พิธีรำคล้องหงส์ (รำโนราโรงครูท่าแค)

 พิธีรำคล้องหงส์ (รำโนราโรงครูท่าแค)

        โนราโรงครูเป็นการแสดงโนราประกอบพิธีกรรมที่ปรากฏอยู่ในวิถีของคนภาคใต้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการแสดง ๓ ประการ คือ เพื่อเป็นการเคารพบูชาและแสดงความกตัญญูต่อวิญญาณบรรพบุรุษ เพื่อแก้บนหรือแก้เหมฺรย และเพื่อทำพิธีครอบครูโนราและรักษาโรคต่าง ๆ
        การแสดงโนราโรงครูจะมี ๒ ประเภท คือ ๑) การแสดงโนราโรงครูใหญ่ เป็นการแสดงโนราโรงครูสมบูรณ์แบบถูกต้องครบถ้วนตามประเพณีและนิยมแสดงโดยทั่วไปใช้เวลา ๓ วัน ๒ คืน ๒) การแสดงโนราโรงครูเล็กหรือโรงค้ำครู เป็นการแสดงเพื่อยืนยันว่าจะมีการจัดโรงครูใหญ่อย่างแน่นอน ใช้เวลาแสดง ๑ วัน ๑ คืน การแสดงโนราโรงครูซึ่งจัดโดยทั่วไปจะเริ่มในเดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายนเริ่มพิธีในวันพุธถึงวันศุกร์ การแสดงโนราโรงครูจะมีองค์ประกอบและรูปแบบการแสดงโนราสมบูรณ์ครบถ้วนทุกขั้นตอน ตั้งแต่การรำ การร้อง การแสดงเป็นเรื่อง และการบรรเลงดนตรีประกอบพิธีกรรมที่ทำให้เกิดศิลปะการแสดงโนราสืบทอดต่อมาอย่างยั่งยืน เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนในชุมชนเป็นเจ้าของและผู้ร่วมประกอบพิธีกรรมโดยเรียบง่ายไม่ซับซ้อนและเข้าถึงพิธีกรรมได้อย่างลึกซึ้ง
      องค์ประกอบและรูปแบบในการแสดงโนราโรงครู ประกอบด้วย การรำ มีรูปแบบการรำพื้นฐาน การรำขั้นสูงและการรำประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ รำสิบสองท่า รำสิบสองบท รำคล้องหงส์และแทงเข้ การร้อง ใช้รูปแบบการร้องรับของผู้รำและนักดนตรี คือ การร้องรับไม่ใช้ท่ารำ การร้องรับประกอบท่ารำ ได้แก่ ร้องรับบทกาดครู ร้องรับประกอบการรำทุกประเภท การแสดงเป็นเรื่อง เป็นรูปแบบของการแสดงละครจากวรรณกรรมพื้นบ้านเฉพาะตอนสำคัญต่อเนื่องกัน ๑๒ เรื่องและเลือกเรื่องมาแสดงเต็มรูปแบบของพิธีกรรมอีก ๒ เรื่อง เพื่อสร้างความศรัทธาในพิธีกรรมให้มากยิ่งขึ้น การบรรเลงดนตรีประกอบพิธีกรรม มีรูปแบบของจังหวะที่ใช้ประกอบพิธีกรรมแต่ละขั้นตอนโดยเฉพาะได้แก่ การเซ่นของสังเวยและประทับทรงใช้เพลงเชิด การเชิญวิญญาณใช้จังหวะเชิญตายาย การร่ายรำประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ใช้เพลงโค
ปัจจุบัน โนราโรงครูยังคงมีการสืบสานอย่างเคร่งครัดในหลายจังหวัด เช่น สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรัง เป็นต้น โดยเฉพาะในกลุ่มคณะมโนรายังประกอบพิธีกรรมโนราโรงครู รักษาจารีตขนบธรรมเนียมการแสดงและพิธีกรรมอย่างต่อเนื่อง
 
     ความสำคัญ/หลักการและเหตุผล
      โนราโรงครู มีผู้ให้ความหมายไว้หลายท่าน พอสรุปได้ดังนี้ โนราที่แสดงเพื่อประกอบพิธีเชิญวิญญาณครูหรือบรรพบุรุษที่เป็นโนรา ซึ่งเรียกว่า ตายายโนรา หรือ "ตาหลวง” มาเข้าทรงลูกหลานที่เป็นคนทรง วัตถุประสงค์ก็เพื่อ แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ เพื่อความมีสวัสดิมงคลแก่ชีวิตครอบครัว หรือเพื่อให้มารับการเซ่นวังเวย หรือเพื่อแก้บนตามที่ได้บนบานไว้ หรือเพื่อครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่แก่ผู้แสดงโนรารุ่นใหม่ ด้วยเหตุนี้จึงต้องเชิญครูมาเข้าทรงหรือมา "ลง” ยังโรงพิธี โนราที่จะเล่นลงครูได้ต้องมีความรอบรู้เรื่องพิธีกรรมในการรำลงครูเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้บางที่จึงเรียกโนราลงครูเป็น "โนราโรงครู”
 
 
     ความเชื่อ
     โนราโรงครูและพิธีกรรมในโนราโรงครู เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากการมารวมกลุ่มกันเพื่อประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อและความศรัทธาร่วมกัน การที่สมาชิกของสังคมมีความเชื่อทางศาสนาเหมือนกัน มีผลทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นภายในสังคม พิธีกรรมทางความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับชุมชนคือพิธีกรรมโนราโรงครู จะมีบทบาทสำคัญในการที่ทำให้ชาวบ้านต่างมีความรู้สึกร่วมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นำมาซึ่งความเป็นเอกภาพและสัมพันธภาพในสังคม เป็นการจัดระบบความสัมพันธ์ทางสังคมหรือการจัดระบบเครือญาติของชาวบ้านภาคใต้โดยอาศัยความเชื่อเรื่องครูหมอโนรา ถือว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านด้านความเชื่อที่มีส่วนในการสร้างพลังชุมชนและความมั่นคงในชุมชน นอกจากนี้การได้มากระทำกิจกรรมร่วมกันในพิธีกรรมโนราโรงครู ตั้งแต่การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับตายาย กินเลี้ยง รื่นเริงสนุกสนานด้วยกัน เป็นเหตุให้มีการรวมญาติมิตรที่อาศัยอยู่ห่างไกลได้กลับมาพร้อมกันอีกครั้ง การได้กลับมาพบกัน ทำกิจกรรมร่วมกันมีเป้าหมายอันเดียวกัน ก่อให้เกิดเอกภาพและสัมพันธภาพในสังคม ขณะเดียวกันความเชื่อและพิธีกรรมเหล่านี้ก็ได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง หล่อหลอมเชื่อมโยงเป็นระบบที่มีโครงสร้างสัมพันธ์กับระบบอื่นของสังคม กล่าวได้ว่านี่คือลักษณะเด่นของสังคมไทยและวัฒนธรรมไทยที่อาศัยประเพณีและพิธีกรรมทางความเชื่อในการรวมกลุ่มและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่สังคม
นอกจากนี้พิธีกรรมโนราโรงครูยังส่งผลต่อการปลูกฝังทัศนคติและค่านิยมแก่คณะโนรา ลูกหลาน ตายายโนราและชาวบ้านทั่วไป เป็นการแสดงออกถึงความสำนึกในความกตัญญูรู้คุณต่อครูบาอาจารย์ บิดามารดา พ่อแม่ตายาย ทั้งที่ล่วงลับแล้วและยังมีชีวิตอยู่ บุคคลที่ถูกเลือกเป็นคนทรงครูหมอโนรา จะต้องประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม มีเมตตากรุณา มีความซื่อสัตย์ ไม่ผิดลูกเมียผู้อื่น ตัดขาดจากอบายมุขทั้งปวง หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามก็ไม่ได้รับการยอมรับจากครูหมอโนราและยังจะถูกลงโทษด้วยวิธีการต่าง ๆ การปฏิบัติตนดังกล่าวนอกจากจะเป็นการควบคุมตนเองแล้วยังเป็นแบบอย่างแก่ชาวบ้านทำให้ได้รับความเชื่อถือ ศรัทธาจากชาวบ้านในสังคมนั้นด้วย
ความสำคัญของโนราโรงครู
พิธีกรรมในโนราโรงครูมีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ส่งเสริมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะการสืบทอดการรำโนรา นอกจากนี้พิธีกรรมบางอย่างที่ทำกันในโนราโรงครู ถือว่าเป็นพิธีกรรมที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์ เช่นพิธีครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่แล้วสามารถเป็นโนราใหญ่หรือนายโรงโนราและประกอบพิธีกรรมในโนราโรงครูต่อไปได้ อันเป็นการสืบทอดมรดกวัฒนธรรมด้านนี้จากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง เมื่อได้เป็นโนราใหญ่แล้วบางคนก็จะไปตั้งคณะโนราของตนเองและต้องมีผู้ร่วมคณะทั้งคนรำ คนแสดง และลูกคู่ ซึ่งเป็นผลโดยตรงของการสืบทอดการรำโนรา อันเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นหรือของภาคใต้ด้านโนราให้ดำรงอยู่สืบไปโดยตัวศิลปิน จึงเป็นอีกบทบาทและหน้าที่หนึ่งของศิลปินที่มีต่อปัจเจกบุคคลและสังคมในการทำหน้าที่ช่วยเหลือในการแก้ปัญหาพื้นฐานของสังคมทั้งการบำบัดอาการทางจิตและทางกายภาพ เช่น การบน การแก้บน การรักษาอาการป่วยไข้ เป็นต้น
โนราโรงครูเป็นพิธีกรรมประเภทรักษาโรค และสร้างขวัญกำลังใจ มีรูปแบบหรือลักษณะของการแสดงแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1.โนราโรงครูใหญ่ หมายถึงโนราโรงครูเต็มรูปแบบ ปกติการรำโนราโรงครูใหญ่ทำกัน 3 วันจึงจบพิธี เริ่มตั้งแต่วันพุธไปสิ้นสุดในวันศุกร์ และจะต้องทำกันเป็นประจำ เช่น ทุกปี ทุกสามปี ทุกห้าปี แล้วแต่จะกำหนด การรำเช่นนี้จำเป็นต้องใช้เวลาเตรียมการนาน ใช้ทุนทรัพย์ค่อนข้างสูง
2.โนราโรงครูเล็ก หมายถึง การรำโนราโรงครูแบบย่อ ใช้เวลารำเพียง 1 คืนกับ 1 วันเท่านั้นปกติ จะเข้าโรงครูในตอนเย็นของวันพุธไปสิ้นสุดในวันพฤหัสบดี
 
ขั้นตอนประกอบพิธีกรรม
การไปแสดงโนรา นั้นเมื่อเจ้าภาพเรียกหาไปแสดง จะมีการจัดเตรียม ‘ขันหมาก” ซึ่งประกอบด้วยหมากพูล 3 คำ ไปมอบให้หัวหน้าคณะ ถ้าโนรารับขันหมากไว้แสดงว่ารับจะไปแสดง เรียกว่า "ติดขันหมาก”
ยกเครื่อง
เมื่อคณะโนรามีกำหนดแน่นอนแล้วว่า จะไปแสดงที่ใด ก็จะเตรียมสิ่งของเครื่องใช้อุปกรณ์ต่างๆ ไว้ให้พร้อม ก่อนเดินทางนายโรงหรือหัวหน้าคณะพร้อมทั้งลูกคู่และผู้แสดงทุกคน จะต้องนำเครื่องดนตรีมารวมกันบนบ้านของนายโรง เพื่อทำพิธียกเครื่อง ผู้ทำพิธีอาจเป็นนายโรงหรือหมอเฒ่าประจำคณะ ผู้ทำพิธีจะ
บริกรรมคาถาพร้อมกับการบรรเลงของลูกคู่การบรรเลงดนตรีจะเริ่มด้ายการเป่าปี่ตามด้วยการตีกลอง ต่อด้วยทับโหม่ง ฉิ่งตามลำดับ การทำพิธีผู้ทำต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ถือว่าเป็นทิศมงคล ดนตรีจะบรรเลงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะบริกรรมคาถาเสร็จ
พิธีกรรมในวันแรก
เป็นวันพุธเย็นหรือย่ำค่ำที่ชาวบ้านปักษ์ใต้เรียกว่า "เวลานกชุมรัง” คณะโนราจะเข้าโรงโดยเจ้าภาพต้องนำหมากพลูไปรอรับที่หน้าบ้าน คณะโนราจะขน
อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องแต่งกายโนรา เทริด หน้า
พรานฯลฯเดินเข้าโรงพร้อมกับประโคมดนตรี หัวหน้า
คณะจะเป็นผู้นำเข้าโรงพร้อมกับนำเครื่องและอุปกรณ์
ต่าง ๆไปวางไว้ที่กลางท้องโรงเรียนกว่า "ตั้งเครื่อง”
ทุกคนจะเข้าประจำในโรงที่เจ้าภาพจัดไว้ให้ คณะ
โนราจะต้องให้ลูกคู่ ยกเว้นคนเป่าปี่บรรเลงเพลง 1
เพลง เพื่อประกาศให้ทราบว่า คณะโนรามาถึงแล้ว การ
บรรเลงจะเริ่มด้วยเสียงกลองตีรัวอย่างเดียวก่อน 1 ชุด
แล้วทับ โหม่ง ฉิ่งจะตีตามลำดับ
ได้เวลาจึงทำพิธีเบิกโรง เพื่อเชิญครูหมอโนราให้มาชุมนุมในโรงพิธี เริ่มจากเอาพานดอกไม้ธูปเทียน 2 พาน พานแรกวางไว้เป็นพานครู พานที่ 2 เอาเทียน 3 เล่ม หมาก 3 คำ ค่ากำนล 3 บาท หรือ 12 บาทเล็บสวมมือ 3อัน กำไลมือ 3 วง จัดใส่พานจุดเทียน 3 เล่ม พร้อมกับเทียนใหญ่ที่เรียกว่า "เทียนครู” นำเทียน 3 เล่มไปปักไว้ที่กลอง 1 เล่ม พร้อมกับหมากพลู 1 คำ อีก 2 เล่มปักไว้ที่ทับใบละ 1 ล่ม หมากพลูใบละ 1 คำ จุดเทียนที่เครื่องสังเวยบนหน้าพานหน้า ทาสี บนยอดเทริด โนราใหญ่ผู้ร่วมพิธียกพานหมากจุดเทียนอีก 1 เล่ม จับสายสิญจน์ที่ต่อจากเพดานหิ้งบูชาครูหมอโนราหรือตายายโนราบนบ้านเจ้าภาพมายังโรงโนรา ตั้งนะโม 3 จบกล่าวชุมนุมเทวดา กล่าวชุมนุมครู ทำพิธีซัดหมาก เอาหมากคำแรกวางไว้ที่กลอง ไปเหน็บหลังคาโรงเพื่อบูชาเทวดา หมากคำที่ 2 วางไว้ที่ทับใบแรกไปสอดไว้ใต้เสื่อเพื่อบูชานางธรณี หมากคำที่ 3 วางไว้ที่ทับใบที่ 2 พร้อมกับเทียน 1 เล่ม นำมาสอดเข้าไปในกำไลมือก่อน 3 รอบ แล้วจึงซัดเข้าไปในทับตีทับรัว ลูกคู่จะตีดนตรีอื่น ๆ ขึ้นพร้อมกันเป็นเสร็จพิธี
ต่อมาโนราจะ "ลงโรง” คือประโคมดนตรีล้วน ๆ ประมาณ 12 เพลง จบแล้วทำพิธีร้อง "กาศครู” โนราใหญ่จะแต่งตัวโนรากลางโรงพิธี (เดิมโนราทั่วไปจะแต่งตัวโนรากลางโรงพิธี เพื่อจับบทร้องและบทแสดงต่าง ๆ กล่าวคำบูชารัตนตรัย ครูบาอาจารย์ เทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เริ่มตั้งแต่บทร้องที่เรียกว่า "บทขานเอ” "บทหน้าแตระ” "บทเพลงโทน”
เมื่อกล่าวบทกาศครูจบแล้ว โนราใหญ่จะร้องบทที่ว่าด้วยประวัติความเป็นมาและขั้นตอนการจัดพิธีกรรมโนราโรงครูเรียกว่า "บทบาลีหน้าศาล” จากนั้นจึงกล่าวเชิญครูด้วยบทชุมนุมครูและบทเชิญครูแล้วโนราใหญ่และผู้เข้าร่วมพิธีจะพร้อมกันกราบครู โดยกราบพร้อมกันจำนวน 9 ครั้ง เมื่อกราบครูแล้วโนราใหญ่จะรำ "ถวายครู” คือร่ายรำด้วยบทต่าง ๆของโนราเพื่อบูชาครู ก็ถือว่าเป็นเสร็จพิธีในวันแรก คณะโนราจะช่วยกันยกเครื่องสังเวย เทริด หน้าพราน หน้าทาสี ฯลฯ ไปวางไว้บนศาลหรือพาไล เพื่อทำพิธีเซ่นไหว้ในวันรุ่งขึ้น จากนั้นจะเป็นการรำทั่วไปของคณะโนรา เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้มาร่วมพิธีและชาวบ้านทั่วไป
พิธีกรรมวันที่สอง
วันพฤหัสบดี ถือว่าเป็นวันครู วันนี้จะเริ่มพิธีตั้งแต่หัวรุ่งยังไม่สว่าง เป็นวันประกอบพิธีใหญ่ทั้งเพื่อการเซ่นไหว้ครู แก้บนและพิธีกรรมอื่น ๆ เริ่มตั้งแต่ลงโรง กาศครู เชิญครูด้วยเช่นเดียวกับวันแรก เพียงแต่วันนี้นอกจากจะเชิญครูให้มาชุมนุมแล้ว จะมีการเซ่นไหว้และแก้บนด้วย บทเชิญครูจึงแตกต่างไปจากวันแรกบ้าง ในขณะที่โนราเชิญครู ครูหมอโนราหรือตายายโนราก็จะเข้าทรงในร่างทรงซึ่งคนทรงจะเตรียมตัวเพื่อเข้าทรงอยู่บนบานเจ้าภาพหรือโรงโนรา คนทรงจะต้องนุ่งผ้าโจงกระเบนใส่เสื้อสีขาวหรือสีอื่น ๆ มีผ้าสไบพาดเฉียง ซึ่งส่วนใหญ่นิยมผ้าขาวและเตรียมเครื่องบูชาครู คือดอกไม้ธูปเทียนไปด้วย การเข้าทรงเรียกว่า "จับลง” จะเห็นได้จากอาการผิดปกติของคนทรง เช่น มือ แขน ขาสั่น ลำตัวโอนเอนไปมา เมื่อเข้าทรงเต็มตัวแล้ว คนทรงจะจุดเทียนลุกขึ้นร่ายรำตามเสียงเชิดของดนตรีลงมาจากบ้านเจ้าภาพ หากคนทรงอยู่ในโรงโนราจะลุกขึ้นร่ายรำเช่นเดียวกัน ครูหมอโนราหรือตายายโนราบางองค์ก็จะขึ้นไปบนศาลหรือพาไล เพื่อตรวจดูเครื่องสังเวยว่ามีสิ่งใดขาดหรือจัดไม่ถูกต้องก็จะทักท้วง เจ้าภาพต้องจัดหาหรือแก้ไขจนเป็นที่พอใจ ครั้นครูหมอโนราหรือตายายโนราลงมานั่งยังโรงพิธีแล้ว เจ้าภาพและลูกหลานก็จะเข้าไปกราบไหว้สอบถามเรื่องราวต่าง ๆ ขอลาภขอพรแล้วนัดแนะกับครูหมอโนราในเรื่องวันเวลาที่จะรำโรงครูในโอกาสต่อไป สำหรับการรับเครื่อง เมื่อทำพิธีเซ่นไหว้นั้น ครูหมอโนราหรือตายายโนราในบางแห่งจะใช้เทียนที่จุดแล้วส่องวนไปตามเครื่องสังเวยลาครูหมอแล้วจะเอาเทียนนั้นจ่อเข้าปากหรืออมควันเทียน โดยทั่วไปเวลาครูหมอโนราหรือตายายตายเข้าทรงในโนราเข้าทรงเต็มตัว ก็มักจะใช้เทียนจุดไฟแล้วจ่อเข้าปากเช่นกัน เรียกว่า "การเสวยดอกไม้ไฟ” เมื่อถึงเวลาจะออกจากร่างทรง ดนตรีจะทำเพลงเชิด คนทรงจะสะบัดตัวอย่างเเรง แล้วทุกอย่างกลับสู่สภาพปกติ เรียกว่า "บัดทรง” และ "จับบทตั้งเมือง” บทตั้งเมือง หมายถึง บทร้องเพื่อการจับจองพื้นที่โรงโนราเป็นกรรมสิทธิ์ของตนตามความเชื่อของโนราว่า
จะกล่าวกลับจับเรื่องเบื้องปฐม ยังไม่มีธานีศรีนิคม
ไม่บรมกษัตริย์ ขัตติยา
เมื่อคราวครั้งเมื่อตั้งพุทกัป นานนับถึงนี่หมื่นปีหวา
ผู้เฒ่าเล่าไว้เราได้จำมา นับเป็นเรื่องโบราโบรัมครั้งโบราณ
สมัยครั้งมนุษย์ยังนุ่งใบไม้ ป่าใหญ่พึ่งพักเป็นหลักฐาน
โลกนาถว่าศาสดาจารย์ ยังไม่ทำการแจ้งเหตุเทศนา...
