นาฏศิลป์ ตอน โขน

 นาฏศิลป์ ตอน โขน


บทนำ

การแสดงอีกอย่างหนึ่งให้ท่ารำ และแสดงเป็นเรื่องราวโดยลำดับ วิธีการทุกอย่างเหมือนละคร แต่ไม่เรียกว่า ละคร การแสดงที่จะกล่าวนี้ เรียกว่า "โขน"

โขน เป็นการแสดงที่ใช้ท่ารำตามแบบละครใน แต่เพิ่มท่ารำที่มีตัวแสดงแปลกออกไป กับเปลี่ยนทำนองเพลง ที่ดำเนินเรื่อง ไม่ให้เหมือนละคร

โขน มีลักษณะสำคัญอยู่ที่ ผู้แสดงต้องสวมหัวโขนหมดทุกตัว ยกเว้นตัวนาง พระ และเทวดา ในสมัยโบราณตัวพระและตัวเทวดา ก็สวมหัว ภายหลังจึงเปลี่ยนแปลงให้ตัวพระ และตัวเทวดาไม่ต้องสวมหัว คงใช้หน้าของผู้แสดงเช่นเดียวกับละคร

หัวโขน เป็นเครื่องสวมครอบหุ้มตั้งแต่ศีรษะถึงคอ เจาะรูตรงตาให้มองเห็น สร้างตามลักษณะของตัวนั้นๆ เช่น ยักษ์ ลิง เทวดา และอื่นๆ ตบแต่งด้วยสี ปิดทอง ประดับกระจก สวยงาม บางท่านก็เรียกว่า "หน้าโขน"

เรื่องดำเนินไปด้วยการกล่าวลำนำเล่าเรื่อง เป็นทำนองเรียกว่า "พากย์" อย่างหนึ่ง กับ เจรจาเป็นทำนองอย่างหนึ่ง บทพากย์เป็นกาพย์ยานี และกาพย์ฉบัง การพูดของตัวโขน ไม่ว่าจะเป็นทำนองพากย์ ทำนองเจรจา หรือพูดอย่างสามัญชน มีผู้พูดแทนให้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวที่สวมหน้า หรือไม่สวมหน้า ผู้พูดแทนตัวโขนนี้ เรียกว่า "คนเจรจา"

เครื่องแต่งตัว เป็นแบบเดียวกับละครใน นอกจากบางตัวสวมหัวโขนตามเนื้อเรื่อง เสื้อของตัวพระ และตัวยักษ์สมัยโบราณมักมี ๒ สี คือ เป็นเสื้อกั๊กสีหนึ่ง กับแขนสีหนึ่ง นัยว่า เสื้อกั๊กนั้นแทนเกราะ ส่วนตัวลิง ตัวเสื้อ และแขนลายวงทักษิณาวรรต สมมติเป็นขน ของลิงหรือหมี ตัวยักษ์จะต้องมีห้อยก้นเป็นผ้าปักผืนสั้นๆ ปิดชายกระเบน

เรื่องที่แสดง โขนของไทยเราแสดงแต่เรื่องรามเกียรติ์เรื่องเดียว


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน