นาฎศิลป์ ตอน หุ่นกระบอก
นาฎศิลป์ ตอน หุ่นกระบอก
บทนำ
หุ่นกระบอก มีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยหม่อมราชวงศ์เถาะพยัคฆเสนา มีประวัติกล่าวไว้ว่า ได้แนวความคิดมาจากหุ่นของช่างแกะชื่อ เหน่ง ซึ่งทำเล่นอยู่ก่อนที่เมืองอุตรดิตถ์ และนายเหน่งก็ลอกแบบมาจากหุ่นไหหลำ แต่ประดิษฐ์ใหม่ให้เป็นแบบไทย กระบวนร้องในการเชิดหุ่นใช้ทำนอง สังขารา
การเล่นหุ่นกระบอก ก็คล้ายละคร แต่ใช้หุ่นแทนคนจริง ผู้เชิดหุ่นจะต้องรู้วิธีบังคับตัวหุ่น โดยมือหนึ่งจับกระบอกไม้ไผ่ อีกมือหนึ่งจับไม้ที่ตรึงไว้กับข้อมือหุ่น เรียกว่า "ไม้ตะเกียบ" เวลาเชิด ผู้เชิดมักจะขยับตัวตามจังหวะดนตรีไปด้วย พร้อมกันนั้นก็บังคับหุ่นให้อ่อนไหวกล่อมตัวตามไปด้วย การทำท่าอ่อนช้อยเลียนแบบละครรำอย่างแนบเนียน ย่อมเกิดจากความสามารถของคนเชิดหุ่น ไม่ว่าจะกล่อมตัว กระทบตัว เชิดย้อนมือ โยกตัว และรำเพลง หุ่นกระบอกจะมีผ้าคลุมตัวลงมาจากช่วงไหล่ ยาวเลยปลายไม้กระบอกด้านล่าง ผู้เชิหุ่นจึงสามารถซ่อนมือไว้ภายในได้
การร้องและเจรจา ผู้เชิดหุ่นที่เป็นสตรีมักจะร้องและเจรจาด้วย นอกจากตัวตลกหรือตัวอื่นๆ มักใช้ผู้ชาย แต่การขับร้องดำเนินเรื่องแล้วจะใช้เสียงผู้หญิงทั้งหมด พร้อมกันนั้นลูกคู่ก็จะรับกันให้เสียงแน่นและเป็นช่วงๆ
หุ่นกระบอก ของไทยมีลักษณะน่ารักน่าเอ็นดูคล้ายตุ๊กตาที่มีความสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร แต่สามารถเคลื่อนไหวร่ายรำ แสดงอาการต่างๆ ได้เหมือนมนุษย์ โดยมีผู้เชิดหุ่นกระบอกเป็นผู้ควบคุมบังคับอากัปกิริยาต่างๆ ของหุ่น ให้เป็นไปตามที่ผู้เชิดหุ่นต้องการ หุ่นกระบอกของไทยแต่งกายและสวมเครื่องประดับคล้ายตัวละคร ในการแสดงของไทยแบบโบราณ ซึ่งงดงามประณีต และมีความเป็นเอกลักษณ์อย่างยิ่ง
ก่อนที่หุ่นกระบอกของไทยจะเริ่มมีขึ้นในกรุงเทพฯ เราเคยมีการแสดงหุ่นชนิดอื่นเป็นมหรสพมานาน ตั้งแต่เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวง การแสดงหุ่นที่มีในสมัยแรกเริ่ม คือ การแสดงหุ่นหลวง หรือบางครั้งมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หุ่นใหญ่ หุ่นหลวงหรือหุ่นใหญ่มีขนาดใหญ่กว่าหุ่นกระบอก คือ มีความสูงถึงประมาณ ๑ เมตร และมีอุปกรณ์กลไกภายในตัวหุ่น ซับซ้อนกว่าหุ่นกระบอก ดังนั้น วิธีเชิดแสดงหุ่นหลวงจึงยากกว่าการเชิดแสดงหุ่นกระบอก อย่างไรก็ตาม หุ่นหลวงได้ใช้เล่นแสดงเป็นการมหรสพอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์
หุ่นกระบอกของไทยได้เข้ามาสู่สังคมชาวกรุงเทพฯ และเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย จนกลายเป็นการเล่นมหรสพ ที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น