สำหรับวันนี้หากมีผู้มาขอทำพิธีครอบเทริดโนราใหญ่ และผู้ช่วยอีกสองคนจะแต่งตัวเป็นพิเศษ เรียกว่า” แต่งพอก” เมื่อทำพิธีครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่ รวมทั้งผู้เข้ารับการครอบเทริดก็จะต้องแต่งพอกด้วย แต่ยังไม่ต้องสวมเทริด การแต่งพอกคือการนุ่งสนับเพลา แล้วนุ่งผ้าลายตามแบบโนรา เอาผ้าขาวม้าผืนหนึ่งพับเข้าเป็นชั้นๆ อย่างมีระเบียบตามจำนวนเทริดที่ตั้งบนพาไล และต้องจัดพอง ลา ให้ครบตามจำนวนผ้าที่พับ เพื่อเช่นไหว้ครูด้วยผ้าขาว แต่ละชั้นต้องใส่หมาก 1 คำ เทียน 1 เล่ม เงิน 1 บาท เมื่อพับและบรรจุแล้วก็นำมาพันไว้รอบสะเอว แล้วนำผ้าลายมาคลุมไว้ข้างหลังโดยมีผ้ารัด ที่ผ้ารัดมีพอกห้อยสะเอวข้างละอัน มีผ้าเช็ดหน้า 1 ผืน ในผ้าเช็ดหน้าจะมีหมาก 1 คำ เทียน 1 เล่ม เงิน 1 บาท ผูกเป็นช่อไว้ 1 ครั้ง เอาปลายข้างหนึ่งมาแขวนไว้ข้างสะเอว ต่อจากนั้นจึงนุ่งผ้าลายโดยปกติของโนราทับลงแล้วจึงใส่ผ้าห้อย หางหงส์ เครื่องลูกปัด และสวมเทริด เพื่อทำพิธีในขั้นต่อไป การเซ่นไหว้ครูหมอโนราหรือตายายโนรา หลังจากร้องบทเชิญครูแล้ว เจ้าภาพ ชาวบ้านหรือลูกหลานตายายโนราที่บนบานและสัญญาเอาไว้ว่าจะแก้บนด้วยสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นของคาวหวาน วัตถุเครื่องใช้หรือเครื่องแต่งตัวโนรา ก็จะนำมามอบให้กับโนราใหญ่พร้อมพานดอกไม้ธูปเทียน และเงินทำบุญที่เรียกว่า "เงินชาตายาย” ตามที่ได้บนเอาไว้ หรือตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน จากนั้นจะจุดเทียนที่เครื่องสังเวย เทียนบนยอดเทริด เทียนบนศาลหรือพาไล เทียนครูที่ท้องโรง รวมทั้งจุดเทียนเครื่องสังเวยหน้าหิ้งบูชาครูหมอโนราบนบ้านเจ้าภาพด้วย โนราใหญ่ผู้ร่วมพิธียกดอกไม้ธูปเทียนขึ้นบูชา จับสายสิญจน์พร้อมกัน โนราใหญ่กล่าวนำบูชาพระรัตนตรัย กล่าวชุมนุมเทวดา กล่าวชุมนุมครูหมอ กล่าวคำแก้บน เซ่นไหว้ และเชื้อเชิญครูหมอโนราหรือตายายโนรามารับเครื่องสังเวยและอวยพรแก่ลูกหลาน โนราใหญ่กล่าวคำอุทิศส่วนกุศลไปให้ครูหมอโนราหรือตายายโนรา แล้วนำเอาหมากพลูมาบริกรรมคาถามอบให้ผู้มาแก้บนทุกคนๆละ1 คำ นำไปกินเพื่อความเป็นสิริมงคล เรียก "หมากจุกอก” เสร็จพิธีเซ่นไหว้และแก้บนด้วยสิ่งของแล้วโนราทั่วไปจะรำถวายครู
 
     รูปแบบการแสดง
    
การรำสอดเครื่องสอดกำไลและพิธีตัดจุก หลังจากโนราทั่วไปรำถวายครูแล้วก็จะมีการรำสอดเครื่องเพื่อให้ครูโนราได้ยอมรับการเป็นโนรา โดยเฉพาะโนราที่ผ่านการฝึกใหม่ๆ ส่วนการรำสอดกำไลหรือ ไหมร เป็นพิธีกรรมเพื่อรับศิษย์เข้าฝึกการรำโนราทั้งที่เคยหัดรำมาแล้วและยังไม่เคยหัดรำมาก่อน โดยผู้ปกครองจะนำลูกหลานของตนพร้อมพานดอกไม้ธูปเทียนและเงิน 12 บาท ไปกราบครูโนราใหญ่รับมอบเครื่องโนราแล้วก็สอบถามเพื่อยืนยันความสมัครใจและคำยินยอมจากผู้ปกครอง จากนั้นนำกำไลมาสวมให้ประมาณ 3 วง แล้วจับมือทั้งสองของเด็กยกขึ้นตั้งวง เพื่อเอาเคล็ดในการรำโนรา ส่วนการรำสอดเครื่องหรือที่เรียกว่า”จำผ้า” ผู้เข้าพิธีต้องจัดพานดอกไม้ธูปเทียนและเงิน 12 บาทไปกราบครูโนรา เมื่อได้รับการยืนยันถึงความสมัครใจแล้ว โนราใหญ่จะรดน้ำมนต์ เสกเป่าด้วยคาถา แล้วมอบเครื่องแต่งตัวโนราที่เรียกว่า "เครื่องต้น” ให้ผู้เข้าทำพิธีไปแต่งตัวและออกมารำถวายครู โดยรำบทครูสอนบทสอนรำ ตามเวลาอันสมควรเป็นเสร็จพิธี จากนั้นจึงทำพิธีตัดจุก โดยผู้ปกครองนำพานดอกไม้ธูปเทียน เงิน 12 บาท มามอบให้โนราใหญ่พร้อมกับตัวเด็ก คณะโนราจะให้เด็กนั่งลงบนผ้าขาวโนราใหญ่และครูหมอโนราองค์สำคัญๆในร่างทรง เช่นพระม่วงทวง ขุนศรีศรัทธา ทำพิธีร่ายรำถือไม้หวายเฆี่ยนพรายและกริช พร้อมกับนำน้ำมนต์มาประพรมที่ศีรษะเด็กและเอามือจับที่จุกของเด็ก บริกรรมคาถา ดนตรีเชิด จากนั้นจึงให้กริชตัดจุกของเด็กพอเป็นพิธีเสร็จแล้วประพรมน้ำมนต์อีกครั้ง ส่งตัวเด็กให้พ่อแม่และผู้ปกครองพาเด็กไปตัดหรือโกนผมจริงต่อไป
แต่ในวันดังกล่าว เมื่อโนรายกแสดงเสร็จ เจ้าบ้านจะจูงโนรายกขึ้นไปยังห้องครูหมอ เจ้าบ้านจะนำถาดบรรจุ รวงข้าว แหวนทอง และเงินพร้อมขันน้ำวางไว้ โนรายก นำเท้าทั้ง 2 ข้างวางไว้บนถาดที่บรรจุสิ่งของเหล่านั้น จากนั้นก็จะถอดเครื่องโนราทั้งหมดให้กับผู้ที่จะรับสืบสายโนราต่อ เรียกว่า "แกะพอก” เป็นอันเสร็จพิธีในวันที่ 2 หลังจากนั้นช่วงกลางคืนก็จะเป็นการแสดงของคณะโนราเพื่อความบันเทิง
ตัวอย่างบทครูสอน
ครูเอยครูสอน เสดื้องกรต่อง่า
ครูสอนให้ผูกผ้า สอนข้าให้ทรงกำไล
ครูสอนให้ครอบเทริดน้อย ท่าจับสร้อยพวงมาลัย
ครูสอนให้ทรงกำไล ใส่แขนซ้ายย้ายแขนขวา
ครูให้เสดื้องเยื้องข้างซ้าย ตีค่าได้พระพารา
ครูให้เสดื้องเยื้องข้างขวา ตีค่าได้ห้าตำลึงทอง
ตีนฉันถีบพนัก สองมือชักเอาแสงทอง
พาไหนให้ได้เหมือนน้อง ทำนองพระเทวดา
ตัวอย่างบทสอนรำ
สอนเอยสอนรำ ครูข้าให้รำเทียมบ่า
ออว่าปลดปลงลงมา ครูข้าให้รำเทียมพก
ท่านี้วาดไว้ฉายอก กนกเป็นแพนพาลา
ท่านี้ชูสูงเสมอหน้า เรียกช่อระย้าพวงดอกไม้
ออว่าปลดปลงลงมาได้ ครูให้ข้ารำโคมเวียน
รำท่ากนกรูปวาด วาดไว้ให้เหมือนกับรูปเขียน
รำท่ากนกโคมเวียน รำท่ากระเชียรปาดตาล...
พิธีครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่ พิธีครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่จะทำหลังจากพิธีตัดจุกแล้ว หากผู้เข้าพิธีไม่เคยตัดจุกจะต้องทำพิธีตัดจุกก่อนเพื่อแสดงว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว และจะต้องมีอายุครบ 22 ยังไม่แต่งงาน หากแต่งงานแล้วก็จะต้องทำใบหย่าร้างโดยสมมุติกับภรรยาเพื่อมิให้เป็นปราชิกตามความเชื่อในอดีต เมื่อครอบเทริดแล้วจะต้องไปรำโนราเมื่อครบ 3 ครั้ง เรียกว่า "รำ 3 วัด” หรือ "3 บ้าน” แล้วจึงมาเข้าพิธีอุปสมบทจึงจะถือว่าเป็นโนราโดยสมบูรณ์ แต่ในปัจจุบันสามารถอุปสมบทได้เลย พิธีครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่ เริ่มโดยผู้เข้าพิธีจัดพานดอกไม้ธูปเทียน และเงิน 12 บาทเข้าไปกราบครูโนรา โนราใหญ่จะจัดให้นั่งบนขันสิบสองนักษัตรที่วางคว่ำครอบขันอีกใบหนึ่ง ซึ่งใส่น้ำ มีดโกน หินลับมืด ใบเงิน ใบทองหลาง ใบยอ แต่บางแห่งเอาใบยอกับใบทองหลางมาวางซ้อนกันบนเสื่อกลางโรงให้ผู้เข้าพิธีนั่งบน หรือที่นั่งตอนจะผูกเทริดห้อยไว้โดยมีสายสิญจน์หนึ่งโยงไปให้โนราใหญ่ ซึ่งตอนนี้เรียกว่า "อุปัชฌาย์ โนราอีก 2 คนเรียกว่า "คู่สวด” เส้นหนึ่ง หากผู้เข้พิธีนิมนต์พระสงฆ์มาในพิธีด้วย ก็จะผูกโยงสายสิญจน์ไปให้พระภิกษุถือไว้เป็นเส้นหนึ่ง อีกเส้นหนึ่งผูกโยงไปให้บิดาและญาติพี่น้องของผู้เข้าพิธีถือไว้ เมื่อจะครอบเทริด ผู้ถือสายสิญจน์ทั้ง 3 เส้น จะค่อยๆ ผ่อนเชือกหย่อนเทริดลงมา โนราคนใดคนหนึ่งจะจับเทริดให้ครอบลงบนศีรษะพอดี ขณะที่หย่อนเทริด หากไม่มีพระภิกษุในพิธี โนราใหญ่และโนราผู้ช่วยจะสวดมนต์เช่นเดียวกับพระให้ชยันโต เมื่อเสร็จแล้ว ด้ายที่ผูกเทริดจะพันเทริดเอาไว้ จากนั้นโนราใหญ่ก็ทำพิธีมอบเครื่องหมายความเป็นโนราหรืออุปกรณ์ในการรำ มีพระขรรค์ หอกแทงเข้ (จระเข้) เป็นต้น เพื่อแสดงว่าได้เป็นโนราใหญ่ และสามารถประกอบพิธีโนราโรงครูได้ต่อไป หลังจากนั้น โนราที่ได้รับการครอบ เทริด จะรำถวายครู โดยเริ่มรำที่นักหรือพนัก ซึ่งจัดเตรียมไว้ตั้งแต่บทสรรเสริญครู บทครูสอน บทสอนรำ บทประถม และรำทำบทพอเป็นพิธี เป็นอันแล้วเสร็จ
ตัวอย่างบทสรรเสริญครู
คุณเอยคุณครู เหมือนฝั่งแม่น้ำพระคงคา
คืนคืนจะแห้งไหลมา ยังไม่รู้สิ้นรู้สุด
สิบนิ้วลูกยกขึ้นดำเนิน สรรเสริญถึงคุณพระพุทธ
จำศีลอยู่แล้วยังไม่รู้สิ้นสุด ไหว้พระเสียก่อนต่อสวดมนต์
ไหว้พระพุทธพระธรรมเจ้า ยกไว้ใส่เกล้าใส่ผม...
ตัวอย่างบทประถม
ตั้งต้นรำท่าปฐม ถัดมาพระพรหมสี่หน้า
รำท่าสอดสร้อยให้เป็นพวงมาลา รำท่าอีโหยนโยนช้าให้น้องนอน
รำเป็นท่าผาลาเพียงไหล่ ท่าพิสมัยรวมเรียงเคียงหมอน
รำกันท่าต่างกันหันเป็นมอน ท่ามรคาแขกเต้าบินเข้ารัง
รำท่ากระต่ายชมจันทร์รำท่าพระจันทร์ทรงกลด รำท่าพระรถโยนสารมารกลับหลัง...
พิธีแก้บน ด้วยการรำโนราถวายตายายครูและการรำออกพรานหรือจับบทออกพราน หลังจากพิธีครอบเทริดแล้ว โนราหรือชาวบ้านที่ได้บทพรานหรือขอความช่วยเหลือครูหมอโนราหรือบนบานเพราะถูกตายายลงโทษและได้สัญญาไว้ว่าจะแก้บนด้วยการรำโนราหรือจับบทออกพรานจะมาแก้บนกันในตอนนี้โดยช่วงเช้าจะแก้บนได้เฉพาะผู้ที่จะแก้บนด้วยการรำโนรา เริ่มตั้งแต่แต่งตัวแล้วนำพานดอกไม้ธูปเทียน เงิน 12 บาทหรือตามที่ครูโนราใหญ่หรือผู้ช่วยจะเป็นผู้นำในการรำ แล้วให้ผู้แก้บนรำตาม บทที่ใช้รำแก้บน มีสรรเสริญครู บทครูสอน บทสอนรำ ซึ่งจะรำบทต่าง ๆพอเป็นพิธี จบแล้วไปกราบครูโนราอีกครั้งและรับการประพรมน้ำมนต์ ส่วนการแก้บนด้วยการออกรำพรานหรือจับบทออกพรานจะแก้บนได้ในเวลาที่เลยเที่ยงวันไปแล้วผู้แก้บนจะต้องแต่งตัวพราน นำเครื่องบูชามามอบให้โนราใหญ่เช่นเดียวกับการแก้บนด้วยการรำโนรา โนราใหญ่หรือผู้ช่วยจะเป็นผู้นำในการจับบทออกพรานแล้วให้ผู้แก้บนรำตาม
พิธีร้องบน เป็นพิธีกรรมที่โนราโรงครู
ทำพิธีให้กับผู้ที่บนบานหรือสัญญาไว้ว่าขอให้หายจาก
โรคภัยใข้เจ็บหรือสมปราถนาในสิ่งที่ต้องการ แล้วทำ
ตามสัญญานั้นๆ การร้องบนนี้โนราไม่ต้องแต่งเครื่อง
โนราแต่ยังคงใช้เครื่องเซ่น เช่นเดียวกับพิธีแก้บน
พิธีผูกผ้าปล่อย เป็นการประกอบพิธีเพื่อตัดขาดจากความเป็นโนราและไม่ถูกครูหมอโนราหรือตายายโนราลงโทษ การทำพิธีผูกผ้าปล่อยอาจทำในเวลากลางคืนของวันพฤหัสบดีก็ได้ ผู้เข้าพิธีเตรียมพานดอกไม้ธูปเทียน เงิน 12 บาท มามอบให้โนราใหญ่ กราบขอขมาครูโนราและบอกความจำเป็นที่ต้องเลิกรำโนรา จากนั้นโนราใหญ่จะมอบเครื่องแต่งตัวโนราให้ผู้เข้าร่วมพิธีนำไปแต่งตัวแล้วออกมารำโนราเป็นครั้งสุดท้ายอย่างเต็มความสามารถ จบแล้วโนราใหญ่จะเรียกไปถามคำยืนยันอีกครั้ง จากนั้นโนราใหญ่บริกรรมคาถาให้ตัดขาดจากความเป็นโนราแล้วให้ผู้เข้าพิธีออกไปนอกโรงโนราและถอดเครื่องแต่งตัวโนราออกแล้วนำเครื่องแต่งตัวโนราทั้งหมดส่งให้โนราใหญ่โดยต้องส่งมาทางข้างหลังตนเอง และไม่หันไปมองโรงโนราเป็นเสร็จพิธี ในวันที่สอง เมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรมต่าง ๆ แล้วก็จะเป็นการรำทั่วไปเพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม และถือว่าเป็นการรำถวายครูด้วย
พิธีกรรมวันที่สาม คือวันศุกร์อันเป็นวันสุดท้ายของพิธีกรรมโนราโรงครูใหญ่โดยเริ่มตั้งแต่ลงโรงกาศครู เชิญครู และรำทั่วไปเพื่อถวายครูเช่นเดียวกับวันที่หนึ่งและวันที่สองจากนั้นคณะโนราก็จะรำบทที่เรียกว่า "สิบสองบทสิบสองเพลง” เช่น บทสอนรำ บทประถม บทนางนกจอก บทนกเป็ดกาน้ำ บทพระสุธนนางมโนห์รา บทไกรทอง ดังตัวอย่างเช่น
บทนางนกจอก
นางนกกระจอกบินออกชายคา พือปีกวาวาจะข้ามสาคร
ข้าไปไม่ได้เพราะปีกหางยังอ่อน บินข้ามสาครฉันนั้นน้องหนา
นางนกกระจอกบินออกชายคา พือปีกวาวาจะข้ามเลหลวง
ข้ามไปไม่ได้เพราะปีกหางยังร่วง บินเข้าเลหลวงฉันนั้นน้องหนา
นางนกกระจอกบินออกชายคา พือปีกวาวาจะข้ามสมุทร
ข้ามไปก็ได้สบายที่สุด ว่าบินข้ามเลยมหาสมุทร
บทไชชาย หรือ บทนกเป็ดกาน้ำ
โน่นไอไหรดำดำ และเหมือนกาน้ำไล่ปลา
หักเงี้ยงโยนมา ช่างเร็วกะหวามือคน
ไชชายเข้ามายืนมองเห็น จึงเอามาเรียนเล่นกล
โยนหลกโกลาหล มันโยนแต่ซ้ายรับขวา
พระผู้เป็นเจ้าแลเห็น ก้าวเธอจึงร้องตามไป
ไอ้ไชชายเหอไชชาลา วิชานี่หนาเรียนมาแต่ข้างไหน...
การเหยียบเสน หลังจากโนรารำบทสิบสองบทสิบสองเพลงแล้วก็จะทำพิธีเหยียบเสน เพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับเสน โดยเชื่อว่าเสนเป็นเนื้องอกนูนจากระดับผิวเป็นแผ่น ถ้ามีสีแดงเรียกว่า เสนทอง ถ้ามีสีดำ เรียกว่า เสนดำ ไม่ทำให้เจ็บปวดหรือมีอันตรายแต่ถ้าหากงอกบางส่วนของร่างกาย เช่น บนใบหน้าจะดูน่าเกลียด ถ้าเป็นกับเด็ก ๆเสนจะโตขึ้นตามอายุ (อุดม หนูทอง: 2531:171) ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่าเสนเกิดจากการกระทำของผีที่เรียกว่า ผีโอกะแชง ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่เฝ้าเสาโรงโนราและส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำเครื่องหมายของครูหมอโนรา เพื่อต้องการเอาเด็กคนนั้นโดยผ่านทางผีโอกะแชงระยะเวลาในการประกอบพิธีซึ่งมักจะทำกันในวันศุกร์ที่ 3 ของการแสดงโนราโรงครู หลังจากโนรารำสิบสองบทแล้ว ขั้นตอนพิธีกรรมผู้ที่เป็นเสนหรือผู้ปกครองจะต้องนำเด็กที่เป็นเสนและอุปกรณ์ประกอบพิธีมาให้โนราใหญ่ จากนั้นโนราใหญ่จะเอาน้ำใส่ขันหรือถาดพร้อมด้วยอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เตรียมมา ทำพิธีจุดธูปเทียน ชุมนุมเทวดา ชุมนุมครูหมอโนรา ลงอักขระที่หัวแม่เท้าของโนราใหญ่แล้วรำท่าแบบเฆี่ยนพรายหรือ "ท่าย่างสามขุม” เสร็จแล้วโนราใหญ่เอาหัวแม่เท้าไปแตะตรงที่เป็นเสนแล้วเหยียบเบา ๆ บริกรรมคาถากำกับ พร้อมกับนำพระขรรค์ไปแตะที่เป็นเสนทำเช่นนี่ 3 ครั้ง เสร็จแล้วเอามีดโกน หินลับมีดและของอื่น ๆในขันน้ำหรือถาดไปแตะที่ผู้เป็นเสนจนครบทุกอย่างเป็นอันเสร็จพิธี พิธีกรรมดังกล่าวเชื่อว่าเสนจะค่อยๆ หายไป ถ้าไม่หายให้ทำซ้ำอีกจนครบ 3 ครั้ง เสนจะหายไปในที่สุด อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ได้แก่ ขันน้ำหรือถาดใส่น้ำ หมากพลู ธูปเทียน ดอกไม้ มีดโกน หินลับมีด เงินเหรียญ เครื่องเงิน เครื่องทอง หญ้าคา หญ้าเข็ดหมอน เงิน 32 บาท (ในอดีตใช้ 12 บาท) พระขรรค์หรือกริช ผู้เข้าร่วมพิธีกรรม โนราใหญ่ เด็กที่เป็นเสน ผู้ปกครอง ลูกคู่โนรา
การรำคล้องหงส์ ใช้รำเฉพาะในพิธีครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่และพิธีเข้าโรงครูเท่านั้น เพื่อให้พิธีสมบูรณ์ในการรำใช้ผู้รำ 8 คน โดยโนราใหญ่เป็น "พญาหงส์”โนราคนอื่น ๆ อีก 6 คนเป็นหงส์ และผู้รำเป็นพราน 1 คน วิธีรำสมมติท้องเรื่องเป็นสระอโนดาต จากนั้นจึงร้องบททำนองกลอนพญาหงส์ ตอนที่หงส์กำลังร้องกลอนบททำนองพญาหงส์ พรานจะออกมาด้อม ๆ มอง ๆ เพื่อเลือกคล้องพญาหงส์ พอจบกลอนพรานเข้าจู่โจมไล่คล้องหงส์ ดนตรีเชิด หงส์วิ่งหนี เป็นรูป "ยันต์เต่าเลือน” นายพรานไล่คล้องได้พญาหงส์ พญาหงส์ใช้สติปัญญาจนสามารถหลุดพ้นจากบ่วง เป็นการจบการรำ เชื่อกันว่าการรำคล้องหงส์ในโรงครูทั้งตัวพญาหงส์คือโนราใหญ่และผู้แสดงเป็นพราน มีครูโนราเข้าทรงด้วย
การรำแทงเข้ (จระเข้) ใช้รำในพิธีกรรมโรงครูเท่านั้น โดยจะรำหลังจากคล้องหงส์แล้ว ผู้รำมี 7 คน โนราใหญ่รำเป็น "นายไกร” ที่เหลืออีก 6 คน เป็นสหายของนายไกร อุปกรณ์มีเข้(จระเข้) 1 ตัว ทำจากต้นกล้วยพังลา (กล้วยตานี) ต้นโต ๆ ขุดให้ติดเหง้า นำมาแกะสลักส่วนเหง้าให้เป็นหัวเข้ ขาใช้หยวกกล้วยตัดเป็นรูปขาแล้วใช้ไม้เสียบไว้ หางทำด้วยทางมะพร้าว เมื่อเสร็จแล้วใช้ไม้ขนาด 4 คืบ 4 อันปักเป็นขาหยั่ง เชื่อกันว่าคนที่จะทำตัวจระเข้นั้น จะต้องเป็นผู้มีความรู้ทางเวทย์มนตร์คาถา เพราะหลังจากทำตัวจระเข้เสร็จแล้วจะต้องทำพิธีบรรจุธาตุ เรียกวิญญาณไปใส่ เบิกหูเบิกตา เรียกเจตภูตไปใส่ หากทำไม่ถูกต้อง ก็อาจเป็นเสนียดจัญไรแก่ตนเอง ก่อนนำเข้าพิธี คนทำจระเข้ต้องทำพิธีสังเวยครูด้วยหมากพลู ดอกไม้ธูปเทียน และเหล้าขาว แล้วนำไปวางข้างโรงโนราด้านตะวันตก ให้จระเข้หันหัวไปทางทิศหรดี หากหันหัวไปทางทิศอีสาน โนราจะไม่แทง บนตัว หัว และหางจระเข้ติดเทียนไว้ตลอดด้านหน้าโรงที่จะไปแทงเข้ จะต้องเอาหยวกกล้วยพังลา (กล้วยตานี) 3 ท่อน มาทำเป็นแพเพื่อให้โนราเหยียบก่อนออกไปแทงเข้ นอกจากนี้มีหอก 7 เล่ม เรียกชื่อต่างกัน เช่น หอกพิชัย กอกระบวย ในตะกง ปานฉนะ เป็นต้น การรำแทงเข้จะเริ่มด้วยโนราใหญ่จุดเทียนตรงบายศรีแลที่ครูแล้วขึ้นบทเพลงโทน (จับบทไกรทอง) เนื้อความเป็นการทำขวัญนายไกร และการละเล่นในพิธีทำขวัญ
จากนั้นโนราจะเปลี่ยนเรื่องมาจับเรื่องราว ฝ่ายชาละวันว่า เกิดนิมิตฝนประหลาดจึงต้องไปหาอัยกา ให้เป็นผู้ทำนายฝัน พระอัยกาได้ทำนายฝันให้ว่าเป็นลางร้าย จะต้องถึงแก่ชีวิต จากนั้นดนตรีทำเพลงเชิด โนราว่าบทสัสดีใหญ่ ร่ายรำด้วยท่ารำองอาจสง่างามแล้วออกจากโรงไปแทงเข้ ก่อนออกจากโรงบริกรรมคาถาแทงเข้ โดยเอาหัวแม่เท้ากดพื้นแล้วกล่าวว่า "พุทฺธํ ระงับจิต ธมฺมํ ระงับใจ สํฆํ สูไป ตัวสูคือท่าน ตัวกูคือพระกาล ธมฺมํ พุทฺธํ อะระหํ สูอย่าอื้อ บรรดาศัตรู เหยียบดิน กินน้ำ หายใจเข้าออกต้องแสงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ทำร้ายแก่ข้าพเจ้าไม่ได้ มีญาเตร จาเม ปวิสติ” ต่อจากนั้นโนราออกจากโรงใช้เท้าเหยียบแพหยวกแล้วกล่าวบริกรรมคาถาว่า "นางณีเจ้าขา ตัวยังหรือไม่ สังขาตั้ง โลกังชา นาติ ติโล กาวิทู ข้าพเจ้าจะออกไป อย่าให้มีภัยอันตราย พุทฺธํ ระงับจิต ธมฺมํ ระงับใจ สํฆํ สูไป ตัวสูคือท่าน ตัวกูคือพระกาล อัมมิพุทธัง อะระหัง สูอย่าอื้อ บรรดาศัตรู เหยียบดินกินน้ำ หายใจเข้าออก ต้องแสงอาทิตย์พระจันทร์ ทำร้ายแก่ข้าพเจ้าไม่ได้ มาอยู่แก่ข้าพเจ้าให้หมด” จากนั้นโนราใหญ่ ผู้รำเป็นสหายนายไกร ครูหมอโนราก็ร่ายรำไปยังตัวจระเข้ แล้วโนราใหญ่กล่าวบริกรรมคาถากำกับว่า "โอมธรณีสาร กูคือผู้ผลาญอุบาทว์ให้ได้แก่เจ้าไพร จังไหรให้ได้แก่นางธรณี สิทธิได้แก่ตัวกู” แล้วจึงใช้หอกแทงเข้ เอาเท้าถีบให้เข้หงายท้องโนราคนอื่น ๆ ก็ใช้หอกแทงเข้ต่อจากโนราใหญ่แล้วว่าบทปลงอนิจจัง กรวดน้ำให้ชาละวันจบแล้วว่าคาถาถอนเสนียดจากเข้ เป็นอันจบกระบวนรำ
เมื่อรำแทงเข้แล้วคณะโนรากลับเข้าโรงโนรา จากนั้นโนราใหญ่จึงร้องบท "ชาครูหมอ” หรือ "ชาตายาย” เพื่อเป็นการบูชาครูหมอโนราหรือตายายโนรา โดยเจ้าภาพ ลูกหลานตายายโนราจะนำเงินมาบูชาครูตามกำลังศรัทธาเรียกว่า "เงินชาครูหมอตายาย” เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ครูหมอโนราหรือตายายโนรา โนราร้องบทชาครูหมอพร้อมกับขอพรครูหมอโนราหรือตายายโนราให้แก่เจ้าภาพและลูกหลานตายายโนรา ต่อจากบทชาครูหมอตายาย และลูกหลานได้อุทิศส่วนกุศลไปให้ครูหมอโนราหรือตายายโนราแล้ว โนราใหญ่จะร้องบท "ส่งครู” เพื่อส่งครูหมอโนราหรือตายายโนรากลับ ดังตัวอย่างบทร้องตอนหนึ่งว่า
บทส่งครูหมอ
ฤกษ์งามยามดี ป่านี้ชอบยามตามพระเอสา
ซ้ายแล้วแหละพุ่มพัว เราหย่อนวัวละน้องให้กินหญ้า
มันซ้ายแล้วแหละเพื่อนอา เรามาหย่อนมาให้กินน้ำ
ว่าซ้ายแล้วสาระแท้ เรามาแต่งแง่ให้งามงาม
วัวออกกินหญ้าม้ากินน้ำ ชอบไปด้วยยามพระเวลา
ฤกษ์งามยามดี ป่านนี้ได้งามต้องตามพระเวลา
ขวัญเหอ ได้ฤกษ์ร้องส่ง ทุกองค์ราชครูข้าถ้วนหน้า
เพราะวันก่อนลูกเชิญมา เมื่อถึงเวลาจะเชิญให้พ่อไป
กลับขึ้นสู่เคหา ลูกหลานจะได้พึ่งพาและอาศัย
ไม่ว่าองค์น้อยองค์ใหญ่ กลับไปเย้าเยพระเคหาส์
เพราะว่าพิธีไม่มีบกพร่อง ถูกต้องตามวันที่สัญญา...
ขอให้พ่อเป็นธงชัย ได้กับพวกเราเหล่าโนรา
เสร็จจากส่งครูหมอโนราหรือตายายโนราแล้วโนราใหญ่ก็จะทำพิธี "ตัดเหฺมฺรย” (ตัดทานบท) ซึ่งเป็นพิธีตัดเครื่องบูชาและเครื่องเซ่นไหว้ตายายให้ขาดแยกจากกัน เป็นเคล็ดว่า "เหฺมฺรย” หรือพันธะสัญญาที่เคยให้ไว้แก่ครูหมอโนราได้ขาดกันแล้วสิ่งที่โนราใหญ่ตัดได้แก่ บายศรีท้องโรง เชือกมัดขื่อโรงจากบนศาลหรือพาไล 3 ตับ เชือกผูกผ้าหรือเพดานศาลหรือพาไล 1 มุมแล้วห่อเหฺมฺรย ขึงวางอยู่บนศาลหรือพาไล วิธีตัดเหฺมฺรย โนราใหญ่จะถือมีดหมอ 1 เล่ม เทียน 1 เล่ม หมากพลู 1 คำ ไว้ในมือขวาแล้วรำท่าตัดเหฺมฺรย โดยตัดแต่ละอย่างตามที่กล่าวมาแล้วไปตามลำดับขณะที่ตัดจะว่าคาถากำกับไปด้วยเสร็จแล้วเก็บเครื่องบนศาลหรือพาไลไปวางไว้นอกโรงทำพิธีพลิกสาดพลิกหมอน รำบนสาดแล้วถอดเทริดออก เป็นอันเสร็จพิธีการรำโนราโรงครู
 
     โน๊ตเพลง
     เพลงและท่ารำในการประกอบพิธี
เพลงที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมเป็นการบรรเลงดนตรี เริ่มจากการโหมโรงส่วนมากจะใช้เพลงพัดชา ดนตรีโนรานั้นจะเป็นการให้จังหวะเป็นสำคัญ ส่วนปี่จะเล่นเพลงอะไรก็ได้ ส่วนมากจะบรรเลงด้วยเพลงไทยเดิมสั้น ๆ จะนำเพลง สามชั้น สองชั้นหรือชั้นเดียวมาบรรเลง เพียงแต่ให้เข้ากับจังหวะของเครื่องดนตรี คือ ทับ กลอง โหม่ง ฉิ่ง และแตระ การบรรเลงโหมโรงจะทำ 2 หรือ 3 รอบก็ได้ นอกจากในเวลาที่มีการทรงเจ้า หรือวิญญาณมาเข้าร่างทรง จะเป็นเพลงเชิดที่ไม่มีชื่อ ขอแต่เพียงเป่ารัวให้เข้ากับจังหวะการเชิดเครื่อง ท่ารำที่ใช้การบรรเลงประกอบด้วยท่ารำเพลงโค รำแม่บทท่าต่างๆ รำเพลงนาด รำเพลงเร็ว หรือนาดสับ
ความแตกต่างหรือเอกลักษณ์การทำพิธีโนราโรงครูของโนรายก ชูบัว
จากการสัมภาษณ์นายสุพัฒน์ นาคเสน อาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นลูกศิษย์ของโนรายก ชูบัว ได้กล่าวไว้ว่า "การทำพิธีของโนรายกชูบัว มีความแตกต่างจากคณะอื่น ๆหรือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะในเรื่องความละเอียดในการทำพิธีตั้งแต่การเข้าโรงมีระบบระเบียบ ทุกครั้งที่จะทำพิธีจะต้องมีการยกเครื่อง พอไปถึงโรงแล้วก็มีเจ้าภาพจัดขันหมาก รับขันออกมารับ รับเข้าโรง มีการตั้งเครื่อง นี่คือส่วนของวันพุธ มีการพิธีส่ง คือพิธีผูกผ้า ถ้าหากไม่มีพิธีผูกผ้า ก็เข้าโรง เบิกโรง กาศครู มีการรำในกลางคืนเพื่อความสนุกสนาน วันพฤหัสบดีเป็นพิธีการใหญ่ มีการเชิญครู กาศครู วิธีการร้อง วิธีการรับ จะเป็นเอกลักษณ์คือแบบดั้งเดิมไม่สั้นไม่ตัดทอนให้มันสั้นลงกว่าเดิมมีการเล่นสิบสองบท สิบสองคำพรัดขณะที่เล่นก็จะมีการหยุดเพื่อที่จะอธิบายสาระความรู้ให้กับผู้ชมว่าบทกลอนนี้ให้สาระอะไรบ้าง ให้ความรู้อะไรบ้าง จะมีการสอดแทรกศีลธรรม แง่คิด อยู่ตลอดเวลา ในการผูกผ้า ครอบเทริดสิ่งที่ใช้ในการประกอบพิธีก็จะต้องมีความหมาย คนจะผูกผ้าครอบเทริดอยู่ในพาน เท้าจะต้องวางบนขันสาครคือขัน 12 นักษัตร ความหมายว่าราศี 12 ราศีอยู่ในอุ้งเท้าของผู้ผูกผ้า การแกะผ้าพอกวันพฤหัส ถ้ารับตามบ้านก็ไปแกะพอกบนบ้าน บนห้องที่ตั้งตาหลวง บทเชิญครู มีการรับแบบยาวรับเต็ม ถ้าหากไม่ใช่ลูกคู่คณะเดียวกันจะรับไม่ได้บทดอกจิกทำนองแขกจะมีความแตกต่างกว่าคณะโนราอื่น ๆ”
นอกจากนี้มีการรำแต่งพอก ว่าบทสิบสองคำพรัดแล้วรำสิบสองท่า และจะต้องเล่นสิบสองนิทานท่ารำสิบสองท่าของโนรายกจะมีความพิเศษกว่าคณะอื่น ๆ คือเป็นท่ารำที่มีสิบสองท่ารำที่ไม่เหมือนกันแต่รำท่าละสองครั้ง คือรำมือซ้ายแล้วย้ายมารำมือขวาในท่าแต่ละท่าจึงจะนับหนึ่งท่าและเล่น "จับบทตั้งเมือง” ในวันพฤหัสบดี อันเป็นวันที่สองของการรำโนราโรงครู
บทประกอบท่ารำและบทร้อง
บทประกอบท่ารำ หมายถึง บทร้องกลอนของโนราที่มีท่ารำประกอบและใช้ในพิธีกรรมโนราโรงครู เช่น บทครูสอน บทประถม บทพลายงามตาโขลง บทฝนตกข้างเหนือ เป็นต้น ส่วนบทร้องหมายถึง บทร้องกลอนของโนราที่ไม่มีท่ารำประกอบ เช่น บทกาศครู บทชุมนุมครู บทบูชาครูหมอ บทส่งครู เป็นต้น
บทครูสอน
ครูเอยครูสอน เสดื้องกรต่อง่า
ครูสอนให้ผูกผ้า สอนข้าให้ทรงกำไล...
บทสอนรำ
สอนเอยสอนรำ ครูข้าให้รำเทียมบ่า
ออว่าปลดปลงลงมา ครูข้าให้รำเทียมพก
ท่านี้วาดไว้ฉายอก กนกเป็นแพนพาลา
ท่านี้ชูสูงเสมอหน้า เรียกช่อระย้าพวงดอกไม้
ออว่าปลดปลงลงมาได้ ครูให้ข้ารำโดมเวียน
รำท่ากนกรูปวาด วาดไว้ให้เหมือนกับรูปเขียน
รำท่ากนกโดมเวียน รำท่ากระเชียรปาดตาล
ฉันนี้แหละเหวยนุช พระพุทธเจ้าห้ามมาร...
บทปฐม
ตั้งต้นรำท่าปฐม ถัดมาพระพรหมสี่หน้า
รำท่าสอดสร้อยให้เป็นพวงมาลา รำท่าอีโหยนโยนช้าให้น้องนอน
รำเป็นท่าผาลาเพียงไหล่ ท่าพิสมัยรวมเรียงเคียงหมอน
รำกันท่าต่างกันหันเป็นมอน ท่ามรคาแขกเต้าบินเข้ารัง...
บทสรรเสริญพระคุณมารดา
ไหว้บุญคุณท่านเสียแล้ว ไหว้บุญคุณแก้วคุณครูสอน
ไหว้ครูอาจารย์ท่านเสียก่อน ท่านได้สั่งสอนข้าพเจ้ามา
ไหว้ครูอาจารย์ท่านเสร็จสรรพ กล่าวกลับมาไหว้คุณพระมารดา...
บทฝนตกข้างเหนือ / บทโศกัง
รักข้าเหอลมพัด พัดมาแล้วที่ชายเขา
แรงลมไม่เบา พัดหลังคาฝาพังไปทั้งคืน
ลมพัดแล้วฟ้าลั่น ลั่นมาแล้วครีนครืน
หัวอกสะอื้น มันแลบเปรี้ยงแลบเปรี้ยงเสียงน่ากลัว
ชาวไร่ชาวนา ชักเอาผ้ามาคลุมหัว
ตัวฉันสั่นรัวรัว เพราะว่าสากลังต้องสายฟ้า...
รักข้าเหอโศกัง น้ำค้างหยดลงชายคา
กบถลงมา ยังค่ำไม่รู้จะเต็มออม
ชีวิตของคน ลางบ้างก็พีลางบ้างก็ยอม...
บทไชชาย / หรือนกเป็ดกาน้ำ
โน่นไอไหรดำดำ และเหมือนกาน้ำไล่ปลา
หักเงี้ยงโยนมา ช่างเร็วกะหวามือคน
ไชชายเข้ามายืนมองเห็น จึงเอามาเรียนเล่นกล
โยนหลกโกลาหล มันโยนแต่ซ้ายรับขวา
พระผู้เป็นเจ้าแลเห็น ก้าวเธอจึงร้องตามไป
ไอ้ไชชายเหอไชชาลา วิชานี่หนาเรียนมาแต่ข้างไหน...
บทเรือใบผ้า
สนุกจริงแล้วเพื่อนเหอ มาเล่นแต่เรือแต่เรือใบผ้า
เรือน้อยล่องลอยมา มันฟันแต่น้ำผุยผง
น้องเหอขับเรือให้มันเต้น ว่างเรือจะแล่นเราต้องพายลง
มาตะน้องทองบรรจง ช่วยกันหรงเรือไว้ให้มันดี...
บทยาแดง
เฒ่ามาแล้วชะแร แก่มาแล้วชรา
แก่แล้วเพื่อนอา ส่วนฟันฟางมันง่อนแง่น
ถือไม้เท้าเก้าย่าง ส่วนตาฟางง่อนแง่น
แต่ไหรแต่ก่อน ไชยานครเราไม่ห่อนเล่น
เหมือนอย่างม้าแก้วเสียเช่น เจ้าสำเภาทองอับปาง
ไม้มาดตะลุมพอ เอามาต่อกับไม้กระดานยาง...
บทดอกจิก
ดอกจิกดอกจัก ยังเล่าดอกรักดอกเตย
ดอกจิกยังรักเหลย ดอกเตยมาชวนให้พี่ชายร้าง
ดอกพยอมนางน้องแก้ว ช่างหอมมาแล้วอยู่รอบข้าง
พี่เก็บมาใส่ในหลังช้าง ฝากเจ้าเอวบางนางเมืองไกล...
บทไวระเวก
ระไวระเวก นางนกกะเวกตีวง
เข้าป่าพี่ชมฝูงหงส์ ฟังเสียงละครนางขี้หนอนรำ
เชิญรำเถิดเจ้ารำ จับระบำรำเล่นเพลงคอน
ลูกสาวน้องเหอของใคร แขนเจ้าอ่อนเหลืออ่อน
บ้างจับระบำรำฟ้อน เยื้องกรนาดกายรำขยายท่า
ยกย่างขึ้นให้ตีนขัดซัดเป็นดอกบัวตูม รำท้าวเทวาเข้ามากุมสองหัตถา...
บทพลายงาม
ช้ายแล้วไม่ได้มาลงโรง พลายงามตามโขลงมาเข้าช่อง
กลิ้งเกลือกเสือกสนคำรณร้อง เปลี่ยนเปล่าเศร้าหมองเป็นหนักหนา
เทียมตาหมอเฒ่าจับได้มา อาลัยในตาแล้วกะออกไม่ได้
เชือกหนังรั้งคอไว้พอดี ใครมาปรานีแล้วกะหามีไม่
ขื่อคาขึงแข็งแย่งเอาไว้ ที่จะออกไปได้แล้วกะหาไม่มี
อวดแรงแข็งข้อถูกขอสับ ตรวนยับเชือกอยู่ติดที่...
บทเจ้าภาพ
บทเอยบทนาง ถึงพี่ถึงทางจะวางไว้
ขอโทษท่านที่นั่งอยู่ทั้งหลาย หยุดบทงดไว้พอได้ฟัง
วันนี้โนราลาท่านแล้ว แจ้วแจ้วจะร้องไห้สั่ง
จงอยู่ไปเถิดน้องทองพันชั่ง พุ่มพัวบัวคลั่งพี่สั่งไว้
เวลาโนรามาเล่นได้เห็นหน้า วลาจากไปแล้วใจหาย
ทั้งเช้าทั้งเย็นแสนสบาย ต่อใดจะได้กลับมา
เรามาอยู่ได้ใกล้ชิด รู้สึกว่านิดญาติกา
เรารักกันสองราตรีวันนี้ต้องลา มายินดีปรีดาหราพี่น้อง
เลี้ยงดูปูเสื่อแผ่เผื่อมาให้ ทุกสิ่งไม่ได้ขัดข้อง
การกินอยู่รู้สึกว่าไม่บกพร่อง พี่น้องชื่นชมนิยมยิน
ข้าวเช้าข้าวเที่ยง อุตส่าห์มาเลี้ยงให้เรากิน
ก่อนไปไกลจากฝากวาทิน ได้ยินน้ำคำว่าอำลา
ฯลฯ
บทส่งครูหมอ
ฤกษ์งามยามดี ป่านี้ชอบยามตามพระเอสา
ช้ายแล้วแหละพุ่มพัว เราหย่อนวัวละน้องให้กินหญ้า
มันช้ายแล้วแหละเพื่อนอา เรามาหย่อนมาให้กินน้ำ
ว่าช้ายแล้วสาระแท้ เรามาแต่งแง่ให้งามงาม
วัวออกกินหญ้าม้ากินน้ำ ชอบไปด้วยยามพระเวลา...
บทส่งเทวดา
ฤกษ์งามงามดี ป่านี้ชอบงามพระเวหา
ชอบฤกษ์จะร้องส่ง ทุกองค์พระเทวดา
ชอบฤกษ์จะร้องส่ง เทวดาศักดิ์สิทธิทิศบูรพา
ขอเชิญท่านกลับเถิดหนา อย่าเกินเนิ่นช้าเที่ยวหันเห
ชอบฤกษ์ร้องส่ง เทวดาศักดิ์สิทธิ์ทิศอาคเนย์
หน้านวลอย่าเที่ยวรวนเร แต่งกายเสร็จสรรพกลับบ้านให้สิ้น...
บทขับผี
ตรัสว่าไหนเหวย ไอ้พวกตลาดมาตหลา
ไอ้พวกควาญช้างรีบลัดช้าง ไอ้พวกควาญม้าสูรีบไปจัดม้า
ไอ้พวกหาบหมอนคอนผ้า พาเจ้าพานายของสูไป
ไอ้พวกผีโพธิ์กลับไปสู่ต้นโพธิ์ ไอ้พวกผีไทรให้ไปไทร...
บทอาลัย –ลาโรง
ตรัสว่าคอยอยู่ นางโอ๋สุมพุ่มที่นกจับ
เกณฑ์ชะตาอาภัพ ปลูกรักเอาไว้ไม่ได้เชย
จะเหอต้นรักที่ปลูกไว้ เหตุใดมากลายเป็นดอกเตย
ปลูกรักเอาไว้ไม่ได้เชย โธ๋เอยน้องรักเจ้าตาเพรา...
ตรัสว่าคอยอยู่ นางโอสาดคล้าทั้งสี่มุม
อยู่เกิดผมดัดอย่ากลัดกลุ้ม พี่คอยมาชุมนุมกันเล่าหนา
บทนกกระจอก
นางนกกระจอกบินออกชายคา พือปีกวาวาจะข้ามสาคร
ข้าไปไม่ได้เพราะปีกหางยังอ่อน บินข้ามสาครฉันนั้นน้องหนา...
การสร้างสรรค์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมพื้นบ้านด้านต่าง ๆ
โนราโรงครูนั้นมีขั้นตอนและองค์ประกอบของพิธีกรรมที่ซับซ้อน เพื่อทำให้เกิดความขลังความศักดิ์สิทธิ์ และสร้างความเชื่อ ความศรัทธาให้เกิดขึ้นกับชาวบ้าน ดังนั้นผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมจึงได้เห็นความหลากหลายในการประกอบพิธีกรรมของโนรา เช่น การครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่ การทำพิธีผูกผ้าปล่อย การทำพิธีเหยียบเสน เป็นต้น พิธีกรรมเหล่านี้ได้สร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโนรา โดยเฉพาะโนราโรงครู แต่ที่เน้นให้เกิดความรู้และสติปัญญามองเห็นสัจจะธรรมของชีวิต คือการสร้างความเข้าใจในเรื่องของคุณธรรม ความกตัญญูรู้คุณ กฎแห่งอนิจจัง การใช้ชีวิตทั้งในระดับครอบครัวและสังคม ดังปรากฏในบทร้องกลอนที่ใช้ประกอบพิธีกรรมในโนราโรงครู บทร้องบทรำเหล่านั้นส่วนใหญ่เกิดจากปฏิภาณไหวพริบ ที่สามารถหยิบยกเอาสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวมาแต่งเป็นบทกลอน บางครั้งก็นำเรื่องราวที่ปรากฏในวัฒนธรรมพื้นบ้านซึ่งแพร่กระจายและอยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้านแล้วนำมาผูกคำร้องเชื่อมโยงถ่ายทอดเป็นบทร้องบทรำของโนรา
นอกจากนี้ในพิธีกรรมครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่ นอกจากโนราใหญ่จะทำพิธีครอบเทริดให้แล้วยังมีการแนะนำตักเตือนในการประพฤติปฏิบัติ การใฝ่หาความรู้ การรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี และความรักในวิชาชีพของตน ล้วนเป็นผลสะท้อนกลับไปยังชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรม แม้ในบทกาศครู บทตั้งเมืองของโนราก็ยังชี้แนะให้มนุษย์ได้เห็นคุณค่าของธรรมชาติ สะท้อนทัศนะและความเชื่อชาวบ้านที่มีต่อ เทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อในเรื่องของมนุษย์ต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ มนุษย์ต่อธรรมชาติ มนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกัน เช่นการอธิบายของกำเนิดของจักรวาล ของฟ้า ของแผ่นดิน ตามความเชื่อในทางศาสนาโลกทัศน์และมโนทัศน์ของชาวบ้าน อันเป็นการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมพื้นบ้านด้านต่าง ๆ แก่ผู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคมหรือท้องถิ่นของตนโดยกระบวนการทางความเชื่อและพิธีกรรม
 
     การแต่งกาย
การแต่งกายของโนราในการประกอบพิธีโนราโรงครู โนรายกจะมีส่วนที่แตกต่างออกไปคือ โนรายก จะนุ่งผ้าที่เป็นผ้าไทยเสมอ และที่พิเศษจะมีผ้าขาวทำเป็นงวงช้างห้อยอยู่ด้านหน้า เครื่องแต่งการอื่นๆ ส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กัน ซึ่งประกอบด้วย
เทริด
เครื่องลูกปัด ใช้ตกแต่งลำตัวท่อนบน ประกอบด้วย สายบ่า สายพาดหรือสังวาลย์ สายคอ พานโครง รอบอก หรือสายรัดโพก ปิ้งคอ
ทับทรวง เป็นแผ่นเงินรูปคล้ายขนมเปียกปูนใช้แขวนกับสายคอห้อยอยู่ระดับทรวงอก
ปีกนกแอ่น เป็นแผ่นเงินรูปคล้ายนกนางแอ่นกางปีก ใช้แขวนกับสายสังวาลย์ บริเวณชายโครง
ปีก หรือ "หางหงส์” นิยมทำด้วยเขาควายหรือหนังสัตว์ มีลักษณะคล้ายปีกนก ส่วนปลายงอนเชิดร้อยด้วยลูกปัดเป็นระย้าห้อยสวยงาม
เหน็บเพลา หรือสนับเพลา เป็นกางเกงขาทรงกระบอกยาวประมาณครึ่งน่องใช้สวมแล้วนุ่งผ้าทับ
ผ้านุ่ง เป็นผ้ายาวสี่เหลี่ยมผืนผ้าใชนุ่งทับสนับเพลาให้กระชับดึงชายผ้าไปเหน็บไว้ข้างหลังคล้ายนุ่งโจงกระเบนแต่รั้งชายให้ห้องลง
สายรัด ทำด้วยด้ายขาว ๓ เส้น เผือกันเป็น ๓ เกลี่ยว ใช้คาดเอวรัดผ้านุ่งให้แน่น
หน้าผ้า ใช้สำหรับคาดห้อยไว้ด้านหน้า
ผ้าห้อยหน้า ใช้ผูกหรือเหน็บห้อยทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของหน้าผ้า
กำไล กำไลต้นแขน กำไลปลายแขน กำไลมือ(ใช้สวมมือและเท้าข้างละหลายๆ วง)
ปิเหน่ง หรือปั้นเหน่ง(หัวเข็มขัด)
เล็บ ใช้สำหรับสวมนิ้วข้างละ ๔ นิ้ว (ยกเว้นหัวแม่มือ)
ลูกพอก สำหรับโนราใหญ่ที่แต่งพอก
ได้แก่ ผ้าเพดานบนศาลหรือพาไล ผ้าเพดานใหญ่ในโรงพิธี ที่วางเทิด เสื่อหมอน เครื่องเชี่ยนพิธี หม้อน้ำมนต์ ไม้หวาย มีดหมอ บายศรีปากชาม บายศรีใหญ่หรือบายศรีท้องโรง ดอกไม้ธูปเทียน หอกแทงจระเข้ หยวกกล้วยทำรูปจระเข้ ใบชิงหรือกระแชง ขันลงหิน หน้าพรานชายหญิง เทริด ย่าม ธนู เชือกคล้องหงส์ เครื่องแต่งตัวโนรา หญ้าคา หญ้าครุน ใบเฉียงพร้า ใบหมวกผู้ เงินเหรียญ รวงข้าว มีดโกน หินลับมีด พระขรรค์ หนังสือ (เสือ) หนังหมี สำหรับที่วางน้ำมนต์อาจจะทำด้วยไม้ไผ่สานเป็นตะกร้าทรงสูงเรียกว่า "ตรอม” ส่วนเครื่องบูชาประกอบพิธี จะจัดเครื่องบูชาครู เป็น ๓ ส่วน คือ
1. เครื่องบูชาถวายครูบนศาลหรือพาไล ประกอบด้วย หมาก 9 คำ เทียน 9 เล่ม เครื่องเชี่ยน 1 สำรับ กล้วย 3 หวี อ้อย 3 ท่อน ขนมในพิธีวันสารท์เดือน 10 ได้แก่ พอง ลา ขนมบ้า ขนมเบซำ ขนมเทียน 3 สำรับ ข้าวสารพร้อมหมากพลูเทียน จัดลงในภาชนะที่สานด้วยกระจูดหรือเตยขนาดเล็กเรียกว่า "สอบนั่ง” หรือ "สอบราด” 3 สำรับ มะพร้าว 3 ลูก เครื่องคาวหวานหรือที่ 12 สำรับ หรือ 12 ชนิด เสื่อ 1 ผืน หมอน 1 ใบ ผ้าขาว 1 ผืน ผ้านุ่งห่มชาย 1 ชุด ผ้านุ่งห่มหญิง 1 ชุด บายศรีปากชาม 1 ปาก หน้าพรานชายหญิงที่เรียกว่า "หัวอีทาสี” อย่างละหน้าเป็นอย่างน้อย เทริดตามจำนวนปีที่กำหนดว่าให้ทำพิธีครั้งหนึ่ง เช่น ถ้าทำพิธี 7 ปีต่อครั้ง ก็ใช้เทริด 7 ยอด ถ้าหาเทริดได้ไม่ครบก็ใช้ใบเตยทำเป็นรูปเทริดแทนได้ ที่เพดานศาลหรือพาไลผูกผ้าดาดเพดาน ใส่หมากพลู 1 คำ ดอกไม้ 3 ดอก เทียน 1 เล่ม และข้าวตอก 3 เม็ด บนศาลหรือพาไลใต้ดาดเพดาน ปูผ้าขาวบนหมอน วางหัวพราน หัวทาสี ปักเทียนไว้ที่หน้าพราน มีไม้แตระวางไว้หน้าเทียน วางเครื่องเชี่ยน หม้อน้ำมนต์ เทริด บายศรี และเครื่องสังเวยที่เป็นของแห้งใส่สำรับวางไว้ตลอด 3 วัน ส่วนอาหารคาวหวานและที่ 12 ต้องเปลี่ยนทุกวัน ทุกสำรับปักเทียนเอาไว้ นอกจากนี้ยังมี "ราด " คือ เงินกำนลมี 3 บาทหรือ 12 บาท
2. เครื่องบูชาที่ท้องโรง(ที่พื้นกลางโรง) ประกอบด้วย ธูปเทียน 9 ชุด ตัดไม้วางบนแพวางบนหมอนซึ่งวางไว้กลางโรง และบายศรีท้องโรง 1 สำรับ
3. เครื่องบูชาในห้องของครูหมอบนเรือนพัก จัดไว้เช่นเดี่ยวกับเครื่องเซ่นทั่วไป

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน