดสอดแขนเข้าไปได้ อวัยวะส่วนที่เป็นมือ มักใช้วัสดุประเภทเดียวกันกับศีรษะ แต่ให้มีขนาดไม่เหมือนธรรมชาติ สำหรับมือของหุ่น มักให้ถือสิ่งของต่างๆ ตามท้องเรื่อง

การเชิดไม่ซับซ้อนยุ่งยากเท่าหุ่นชนิดอื่น โดยทั่วไปผู้เชิดหุ่นมือใช้แขน และมือ สอดเข้าไปในถุงซึ่งเป็นลำตัวหุ่น และใช้นิ้วชี้สอดให้ตรงกับรูที่เชื่อมระหว่างลำตัวกับศีรษะหุ่น เพื่อบังคับส่วนศีรษะของหุ่น นิ้วโป้งและนิ้วกลางใช้บังคับมือและแขนทั้ง ๒ ข้างของหุ่น การเชิดแสดงหุ่นมือมีข้อจำกัดอยู่เพียงแค่ลำตัวส่วนครึ่งบนของตัวหุ่น อย่างไรก็ตาม หากผู้เชิดมีทักษะมากก็อาจให้หุ่นมือแสดงบทเดิน กระโดด เต้นรำ หรือวิ่งได้บ้างเหมือนกัน

เนื่องจากผู้ชมการแสดงหุ่นมือส่วนมากเป็นเด็ก เรื่องราว หรือเนื้อเรื่องของการแสดงหุ่นมือ ที่เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้แสดงคือ เรื่องตลก จำอวด หรือเทพนิยาย บทสนทนามีเพียงสั้นๆ ซึ่งส่วนมากผู้เชิดจะพูดเอง แต่การเชิดแสดง จะเน้นที่การเคลื่อนไหวมากๆ และเทคนิคการใช้เสียงประกอบมากกว่าบทสนทนา เรื่องที่เป็นแบบแผนและแนวนิยมของการแสดงหุ่นมือ คือ เรื่องซึ่งมีบทเกินธรรมชาติ ทั้งในด้านบุคลิกลักษณะการเคลื่อนไหว และเค้าโครงเรื่อง โรงที่ใช้แสดงหุ่นมือ ต้องสร้างให้มีเนื้อที่มากพอที่ผู้เชิดจะเคลื่อนไหวได้สะดวก ส่วนมากเว้นช่องว่างจากด้านล่าง เนื่องจากผู้เชิดหุ่นมือจะเชิดหุ่นจากด้านล่างของขอบเวทีโรงหุ่น


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน