หุ่นชักสายเชิด

 หุ่นชักสายเชิด

เป็นหุ่นแบบใช้เส้นเชือกชักเชิด ในภาษาอังกฤษมักเรียกว่า String-puppet แต่คำ Marionette ซึ่งมาจากภาษาฝรั่งเศส ได้รับความนิยมมากกว่า เพราะเหตุว่า หุ่นชนิดนี้ เป็นที่นิยมแพร่หลายมากในประเทศฝรั่งเศส ตามหลักฐานที่ค้นพบ มีการเชิดแสดงหุ่นชนิดนี้มานานตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ แล้ว

ช่างผู้ประดิษฐ์หุ่นชักสายเชิดจะมีวิธีการสร้างหุ่นเฉพาะตัว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน แต่โดยทั่วไป ศีรษะและลำคอของหุ่นประเภทนี้สร้างจากวัสดุที่คล้ายกับวัสดุของหุ่นมือ คือ ใช้ไม้ที่มีน้ำหนักเบา หรือกระดาษปิดกาว หรือกระดาษแข็ง ส่วนวัสดุที่นำมาประดิษฐ์เป็นลำตัวของหุ่น ต้องแข็งแรงพอสมควร เช่น ไม้ กระดาษปิดกาว ผ้ายัดนุ่น


ลำตัวของหุ่นชักสายเชิดแยกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนบนตั้งแต่เอวขึ้นไป และส่วนล่างจากเอวลงมา เพื่อให้การเชิดเคลื่อนไหวได้อ่อนช้อย คล้ายคลึงกับการเคลื่อนไหวของมนุษย์มากที่สุด และที่เท้าของหุ่นมักถ่วงให้หนักด้วยตะกั่ว โดยรวมแล้ว อวัยวะแทบทุกส่วนของตัวหุ่นชักสายเชิดจะประดิษฐ์ให้เคลื่อนไหวได้ รวมทั้ง นัยน์ตาทั้ง ๒ ข้างที่กลอกไปมาได้ด้วย

การตกแต่งหุ่นจะใช้สีวาดและทาอวัยวะต่างๆ ที่เป็นร่างกาย เสื้อผ้าก็มักจะให้มีสีสันสดใส ฉูดฉาด เพื่อดึงดูดสายตา และความสนใจ เสื้อผ้าและเครื่องประดับต่างๆ ของหุ่น มีลักษณะหลวมๆ และเบา เพราะหุ่นประเภทนี้ต้องเคลื่อนไหวมาก ตัวหุ่นมีรูปร่างครบสมบูรณ์ทุกอย่าง มีเส้นเชือก ซึ่งมีความเหนียวมาก ผูกตรึงกับอวัยวะส่วนต่างๆ ของหุ่น โดยเฉพาะที่แขนและขา และโยงไปยังด้ามบังคับ ที่ทำด้วยไม้เป็นรูปกากบาท

ผู้เชิดหุ่นจะเชิดจากด้านบนของโรงหุ่น ซึ่งสร้างยกพื้นอยู่ด้านหลังของฉาก เพื่อให้ผู้เชิดแสดง สามารถยืนชะโงกออกมาเชิดตัวหุ่นที่อยู่ข้างหน้าฉากได้ถนัด หุ่นชักสายเชิดนี้ ได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในยุโรป ระหว่างช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ประเทศที่นิยมนำหุ่นชนิดนี้มาเล่น เช่น ออสเตรีย อิตาลี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย

องค์ประกอบพื้นฐานสำคัญของการเล่นหุ่นกระบอก

อาจจำแนกได้เป็นส่วนต่างๆ คือ ตัวหุ่นกระบอก เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ โรงหุ่นและฉาก ดนตรีและการขับร้อง วิธีการเชิดแสดง เนื้อเรื่องที่นำมาแสดง


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน