การสืบทอดการแสดงและพิธีกรรม

 การสืบทอดการแสดงและพิธีกรรม
         
๑.ในสมัยโบราณผู้ใดจะแสดงหนังตะลุงก็จะไปฝากตัวเป็นศิษย์กับคณะหนังตะลุงที่ตัวเองชอบในแนวทางการแสดง พร้อมกับนำดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู ไปมอบให้เพื่อเป็นการบูชา ฝ่ายครูก็มีการทดสอบโดยให้ร้องบทให้ฟังก่อน เพราะคนที่จะแสดงหนังตะลุงได้นั้นต้องมีการสนใจมาก่อน และจะต้องจำบทหนังตะลุงได้บ้างถึงไม่มากก็น้อย อันดับแรกครูจะฟังน้ำเสียง และเชาว์ปัญญา ถ้าไม่มีเชาว์ น้ำเสียงไม่ดี ก็ไม่รับเป็นศิษย์ ไม่เพียงหนังตะลุงศิลปินพื้นบ้านทุกประเภทในสมัยโบราณ ถ้าน้ำเสียงไม่ดีไม่สามารถยึดเป็นอาชีพได้ เพราะไม่มีเทคโนโลยีช่วยเหมือนสมัยนี้ ต้องใช้เสียงตัวเอง โดยเฉพาะหนังตะลุงแสดงตั้งแต่หัวค่ำจนสว่างใช้เวลาในการแสดงไม่ต่ำกว่าแปดชั่วโมง นับว่าเป็นงานที่หนักมากพอดู
๒.การครอบมือ เมื่ออาจารย์รับผู้สมัครไว้เป็นศิษย์ ถ้าบ้านลูกศิษย์อยู่ไกล เช่น ต่างอำเภอหรือต่างจังหวัด อาจารย์ก็จะรับไว้ให้อยู่ที่บ้าน อยู่กินกับอาจารย์ สอนวิชาให้ อาจารย์ไปแสดงสที่ไหนก็จะพาไปด้วย สอนให้ออกฤาษี และปรายหน้าบทก่อนเพื่อต้องการให้ชินกับคนดูมากๆ การฝึกแสดงหนังตะลุงไม่ใช่ฝึกกันได้ง่ายๆ ต้องใช้เวลามาก อย่างน้อยต้องฝึกสี่หลักด้วยกัน เช่น
ก.ฝึกใช้เสียงเพื่อให้เข้ากับบทบาทของตัวละคร เสียงพระ เสียงนาง เสียงยักษ์ ตัวตลก ภาษาสัตว์ต่างๆ
ข.บทร้อง ต้องฝึกฉันทลักษณ์ของกลอน กลอนแบบไหนใช้กับตัวหนังตัวใดด เช่น บทรัก บทโศก บทสมห้อง บทเทวดา บทยักษ์
ค.การเชิดรูป ตัวหนังแต่ละตัวเชิดไม่เหมือนกัน เช่น พระราชา ต้องเชิดแบบผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ ราชินีกริยาท่าทางแบบผู้ดี พระเอกเชิดแบบชายหนุ่มเจ้าชู้นิดๆ นางเอกกริยาเรียบร้อย ยักษ์หยาบกระด้าง
ง.ตัวตลก ตัวตลอกหนังตะลุงมีบทบาทสำคัญต่อผู้แสดงหนังตะลุงมาก คนดูหนังตะลุงได้จนสว่างก็เพราะตัวตลกนี่เอง ตัวตลกหนังตะลุงสามารถนำศีลธรรม สังคม การบ้าน การเมือง มาแทรกในบทหนังตะลุงได้อย่างกลมกลืน และยังสามารถนำผู้ชมเข้าร่วมในการแสดงได้อีกด้วย
    ในสมัยโบราณการฝึกหนังตะลุง อย่างน้อยต้องอยู่กับอาจารย์สามปี บางคนอยู่กับอาจารย์ห้าปี หกปี ก็มี เมื่ออาจารย์เห็นว่าลูกศิษย์แสดงได้ดีแล้ว ก็จะทำพิธีครอบมือให้ เมื่อผ่านการครอบมือแล้วก็เป็นหนังตะลุงสมบูรณ์แบบ แก้บนได้ (แก้เหมรย) หนังตะลุงโรงใดที่ยังไม่ได้รับการครอบมือ เชื่อกันว่าแก้บนไม่ขาด พิธีการครอบมือเหมือนกับการไหว้ครูทุกประการ
๓. พิธีการไหว้ครู การไหว้ครูเป็นประเพณีสำคัญของหนังตะลุง มีความเชื่อกันว่าหนังตะลุงคณะใดมีการไหว้ครูเป็นประจำทุกปีเป็นมงคลแก่ตัว เอง ทำมาหากินคล่อง เป็นที่นิยมของคนดู หนังตะลุงบางคนที่แสดงหนังตะลุงไม่ได้แล้ว เช่น แก่ หรือ พิการ ก็ยังมีการไหว้ครูกันแต่ไม่ประจำทุกปี การไหว้ครูเป็นการบูชาครูอาจารย์ที่ยังมีชีวิตและที่ล่วงลับไปแล้ว
ก.วันที่ใช้ในการทำพิธีไหว้ครู คือ วันพฤหัสบดี โดยมีความเชื่อกันว่า วันพฤหัสบดี คือ วันครู ส่วนเดือนที่ใช้ในการไหว้ครูคือเดือน ๖-๙-๑๑ แต่มักใช้เดือน ๖ เป็นหลัก โดยมีความเชื่อว่าเดือน ๙-๑๑ ครูถือศีลเข้าพรรษา
ข.ของสำคัญที่ขาดไม่ได้ในพิธีไหว้ครู
     ๑.ผ้าขาวทำเพดานหนึ่งผืน ใช้กราบครูหนึ่งผืน
     ๒.หมอนหนึ่งใบ สำหรับกราบครู
     ๓.หินลับมีด
     ๔.เสื่อหนึ่งผืน
     ๕.ด้ายและเข็ม
     ๖.มีดโกน
     ๗.ด้ายสายสิณฑ์
     ๘.ข้าวตอกดอกไม้
     ๙.ธูป เทียน
    ๑๐.หมาก พลู
    ๑๑.มะหร้าวอ่อนสองลูก
    ๑๒.อ้อย
    ๑๓.กล้วย
    ๑๔.ปลามีหัวมีหาง
    ๑๕.ไก่ตัวผู้ใช้ทองปิดปาก
    ๑๖.หัวหมูใช้ทองปิดปาก เป็ด และห่าน ใช้ด้วยก็ได้ แต่ต้องเป็นตัวผู้
    ๑๗.เหล้าใช้ได้ทุกยี่ห้อ กี่ขวดก็ได้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน