เซิ้งกระติบข้าว

 เซิ้งกระติบข้าว

 

            ภูมิหลัง

              เป็นการแสดงของภาคอีสานที่เป็นที่รู้จักกันดี และแพร่หลายที่สุดชุดหนึ่ง จนทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การแสดงของภาคอีสานมีลักษณะเป็นการรำเซิ้งเพียงอย่างเดียว เซิ้งกระติบข้าวได้แบบอย่างมาจากการเซิ้งบั้งไฟ ซึ่งแต่เดิมเซิ้งอีสานจริงๆ ไม่มีท่าทางอะไร มีแต่กินเหล้ายกมือไม้สะเปะสะปะให้เข้ากับจังหวะเสียงกลองไปตามใจ (มีผู้นิยามว่า ฟ้อนตามแบบกรมสรรพสามิต) โดยไม่ได้คำนึงถึงความสวยงาม นอกจากให้เข้าจังหวะกลอง ตบมือไปตามเรื่องตามฤทธิ์เหล้าในราว พ.ศ. 2507 สมเด็จพระบรมราชินีนาถต้องการการแสดงของภาคอีสาน เพื่อต้อนรับสมเด็จพระนางเจ้าอะเลียนา และเจ้าหญิงบีทริกซ์ แห่งประเทศเนเธอแลนด์ จึงมีการนำเอาเพลงอีสานคือ หมอลำจังหวะช้าเร็ว โดยมีท่าถวายบังคม ท่านกบิน ท่าเดิน ท่าดูดาว ท่าม้วนตัว ท่าสนุกสนาน ท่าปั้นข้าวเหนียว ท่าโปรยดอกไม้ ท่าบังแสงอาทิตย์ ท่าเตี้ย (รำเตี้ย) และในการแต่งกายครั้งแรกนั้นจะนุ่งผ้าซิ่นห่มผ้าสไบ เกล้าผมสูง แต่ไม่มีใครยอมห้อยกระติบข้าวเพราะเห็นว่ารุงรัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตร พระองค์จึงรับสั่งให้ใครสักคนหนึ่งลองรำดูว่า ถ้าไม่ห้อยกระติบข้าว หรือห้อยกระติบข้าวแล้วจะเป็นอย่างไร ? คุณหญิงเบญจวรรณ อรวรรณ เป็นผู้ทดลองรำดู ครั้งแรกไม่ห้อยกระติบข้าวก็น่ารักดี ครั้งที่สองรำโดยห้อยกระติบข้าวทุกคนก็คิดว่ากำลังน่ารัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งคำเดียวว่า "น่าเอ็นดูดีนี่" ผู้รำทุกคนก็พากันรีบห้อยกระติบข้าวกันใหญ่ทางไหล่ขวาทุกคน การเซิ้งครั้งนั้น ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เรียกชื่อว่า "เซิ้งอีสาน" ต่อมามีผู้นำเซิ้งอีสานไปแสดงกันทั่วไปแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "เซิ้งกระติบข้าว"

            องค์ประกอบที่บ่งบอกให้เห็นคุณลักษณะของศิลปะพื้นถิ่น

            ๑ เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบจังหวะ ได้แก่ กลองแต๊ะ กลองยาว แคน ฆ้องโหม่ง ฉิ่ง ฉาบ

และกรับ     

            ๒ นักแสดงทุกคนแต่งตัวนุ่งซิ่นห่มผ้าสไบ เกล้าผมสูง และนำกระติบข้าวห้อยทางไหล่ขวา สาเหตุของการนำกระติบข้าวมาใช้ในการแสดง เพราะเห็นว่ากระติบข้าวเป็นสัญลักษณ์ของคนอีสาน

 

            รูปแบบ วิธีการแสดงของศิลปะพื้นถิ่น

            เซิ้งกระติบข้าว เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวภูไท ซึ่งเป็นชาวไทยเผ่าหนึ่งที่มีเชื้อสายสืบต่อกันมาช้านานในดินแดนทางภาคอีสานของไทย เช่น ในเขตจังหวัดสกลนคร และจังหวัดข้างเคียง นิยมเล่นกันในโอกาสรื่นเริงวันนักขัตฤกษ์ต่างๆ การแสดงจะเริ่มด้วยชาวภูไทฝ่ายชายนำเอาเครื่องดนตรี และเครื่องประกอบจังหวะหลายอย่าง ได้แก่ แคน เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งใช้ปากเป่าเป็นทำนองเพลง แก๊บ (กรับ) กลองเถิดเทิง กลองแต๊ะ โหม่ง และ ฉาบ มาร่วมกันบรรเลงเพลงที่มีทำนองและจังหวะรุกเร้า ต่อจากนั้นเหล่าสตรีชาวภูไทในวัยต่างๆ ซึ่งมีกระติบข้าวแขวนสะพายอยู่ข้างตัว ออกมาเต้นเซิ้งเป็นการแสดงอากัปกิริยาของสตรีชาวภูไท ขณะเมื่อสะพายกระติบข้าวเพื่อนำอาหารไปส่งให้แก่สามี และญาติพี่น้องที่ออกไปทำงานอยู่นอกบ้าน


อุปกรณ์การแสดง

กระติบข้าว หรือภาษาอีสานบางแห่งเรียกว่าก่องข้าว เป็นภาชนะใช้สำหรับใส่ข้าวเหนียว ที่ทรงคุณค่ามากด้วยภูมิปัญญา เก็บความร้อนได้ดี ในขณะที่ยอมให้ไอน้ำระเหยออกไปได้ ทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุอยู่ภายในกระติบหรือก่องข้าวไม่แฉะด้วยไอน้ำ (ต่างจากกระติกน้ำแข็งที่เก็บความร้อนได้แต่ไม่ยอมให้ไอน้ำระเหยออก ข้าวเหนียวจึงเปียกแฉะ)

    ภูมิปัญญานี้มีเคล็ดลับอยู่ที่การสานกระติบเป็นสองชั้น ชั้นในสุดจะสานด้วยตอกให้มีตาห่างเล็กน้อย เพื่อให้ไอน้ำระเหยออกจากข้าวผ่านช่องว่างภายในกระติบข้าวชั้นในได้ ในขณะที่ชั้นนอกสุดจะสานด้วยตอกที่มีความชิดแน่นหนากว่าเพื่อเก็บกักความร้อนไว้ ไอน้ำที่มีความร้อนอยู่ภายในช่องว่างนี้ จะช่วยทำให้ข้าวเหนียวที่อยู่ภายในกระติบข้าว ยังคงความร้อนได้อีกนาน โดยเมล็ดข้าวจะไม่มีไอน้ำเกาะ จึงไม่แฉะเหมือนกับการบรรจุในภาชนะพลาสติกยุคใหม่ ฝาปิดและตัวกระติบ จะมีลักษณะที่เหมือนกัน เพียงแต่มีขนาดที่ต่างกันเล็กน้อยให้สามารถสวมใส่กันได้พอดี ในส่วนตัวกระติบจะมีฐานรอง ขดเป็นวงกลม มีขนาดเล็กกว่าตัวกระติบเล็กน้อย ยึดด้วยหวายหรือไนล่อนให้ติดกับตัวกระติบ 


การแต่งกาย
ผู้แสดงใช้ผู้หญิงล้วน สวมเสื้อแขนกระบอกคอกลมสีพื้น นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ ห่มผ้าสไบเฉียง ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ห้อยกระติบข้าวทางไหล่ซ้ายเฉียงไปทางขวา แต่งกายแบบพื้นเมืองภาคอีสาน นุ่งผ้าซิ่น มีเชิงยาวคลุมเข่าเล็กน้อย สวมเสื้อแขนกระบอก คอกลมหรือคอปิด ห่มสไบทับเสื้อ ประดับด้วยเครื่องประดับต่างๆ เกล้าผมมวยสูงทัดดอกไม้ 
   
    เครื่องดนตรี 
ที่ใช้ประกอบจังหวะ ได้แก่ กลองแต๊ะ กลองยาว แคน ฆ้องโหม่ง ฉิ่ง ฉาบ และกรับ


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน