ภาษาท่ารำที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อแสดงความหมายโดยเฉพาะ,

 กระทบก้น                               

กระทบก้น  โดยมากใช้ในเวลาที่จะเปลี่ยนไปอีกท่าหนึ่งต้องกระทบก้นเสียก่อนแล้วจึงยกก้นเพียงเล็กน้อยเวลายกก้นต้องเกร็งหน้าขาแล้ววางก้นลงไปบนส้นเท้าแรงพอประมาณ        

 

                                                  กระดก                                                                                                                        

กระดก  คือ การใช้เท้ายกขึ้นโดยให้ปลายเท้าชี้ลง มี๒  ชนิด  ได้แก่  กระดกหลัง   กระดกเสี้ยว            

  ๑. กระดกหลัง   คือ การยกเท้าไปข้างหลังพยายามให้ส้นเท้าชิดกับก้นโดยการถีบขาที่กระดกไปข้างหลังมากๆ ย่อตัวลง    หรือย่อเข่าที่ยืนลง   

 

 

๒. กระดกเสี้ยว  คล้ายกระดกหลัง แต่ยกเท้ากระดกเฉียง  ไปด้านข้างซึ่งถ้ามองข้างหน้าจะสามารถมองเท้าที่ กระดกขึ้นได้ ชัดเจน ย่อตัวลงหรือย่อเข่าที่ยืนลง

 


                                                

        ยกเท้า                            

 

ยกเท้า มีอยู่ ๒ วิธี วิธีที่ ๑ ยกเท้าไว้ข้างหน้า วิธีที่ ๒ ยกเท้าไว้ข้างตัว

 

๑. ท่า ยกเท้าซ้าย  (ไว้ข้างหน้า)     

 ตัวนาง วางเท้าทั้งสองให้เสมอกัน  แล้วถ่ายน้ำหนักตัวให้มารวมกันอยู่ที่ขาข้างขวา ส่วนเท้าซ้ายนั้นคงให้ล้ำไปข้างหน้าเลยเท้าขวาขึ้นไปเล็กน้อย แล้วย่อลงและยกเท้าซ้ายขึ้นไว้ข้างหน้า เมื่อยกเท้าขึ้นมาต้องให้หน้าขาได้ระดับเป็นเส้นตรง หนีบน่องเข้ามา การยกเท้าต้องอยู่ในลักษณะย่อจึงจะยืนอยู่ 

ตัวพระ วางเท้าทั้งสองให้เสมอกัน แล้วถ่ายน้ำหนักตัวให้มารวมกันอยู่ที่ขาข้างขวา ส่วนเท้าซ้ายนั้นคงให้ล้ำไปข้างหน้าเลยเท้าขวาขึ้นไปเล็กน้อย เท้าขวาเบนปลายเท้าไปทางขวามือพอสมควร ย่อลงและยกเท้าซ้ายขึ้นไว้ข้างหน้า เมื่อยกเท้าขึ้นมาต้องให้หน้าขาได้ระดับเป็นเส้นตรง และแบะปลายเข่าออกปลายเท้าให้ชี้ไปทางซ้ายมือ ส่วนส้นเท้าอย่าให้ตรงกับสันหน้าแข้งข้างขวา หักข้อเท้าขึ้นให้นิ้วเท้าทั้ง 5 ตึงให้นิ้วหัวแม่เท้าตรงกับสันหน้าแข้ง ส่วนฝ่าเท้าตรง  การยกเท้านี้จะต้องอยู่ในลักษณะย่อจึงจะยืนอยู่


ท่า ยกเท้าซ้าย (ไว้ข้างตัว

ตัวนาง วางเท้าทั้งสองให้เสมอกัน แล้วถ่ายน้ำหนักตัวให้มารวมกันอยู่ที่ขาข้างขวา ส่วนเท้าซ้ายนั้นคงให้ล้ำไปข้างหน้าเลยเท้าขวาขึ้นไปเล็กน้อย แล้วย่อลงและยกเท้าซ้ายขึ้นใช้วิธี “เดี่ยว”  แทน  คือ ใช้ส้นเท้าจรดขาอีกข้างหนึ่งไม่สูงมากนัก แบะปลายเข่าเหมือนตัวพระ หักข้อเท้าขึ้นให้นิ้วเท้าทั้ง5 ตึง  

ตัวพระ วางเท้าทั้งสองให้เสมอกัน แล้วถ่ายน้ำหนักตัวให้มา รวมกันอยู่ที่ขาข้างขวา เท้าทั้งสองอยู่ในระดับเดียวกัน  ปลายเท้าทั้งสองต่างก็เบนออกไปคนละทางแต่พอสมควร แล้วจึงย่อลงยกเท้าซ้ายขึ้นมาไว้ข้างๆตัวให้ได้มุมฉากกับลำตัวให้หน้าขาได้ระดับเป็นเส้นตรง หนีบน่องเข้ามาเล็กน้อย  ปลายเท้าชี้ไปข้างๆตัว แล้วหักข้อเท้าขึ้นมา นิ้วทั้ง 5 นิ้วต้องตึง  ให้นิ้วหัวแม่เท้าตรงกับสันหน้าแข้ง ส่วนฝ่าเท้านั้นต้องตรงไม่บิดเบี้ยวหรือตะแคง การยกเท้านี้ต้องอยู่ในลักษณะย่อ                    

             

                            ก้าวเท้า  

                                    

       ก้าวเท้า    คือ การก้าวเท้าข้างใดข้างหนึ่งลง โดยน้ำหนักตัวจะ ต้องโน้มหนักไปข้างหน้า    เท้าหลังเปิดส้นเท้าย่อเข่าให้พอดูงาม   จะแตกต่างระหว่างพระกับนางตรงเหลี่ยม    ถ้าเป็นพระเหลี่ยมจะกว้าง     ถ้าเป็นนาง เหลี่ยมจะแคบ แบ่งออกได้ดังนี้  

 ๑. ท่าก้าวหน้า   เป็นการก้าวเท้าข้างใดข้างหนึ่งไป   ข้างหน้า   โดยยกเท้าขึ้นวางส้นเท้าลงแล้วจึงเหยียบให้เต็มฝ่าเท้าลงกับพื้น   เบนปลายเท้าข้างที่ก้าวออกไปด้านข้างกะให้ส้นเท้าที่วางลงนั้นอยู่ตรงกับหัวแม่เท้าที่อยู่ ข้างหลัง  น้ำหนักตัวจะต้องอยู่เท้าหน้า  เปิดส้นเท้าหลัง  ตัวพระเหลี่ยม เข่ากว้าง    ตัวนางไม่ต้องกันเข่า            

 

๒. ท่าก้าวข้าง  ตัวพระก้าวเท้าลักษณะคล้ายก้าวหน้า แตกต่างกันตรงที่ต้องก้าวเท้าเฉียงออกด้านข้างลำตัวมากๆฝ่าเท้าวางเป็นเส้นตรงกับหัวแม่เท้าหลัง   ส่วนตัวนางจะหลบเข่าหันหัวเข่าเข้าไปใกล้น่องของเท้า ข้างที่ยืน  พร้อมกับย่อเข่าลงมากๆ เปิดส้นเท้าหลัง                                                        

 

 ๓.ท่า ก้าวไขว้   เป็นการก้าวเท้าข้างใดข้างหนึ่งลง  ถ้าก้าวไขว้เท้าซ้าย   หลักการก้าวเท้าให้ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าน้ำหนักตัวจะต้องโน้มหนักไปข้างหน้าย่อเข่าให้ดูพองาม   เปิดส้นเท้าหลังเหมือนก้าวหน้า     

 




 

 

    ประเท้า                                                                                                                                           

ประเท้า   การประเท้านี้จะประเท้าไหนก่อนก็ได้ แต่จะประเท้าเดียวพร้อมๆกันไม่ได้  ถ้าประเท้าขวา  ก่อนอื่นต้องย่อตัวลงแล้วถ่ายน้ำหนักให้มาอยู่ขาซ้าย ส่วนขาขวาเวลานี้มีน้ำหนักเบามาก เพราะจะใช้ประแล้วก็ยืด – ยุบ พอยุบลงแล้วดึงปลายนิ้วเท้าทั้ง ๕ นิ้ว ขึ้น

มาให้มากที่สุด  แล้วกระดกปลายเท้าขึ้นโดยการใช้ส้นเท้ายันพื้นไว้แล้วจึงตบเท้าขวาลงพื้นเบาๆ และยกขึ้นเวลาตบเท้าลงไปจะต้องใช้จมูกเท้าอย่าใช้ปลายนิ้วเท้า  การจะยกเท้าขึ้นมานั้นต้องยกขึ้นมาในลักษณะกระชากเข่าขึ้นมาเล็กน้อย ถ้าจะประเท้าซ้ายก็ปฏิบัติ 

เช่นเดียวกับเท้าขวาการประเท้านี้ความสัมพันธ์อยู่ที่ยืด – ยุบ ประ – ยก ต้องเป็นจังหวะที่ติดต่อจึงจะใช้ได้ การประเท้านี้มีอยู่ ๒ แบบ แบบที่ ๑ ประแล้วยกขึ้น แบบที่ ๒ คือประอยู่กับที่       

 


กระทุ้งเท้า

 กระทุ้งเท้า  คือ การกระแทกจมูกเท้าที่อยู่ข้างหลังครั้งหนึ่งก่อน  แล้วกระดกเท้าโดยยกเท้าที่กระแทกไปด้านหลัง  ให้ส้นเท้าชิดกับก้น  บางครั้งการกระทุ้งเท้าไม่ต้องกระดกก็มี  โดยกระทุ้งแล้วก้าวไปตามปกติ 

 

 


จรดเท้า

 

จรดเท้า  การจรดเท้านี้ จะจรดข้างไหนก่อนก็ได้ แต่จะปฏิบัติพร้อมๆกันไม่ได้ ถ้าจะจรดเท้าด้วยเท้าซ้ายก้าวเท้าขวาลงไป พร้อมกันนั้นต้องยกเท้าซ้ายให้สูงขึ้นจากพื้นเล็กน้อย แล้วใช้จมูกเท้าวางลงบนพื้น แต่ส้นเท้าต้องสูงจากพื้นพอประมาณ   การจรดเท้านี้น้ำหนัก

จะต้องไปอยู่ที่ขาตรงกันข้าม   เช่น  จรดด้วยเท้าซ้ายน้ำหนักจะต้องไปอยู่ที่ขาขวาเป็นต้น

 

 


  ซอยเท้า  

 

                                             

              ซอยเท้า คือ กิริยาที่ใช้จมูกเท้าวางกับพื้น   ยกส้นเท้าน้อยๆ ทั้ง 2 เท้า แล้วย่ำเท้า ซ้าย เท้าขวาสลับกันถี่ๆ จะอยู่กับที่หรือเคลื่อนที่ก็ได้  

 


 แตะเท้า                       

ท่าแตะเท้า  การแตะเท้านี้จะแตะข้างไหนก่อนก็ได้แต่จะปฏิบัติพร้อมๆกันไม่ได้ ถ้าจะแตะเท้าด้วยเท้าซ้าย  ก้าวเท้าขวาลงไปพร้อมกันนั้นต้องยกเท้าซ้ายให้สูง ขึ้นจากพื้นเล็กน้อย แล้วใช้จมูกเท้าวางลงบนพื้นแต่ ส้นเท้าต้องสูงจากพื้นพอประมาณ การแตะเท้านี้ น้ำหนักจะต้องไปอยู่ที่ขาตรงกันข้ามการใช้ส่วนของ  จมูกเท้าแตะพื้นแล้ววิ่งหรือก้าวขณะที่ก้าวส่วนอื่นๆ ของเท้าก็ถึงพื้นด้วย



              

 


   ขยั่นเท้า

 

 

ขยั่นเท้า   การขยั่นเท้าจะต้องขยั่นทีละข้าง ถ้าขยั่นด้วยเท้าซ้ายก็ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าโดยการวางฝ่าเท้าลงไปให้เต็มเท้าน้ำหนักอยู่ที่ปลายเข่าซ้ายพอประมาณส่วนเท้าขวาคงใช้จมูกเท้ายันพื้นไว้ตอนที่ขยั่นเท้า ถ่ายน้ำหนักมาเท้าขวาเล็กน้อยแต่อยู่ในท่ายันพื้นแล้วขยับเท้าซ้ายขึ้นนิดหน่อยวางเท้าซ้ายลงอย่างเดิมน้ำหนักคงกลับมาอยู่ที่เท้าซ้ายแล้วยกเท้าขวาขึ้นวางลงไปอย่างเดิม ทำสลับกันไปหลายๆครั้งถ้าจะขยั่นด้วยเท้าขวาก็ปฏิบัติด้วยวิธีอย่างเดียวกัน ข้อสำคัญในการขยั่นเท้าจะต้องขยั่นให้ถี่ๆ หรือให้พร้อมกับจังหวะเวลาขยั่นจะต้องมียืด – ยุบ อยู่เสมอ

 

 


 ฉายเท้า

ฉายเท้า คือ กิริยาที่ก้าวหน้าแล้วต้องการลากเท้าที่ก้าวมาพักไว้ข้างๆให้ใช้จมูกเท้าจรดพื้นไว้ เผยอส้นเท้าเล็กน้อยแล้วลากเท้ามาพักไว้ในลักษณะเหลื่อมเท้าโดยหันปลายเท้าที่ฉายมาให้อยู่ด้านข้าง  การฉายเท้านี้จะมาจากลักษณะใดก็แล้วแต่  จะต้องฉายจากด้านข้างก่อนแล้วจึงจะไปท่าอื่นเสมอ                                             

 


           

                                               สะดุดเท้า          

                                                

 สะดุดเท้า คือ กิริยาที่ใช้ส้นเท้าวางจรดพื้นโดยไม่มีน้ำหนัก ย่อเข่าทั้ง2 ข้าง  ถ้าจะสะดุดเท้าก็ใช้จมูกเท้า จรดพื้น ลากเข้ามาให้ใกล้ๆเท้าที่ยืนเป็นหลัก  แล้วจรดส้นเท้าลง เผยอจมูกเท้าขึ้นดันส้นเท้าให้ห่างตัวออกไป  สะดุดเท้า  วิธีสะดุดทำได้โดยย่อเข่าเล็กน้อย

เสือกจมูกเท้าไปข้างหน้าพร้อมกับโน้มตัวไปเล็กน้อย  แล้วรีบชะงักตัวไว้ขณะโน้มตัวไปข้างหน้า  ให้เท้าหลังยกเหนือพื้นเล็กน้อย เมื่อชะงักตัวแล้วรีบกลับมายืนหนักเท้าหลังไว้  ยืดเข่าตรง   ยกเท้าขึ้นแตะด้วยจมูกเท้าแล้วยืดเข่าตรง

                                                                                                                                                         

 

 


 

 

                                        รวมเท้า

 

 

  รวมเท้า คือ    การวางเท้าให้ชิดกันตามลักษณะ ตัวนางจะวางเท้าชิดกัน ส่วนตัวพระจะวางส้นเท้าชิดกัน ปลายเท้าจะแยก


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน