ปี่พาทย์สำหรับเล่นละครรำ

 ปี่พาทย์สำหรับเล่นละครรำ
ปี่พาทย์ที่ไทยเรานำมาเล่นละครรำมี ๒ อย่าง ซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คือ ปี่พาทย์สำหรับเล่นละครชาตรีอย่าง ๑ ปี่พาทย์สำหรับเล่นโขนละครในสมัยกรุงศรีอยุธยาอย่าง ๑ 
ปี่พาทย์สำหรับเล่นละครชาตรี (โนราชาตรี) 
เครื่องดนตรีมี ปี่ใน (ภาคใต้เรียกว่าปี่ต้น) กลองขนาดย่อมลูกเดียว โทน (ภาคใต้เรียกทับ) ๒ ลูก ฆ้องคู่ (ภาคใต้เรียกว่า โหม่ง) ฉิ่งและกรับ (ภาคใต้เรียกว่า แกระ) 
ปี่พาทย์สำหรับเล่นโขนละครในสมัยกรุงศรีอยุธยา 
ใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า คือ ปี่ ระนาด ตะโพน (คือ โทนสองหน้า) กลองและฆ้องวง 
ละครชาตรีมีเครื่องทำเสียงสูงต่ำเป็นลำนำได้เพียงแต่ปี่อย่างเดียว แต่ปี่พาทย์เครื่องห้ามีเครื่องทำลำนำได้ ๓ อย่าง คือ ปี่ ระนาด และฆ้องวง 
ละครที่เล่นในสมัยกรุงศรีอยุธยา จนตลอดสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งละครหลวง และละครราษฎร์ ใช้ปี่พาทย์เครื่องห้าทั้งสิ้น เพิ่งจะมาเพิ่มเติมเครื่องปี่พาทย์ขึ้นเป็นเครื่องใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เพราะเกิดการเล่นเสภารับปี่พาทย์ สมัยรัชกาลที่ ๒ เสภาอย่างโบราณขับอย่างเล่านิทาน ไม่มีการส่งปี่พาทย์
ลักษณะที่สำคัญในการแสดงละครรำ
ละครรำมีลักษณะการแสดงแบ่งเป็น ๒ กระบวน คือ ใช้ร้องเป็นหลักกระบวนหนึ่ง ใช้ปี่พาทย์เป็นหลักกระบวนหนึ่ง 
๑. กระบวนที่ใช้ร้องเป็นหลัก 
ลักษณะที่ใช้ร้องละครเป็น ๓ จังหวะ คือ จังหวะช้า จังหวะกลาง และจังหวะเร็ว 
จังหวะช้า คือ
๑.๑ ร้องช้า ลูกคู่รับ ไม่ใช้ปี่พาทย์เรียกเป็นสามัญว่า "ร้องช้า" ในกระบวนร้องอย่างนี้ยังมีลำนำอื่นอีกหลายเพลงที่เรียกว่า "ช้าอ่านสาร" "ยานี" และ "ชมตลาด" เป็นต้น
๑.๒ ร้องช้าเข้ากับปี่ เรียกว่า "ช้าปี่" "โอ้ปี่" และ "โอ้ชาตรี" เป็นต้น
๑.๓ ร้องช้าเข้ากับโทน เช่น ร้อง "ลงสระ" และ "ชมดง" เป็นต้น 
จังหวะกลาง ละครร้องจังหวะกลางนั้น คือ "ร้องร่าย" มีแต่ลูกคู่รับ ไม่มีปี่พาทย์ ใช้ร้องพื้นเรื่องละคร เพราะฉะนั้นละครจึงร้องร่ายมากกว่าอย่างอื่น จังหวะเร็ว ละครร้องจังหวะเร็วนั้นพวกละครชาตรีเรียกว่า "ร้องสับ" ละครในกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า "ร้องสับไท" (สับ คือ ศัพทย) มีแต่ลูกคู่รับ ไม่ทำปี่พาทย์เหมือนกับร้องร่าย แต่จังหวะเร็วกว่า ใช้แต่เฉพาะเมื่อละครรำบทรุกร้น เช่น เวลาไล่กัน เป็นต้น 
๒. กระบวนละครที่ใช้ปี่พาทย์เป็นหลัก 
มี ๒ อย่างคือ ทำโหมโรงอย่าง ๑ ทำเพลงรำอย่าง ๑
๒.๑ โหมโรง คือ ปี่พาทย์จะบรรเลงในเวลาตัวละครแต่งตัวก่อนจะเล่น เป็นการบอกให้คนดูทราบว่าจะเริ่มเล่นละคร การโหมโรงของละครชาตรีใช้เพลงตามแบบเก่าบรรเลง เช่น "เพลงซัด" เพลง ๑ "เชิด" เพลง ๑ กับเพลง"เพลง" เพลง ๑ รวม ๓ เพลงเท่านั้น แต่โหมโรงอย่างละครนอก และละครใน ปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงเรื่องยืดยาวตามแบบโหมโรงของโขน อนึ่ง เวลาเลิกเล่น ปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงลาโรงอีกเพลงหนึ่ง คู่กับโหมโรงทำเพลง "กราวรำ" เพลงเดียว
๒.๒ เพลงรำ ปี่พาทย์บรรเลงเพลงรำของละครรำนั้นใช้จังหวะช้า จังหวะกลาง และจังหวะเร็ว ๓ อย่าง คล้ายกับจังหวะ ที่ละครร้องใช้ปี่พาทย์บรรเลง โดยลำพังอย่าง ๑ ใช้ร้องช่วยปี่พาทย์อีกอย่าง ๑ เป็น ๒ กระบวนซึ่งต่างกัน คือ 
กระบวนที่ ๑ ปี่พาทย์บรรเลงโดยลำพังนั้น เช่น รำเสมอ รำกลม รำเชิด เป็นต้น 
กระบวนที่ ๒ ร้องช่วยปี่พาทย์ ใช้สำหรับละครรำเพลงช้า เพลงเร็ว และเพลงเชิดฉิ่ง
เพลงช้า ตะโพนจะทำจังหวะ จ๊ะ โจ๋ง จ๊ะ ถิ่ง โจ๋ง ถึง และร้องบท "เย็นย่ำ จะค่ำอยู่แล้วลงรอนรอน" และ "ฉุยฉาย" เป็นต้น
เพลงเร็ว ตะโพนทำจังหวะ ต๊ะ ถึง ถึง และร้องบท หรือ"รักเจ้าสาวคำเอย" "แม่ศรีเอย" เป็นต้น
เชิดฉิ่ง ตีฉิ่งเป็นจังหวะเร็ว (ไม่ใช้ตะโพน) และร้องบท "หริ๊งหริ่งได้ยินเสียงฉิ่งก็จับใจ" เป็นต้น
 ละครรำของไทยเรา เดิมใช้ปี่พาทย์อย่างละครชาตรี ต่อมาจึงใช้ปี่พาทย์ของโขน (ดำรงราชานุภาพ : ตำนานเรื่องละครอิเหนา หน้า ๑๖-๒๘)


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน