ประเภทของโขน

ประเภทของโขน แบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ

๑  โขนกลางแปลง

๒  โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว

๓  โขนหน้าจอ

๔  โขนโรงใน

๕  โขนฉาก

 วิธีการแสดงโขนมีหลายชนิด แตกต่างกันด้วยวิธีการแสดง ดังจะอธิบายไปตามลำดับดังนี้ 

๑. โขนกลางแปลง คือ การเล่นโขนบนพื้นดิน ณ กลางสนาม ไม่ต้องสร้างโรงให้เล่น นิยมแสดงตอนยกทัพรบกัน โขนกลางแปลงได้วิวัฒนาการมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เรื่องกวนน้ำอมฤต เรื่องมีอยู่ว่า เทวดาและอสูรใคร่จะเป็นอมตะ จึงไปทูลพระนารายณ์ พระนารายณ์จึงแนะนำให้กวนน้ำอมฤต โดยใช้เขามนทคิรีเป็นไม้กวน เอาพระยาวาสุกรีเป็นเชือกพันรอบเขา เทวดาชักทางหาง หมุนเขาไปมา พระยาวาสุกรีพ่นพิษออกมา  พระนารายณ์เชิญให้พระอิศวรดื่มพิษนั้นเสีย พระอิศวรจึงมีศอสีนิลเพราะพิษไหม้  ครั้นกวนต่อไป เขามนทคิรีทะลุลงไปใต้โลก พระนารายณ์จึงอวตารเป็นเต่าไปรองรับเขามนทคิรีไว้  ครั้นได้น้ำอมฤตแล้ว เทวดาและอสูรแย่งชิงน้ำอมฤตกันจนเกิดสงคราม พระนารายณ์จึงนำน้ำอมฤตไปเสีย พวกอสูรไม่ได้ดื่มน้ำอมฤตก็ตายในที่รบเป็นอันมาก เทวดาจึงเป็นใหญ่ในสวรรค์  พระนารายณ์เมื่อได้น้ำอมฤตไปแล้ว ก็แบ่งน้ำอมฤตให้เทวดาและอสูรดื่ม พระนารายณ์แปลงเป็นนางงามรินน้ำอมฤตให้เทวดา แต่รินน้ำธรรมดาให้อสูร  ฝ่ายราหูเป็นพี่น้องกับพระอาทิตย์และพระจันทร์แต่ราหูเป็อสูร  ราหูเห็นเทวดาสดชื่นแข็งแรงเมื่อได้ดื่มน้ำอมฤต แต่อสูรยังคงอ่อนเพลียอยู่ เห็นผิดสังเกต จึงแปลงเป็นเทวดาไปปะปนอยู่ในหมู่เทวดา จึงพลอยได้ดื่มน้ำอมฤตด้วย  พระอาทิตย์และพระจันทร์จึงแอบบอกพระนารายณ์ พระนารายณ์โกรธมากที่ราหูตบตาพระองค์ จึงขว้างจักรไปตัดกลางตัวราหู ร่างกายท่อนบนได้รับน้ำอมฤตก็เป็นอมตะ แต่ร่างกายท่อนล่างตายไป  ราหูจึงเป็นยักษ์มีกายครึ่งท่อน  ราหูโกรธและอาฆาตพระอาทิตย์และพระจันทร์มาก พบที่ไหนก็อมทันที  เกิดเป็นราหูอมจันทร์หรือจันทรคราสและสุริยคราส  ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้ามาเทศนาให้ราหูเลิกพยาบาทจองเวร ราหูจึงได้คลายพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ออก

        การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เล่นในพิธีอินทราภิเษก มีปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา  โขนกลางแปลงนำวิธีการแสดงคือการจัดกระบวนทัพ การเต้นประกอบหน้าพาทย์ มาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ แต่เปลี่ยนมาเล่นเรื่องรามเกียรติ์ และเล่นตอนฝ่ายยักษ์และฝ่ายพระรามยกทัพรบกัน  จึงมีการเต้นประกอบหน้าพาทย์ และอาจมีบทพาทย์และเจรจาบ้างแต่ไม่มีบทร้อง

โขนกลางแปลง เป็นโขนที่แสดงกับพื้นดิน ที่เป็นลานกว้างใหญ่ สมมติพื้นที่นั้นเป็นกรุงลงกาด้านหนึ่ง เป็นพลับพลาพระรามด้านหนึ่ง ด้านกรุงลงกาสร้างเป็นปราสาทราชวัง มีกำแพงจำลองด้วยไม้และกระดาษ ด้านพลับพลา ก็สร้างพลับพลามีรั้วเป็นค่ายจำลอง เช่นเดียวกัน ปลูกร้านสูงประมาณ๒ เมตร ตั้งวงปี่พาทย์ด้านละวง คนเจรจามีด้านละ ๒ คนเป็นอย่างน้อย วงปี่พาทย์บรรเลง ประกอบกับการแสดงด้านที่วงประจำอยู่ แต่ถ้าเป็นส่วนกลาง เช่น การรบกันกลางสนามหรืออื่นๆ ก็แล้วแต่ วงไหนอยู่ใกล้ ก็เป็นผู้บรรเลง โขนกลางแปลงมีแต่พากย์กับเจรจาเท่านั้น


โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว 

 เป็นการแสดงบนโรงมีหลังคา ไม่มีเตียงสำหรับตัวโขนนั่ง แต่มีราวพาดตามส่วนยาวของโรงตรงหน้าฉาก (ม่าน)  มีช่องทางให้ผู้แสดงเดินได้รอบราวแทนเตียง มีการพากย์และเจรจา แต่ไม่มีการร้อง  ปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ มีปี่พาทย์ ๒ วง เพราะต้องบรรเลงมาก ตั้งหัวโรงท้ายโรง จึงเรียกว่าวงหัวและวงท้าย หรือวงซ้ายและวงขวา  วันก่อนแสดงโขนนั่งราวจะมีการโหมโรง และให้พวกโขนออกมากระทุ้งเส้าตามจังหวะเพลง  พอจบโหมโรงก็แสดงตอนพิราพออกเที่ยวป่า จับสัตว์กินเป็นอาหาร พระรามหลงเข้าสวนพวาทองของพราพ แล้วก็หยุดแสดง พักนอนค้างคืนที่โรงโขน รุ่งขึ้นจึงแสดงตามเรื่องที่เตรียมไว้ จึงเรียกว่า "โขนนอนโรง"

โขนนั่งราว เป็นการแสดงบนโรง เลียนแบบโขนกลางแปลง คือ ปลูกโรงสูงพอตาคนยืนดู ปูกระดานพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฉากแบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนกลางยาวประมาณ ๑๐ เมตร ทำภาพนูน เขียนสีเป็นป่าเขา ส่วนนอกด้านขวา (ของโรง) ยาวประมาณ ๓ เมตร ทำภาพนูนเขียนสี เป็นรูปพลับพลาและรั้ว สมมติเป็นพลับพลาพระราม ส่วนนอกด้านซ้ายยาวประมาณ ๓ เมตร ทำภาพนูน เขียนสีเป็นปราสาทราชวังมีกำแพงสมมติเป็นกรุงลงกา มีประตูเข้าออก ๒ ประตู อยู่คั่นระหว่างฉากส่วนกลางกับส่วนนอก ข้างละประตู ตรงหน้าฉากออกมา ห่างฉากประมาณ ๑.๕ เมตร ทำราวไม้กระบอก มีเสารับสูงประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ยาวเสมอขอบประตูข้างหนึ่งมาถึงขอบประตูอีกข้างหนึ่ง หัวท้ายของโรงทั้ง ๒ ข้าง ปลูกร้านให้สูงกว่าพื้น โรงประมาณ ๑ เมตร ตั้งวงปี่พาทย์ข้างละวง

วิธีแสดง ราวไม้กระบอกที่อยู่หน้าฉากนั้น เป็นที่สำหรับนั่ง วิธีนั่ง ถ้าหันหน้าไปทางขวาหรือซ้าย ก็เอาเท้าข้างนั้นพับนั่งบนราว อีกเท้าหนึ่งห้อยลงเหยียบพื้นโรง ฝ่ายพระรามจะนั่งค่อนมาข้างขวา พระราม (ตัวประธานฝ่ายมนุษย์) นั่งสุดราวด้านขวา หันหน้าไปทางซ้าย บริวารทั้งหมดนั่งบนราวตามลำดับเรียงไป หันหน้ามาทางขวา และฝ่ายลงกา (ฝ่ายยักษ์) ตัวประธาน นั่งสุดราวด้านซ้าย หันหน้ามาทางขวา บริวารทั้งหมดนั่งหันหน้ามาทางซ้าย ส่วนการแสดง ในตอนที่ไม่นั่ง ก็แสดงได้ทั่วพื้นโรง

ดำเนินเรื่องด้วยพากย์กับเจรจาเท่านั้น เหมือนโขนกลางแปลง 

ท่ารำ เป็นท่ารำที่ครบถ้วนตามแบบแผนศิลปะการรำ ทำบทตามถ้อยคำ และรำหน้าพาทย์ตามเพลงปี่พาทย์ 

วิธีบรรเลงปี่พาทย์ ทั้ง ๒ วงจะผลัดกันบรรเลงวงละเพลง ตั้งแต่โหมโรงเป็นต้นไปจนจบการแสดง

๓  โขนหน้าจอ  

คือโขนที่เล่นตรงหน้าจอ ซึ่งเดิมเขาขึงไว้สำหรับเล่นหนังใหญ่  ในการเล่นหนังใหญ่นั้น มีการเชิดหนังใหญ่อยู่หน้าจอผ้าขาว  การแสดงหนังใหญ่มีศิลปะสำคัญ คือการพากย์และเจรจา มีดนตรีปี่พาทย์ประกอบการแสดง  ผู้เชิดตัวหนังต้องเต้นตามลีลาและจังหวะดนตรี นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ต่อมามีการปล่อยตัวแสดงออกมาแสดงหนังจอ แทนการเชิดหนังในบางตอน เรียกว่า "หนังติดตัวโขน" มีผู้นิยมมากขึ้น เลยปล่อยตัวโขนออกมาแสดงหน้าจอตลอด ไม่มีการเชิดหนังเลย จึงกลายเป็นโขนหน้าจอ และต้องแขวะจอเป็นประตูออก ๒ ข้าง เรียกว่า "จอแขวะ"

๔  โขนโรงใน

  คือ โขนที่นำศิลปะของละครในเข้ามาผสม  โขนโรงในมีปี่พาทย์บรรเลง ๒ วงผลัดกัน  การแสดงก็มีทั้งออกท่ารำเต้น ทีพากย์และเจรจาตามแบบโขน กับนำเพลงขับร้องและเพลงประกอบกิริยาอาการ ของดนตรีแบบละครใน และมีการนำระบำรำฟ้อนผสมเข้าด้วย เป็นการปรับปรุงให้วิวัฒนาการขึ้นอีก การผสมผสานระหว่างโขนกับละครในสมัยรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒  ทั้งมีราชกวีภายในราชสำนักช่วยปรับปรุงขัดเกลา และประพันธ์บทพากย์บทเจรจาให้ไพเราะสละสลวยขึ้นอีก

        โขนที่กรมศิลปากรนำออกแสดงในปัจจุบันนี้ ก็ใช้ศิลปะการแสดงแบบโขนโรงใน ไม่ว่าจะแสดงกลางแจ้งหรือแสดงหน้าจอก็ตาม

๕  โขนฉาก

  เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีผู้คิดสร้างฉากประกอบเรื่องเมื่อแสดงโขนบนเวที คล้ายกับละครดึกดำบรรพ์ ส่วนวิธีแสดงดำเนินเช่นเดียวกับโขนโรงใน แต่มีการแบ่งเป็นชุดเป็นตอน เป็นฉาก และจัดฉากประกอบตามท้องเรื่อง จึงมีการตัดต่อเรื่องใหม่ไม่ให้ย้อนไปย้อนมา เพื่อสะดวกในการจัดฉาก  กรมศิลปากรได้ทำบทเป็นชุดๆ ไว้หลายชุด เช่น ชุดปราบกากนาสูร ชุดมัยราพณ์สะกดทัพ ชุดชุดนางลอย ชุดนาคบาศ ชุดพรหมาสตร์ ชุดศึกวิรุญจำบัง ชุดทำลายพิธีหุงน้ำทิพย์ ชุดสีดาลุยไฟและปราบบรรลัยกัลป์ ชุดหนุมานอาสา ชุดพระรามเดินดง ชุดพระรามครองเมือง

        การแสดงโขน โดยทั่วไปนิยมแสดงเรื่อง "รามเกียรติ์" กรมศิลปากรเคยจัดแสดงเรื่องอุณรุฑ แต่ไม่เป็นที่นิยมเท่าเรื่องรามเกียรติ์  เรื่องรามเกียรติ์ที่นำมาแสดงโขนนั้นมีหลายสำนวน ทั้งที่ประพันธ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์  โดยเฉพาะบทในสมัยรัตนโกสินทร์ นิยมแสดงตามสำนวนของรัชกาลที่ ๒ ที่กรมศิลปากรปรับปรุงเป็นชุดเป็นตอน เพื่อแสดงโขนฉาก ก็เดินเรื่องตามสำนวนของรัชกาลที่ ๒  รัชกาลที่ ๖ ก็เคยทรงพระราชนิพนธ์บทร้องและบทพากย์ไว้ถึง ๖ ชุด คือ ชุดสีดาหาย ชุดเผาลงกา ชุดพิเภกถูกขับ ชุดจองถนน ชุดประเดิมศึกลงกา และชุดนาคบาศ



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน