ระบำ รำ ฟ้อน

 ระบำ รำ ฟ้อน

        นาฏศิลป์ เป็นการรวมความเป็นเลิศของศิลปะแขนงต่าง ๆ วิวัฒนาการมาพร้อมกับความเจริญของมนุษย์ โดยอาศัยพลังและเจตนา เป็นเครื่องผลักดันให้จิตกระตุ้นร่างกายให้แสดงการเคลื่อนไหว มีจังหวะ มีแบบแผน เพื่อให้เกิดความสุข ความเข้าใจ และความงดงามแก่ตนเองและผู้อื่น  นาฏศิลป์ไทย เป็นศิลปวัฒนธรรมประจำชาติแต่โบราณ เป็นศิลปะชั้นสูง แยกประเภทการแสดงออกเป็นหลายแบบ ใช้ภาษาท่าเหมือนกัน แต่แยกลักษณะและประเภทการแสดงแตกต่างกัน  

ขอบข่ายของนาฏศิลป์ไทย จำแนกเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ โขน หนัง หุ่น ละครรำ ละครรำ ละครร้อง ละครสังคีต ละครพูด การละเล่นของหลวง การเล่นเบิกโรง การละเล่นพื้นเมือง

        นาฏศิลป์ไทยประเภทต่างๆ ดังกล่าวมานี้ เรียกกันโดยทั่วไปว่า "มหรสพ" ซึ่งหมายถึงการเล่นรื่นเริง มีโขน ละคร หรือสิ่งที่คล้ายคลึงกัน ปัจจุบันมหรสพมีความหมายกว้างขวาง รวมไปถึงการเล่นรื่นเริงทุกชนิด มีระบำ รำ ฟ้อน เป็นต้น

     ระบำ คือ ศิลปะของการร่ายรำที่แสดงพร้อมกันเป็นหมู่เป็นชุด ความงามของการแสดงระบำ อยู่ที่ความสอดประสานกลมกลืนกัน ด้วยความพร้อมเพรียงกัน  การแสดงมีทั้งเนื้อร้องและไม่มีเนื้อร้อง ใช้เพียงดนตรีประกอบ  คำว่า "ระบำ" รวมเอา "ฟ้อน" และ "เซิ้ง" เข้าไว้ด้วยกัน เพราะวิธีการแสดงไปในรูปเดียวกัน แตกต่างกันที่วิธีร่ายรำ และการแต่งกายตามระเบียบประเพณีตามท้องถิ่น

ระบำ แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ ระบำดั้งเดิมหรือระบำมาตรฐาน และระบำปรับปรุงหรือระบำเบ็ดเตล็ด

     ๑. ระบำดั้งเดิมหรือระบำมาตรฐาน หมายถึง การแสดงที่ปรมาจารย์ได้กำหนดเนื้อร้อง ทำนองเพลง ลีลาท่ารำและการแต่งกาย ตลอดถึงกระบวนการแสดงไว้อย่างแน่นอนตายตัว และได้สั่งสอน ฝึกหัด ถ่ายทอด ต่อๆ กันมาเป็นเวลานาน จนนับถือเป็นแบบฉบับ จัดเป็นระบำมาตรฐาน เป็นแม่บทที่ควรธำรงรักษาไว้ ซึ่งใครจะเปลี่ยนแปลงลีลาท่ารำไม่ได้ เช่น ระบำดาวดึงส์ ระบำกฤดาภินิหาร ระบำเทพบันเทิง ระบำโบราณคดี

     ๒. ระบำปรับปรุงหรือระบำเบ็ดเตล็ด หมายถึง การแสดงที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามประสงค์ ตามเหตุการณ์ ตามสมัยนิยม และตามเนื้อเรื่องที่ผู้ประพันธ์ต้องการ  ระบำปรับปรุงแยกออกเป็น

          -  ปรับปรุงจากแบบมาตรฐาน หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นโดยยึดแบบและลีลา ตลอดจนความสวยงามในด้านระบำไว้  ท่าทางลีลาที่สำคัญยังคงไว้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ดูงามขึ้นอีก หรือเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสมกับสถานที่ที่นำไปแสดง เช่น การจัดรูปแถว การนำเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงเข้าไปสอดแทรก เป็นต้น

          -  ปรับปรุงจากพื้นบ้าน หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้นจากแนวทางความเป็นอยู่ของคนพื้นบ้าน การทำมาหากิน อุตสาหกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ในแต่ละท้องถิ่นมาแสดงออกเป็นรูประบำ เพื่อเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น เช่น เซิ้งบั้งไฟ เต้นกำรำเคียว ระบำงอบ ระบำกะลา รองเง็ง ฯลฯ

          -  ปรับปรุงจากท่าทางของสัตว์ หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ตามลักษณะลีลาท่าทางของสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น ระบำนกยูง ระบำนกเขา ระบำมฤครำเริง ระบำบันเทิงกาสร ระบำตั๊กแตน เป็นต้น

          -  ปรับปรุงจากตามเหตุการณ์ หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใช้ตามโอกาสที่เหมาะสม เช่น ระบำพระประทีป ระบำโคมไฟ ระบำที่ประดิษฐ์ขึ้นรำในวันนักขัตฤกษ์ ลอยกระทงในเดือนสิบสอง ระบำที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อการต้อนรับ เพื่อแสดงความยินดี อวยพรวันเกิด เป็นต้น

          -  ปรับปรุงจากสื่อการสอน เป็นระบำประดิษฐ์และสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อเป็นแนวทางสื่อนำสู่บทเรียน เหมาะสำหรับเด็ก ๆ เป็นระบำง่าย ๆ เพื่อเร้าความสนใจ ประกอบบทเรียนต่าง ๆ เช่น ระบำสูตรคูณ ระบำวรรณยุกต์

         ระบำประเภทปรับปรุงขึ้นใหม่นี้ ลักษณะท่ารำจะไม่ตายตัว จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ ตัวบุคคล ตลอดจนฝีมือและความสามารถของผู้สอนและตัวนักเรียนเอง


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน