รำคล้องหงส์

 รำคล้องหงส์

แฟนโนราตัวจริงคงเคยเห็นหรือเคยได้ยินคำว่า "คล้องหงส์" อันเป็นพิธีกรรมของโนราอีกอย่างหนึ่ง แม้ในปัจจุบันพิธีกรรมนี้ก็ยังมีอยู่ไม่ขาดหาย เพียงแต่ว่านานๆ เราจึงจะได้ดูกันสักครั้ง
    คล้องหงส์ เป็นการรำโนราลักษณะหนึ่งถือกันว่าเป็นศิลปะขั้นสูงสุดของการรำโนรา ผู้ที่รำได้ต้องผ่านการฝึกหัดมาอย่างดี และ ผู้ที่เป็นนายโรงได้อย่างสมบูรณ์จะต้องสามารถรำคล้องหงส์ได้ มิเช่นนั้น โนราคณะนั้นจะไม่สามารถรำแก้บนหรือออกงานสำคัญๆ ได้ การรำคล้องหงส์มีโอกาสที่ใช้เพียง 2 โอกาสเท่านั้น คือ ใช้ในพิธีครอบเทริด และผูกผ้าใหญ่ (ครอบมือ) ให้แก่ศิษย์ที่ฝึกรำจนชำนาญแล้ว และรำในพิธีแก้บน ซึ่งถือกันว่ารำแก้บนนั้น ถ้าไม่มีการรำคล้องหงส์การแก้บนจะไร้ผล คือแก้บนไม่ขาด
    การรำคล้องหงส์แม้จะใช้ผู้แสดงหลายคน แต่ตัวสำคัญมี 2 ตัว คือ "พราน" ซึ่งเป็นตัวตลกประจำโรงที่สวมหน้ากากพรานแสดง และ "พญาหงส์" คือ ตัวนายโรงหรือหัวหน้าคณะหรือที่เรียกกันว่า โนราใหญ่ ซึ่งเป็นตัวสำคัญที่จะร้องถูกคล้องด้วยบ่วง นอกจากนั้น ผู้รำทุกคนของคณะที่มาร่วมรำในงานพิธีกรรมนั้นๆ จะต้องสมมุติตัวเป็นหงส์บริวาร ออกมาร่ายรำประกอบทั้งคณะ
    รูปแบบของการรำคล้องหงส์นั้น จะมีโนราใหญ่นำคนรำทั้งหมดของคณะออกรำพร้อมกัน ตามบทร้องที่เป็นแบบฉบับจนครบถ้วน ก่อนจบบทนี้เล็กน้อยตัวพรานจะค่อยๆ แอบมองเพื่อเลือกคล้องตัวที่ต้องการ พอจบบทดนตรีเปลี่ยนเป็นทำนองพญาหงส์ พรานก็จะเริ่มนำเอาบ่วงนาคออกมาแล้วเริ่มคล้อง ตัวอื่นๆ จะบินหนี (คือเข้าโรง) ไปหมด คงเหลือไว้แต่ตัวนายโรงซึ่งจะถูกพรานคล้องได้ เมื่อคล้องได้แล้วพญาหงส์ใช้สติปัญญา จนสามารถดิ้นหลุดจากบ่วงที่พันธนาการอยู่ เป็นเสร็จพิธีรำคล้องหสง์ (ในกรณีที่รำแก้บน ถือเคล็ดตรงจุดนี้ว่าแก้บนเสร็จประสงค์หรือแก้บน-ขาด)

    สังเกตและพิจารณาจากบทร้องที่ใช้ประกอบและรูปแบบของการแสดง น่าจะเชื่อได้ว่าการรำคล้องหงส์ได้ต้นคิดมาจากเรื่อง มโนาชาดก ตอนพรานบุญเลือกจับนางกินรี (หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า นางขี้หนอน) เจตนาของการรำคล้องหงส์น่าจะใช้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงฝีมือให้ศิษย์ได้ชม เป็นแบบอย่างในวันครอบมือ เพื่อให้เห็นศิลปะอันสูงส่งของการรำโนรา เพราะเป็นการรำที่ต้องนำเอาความรู้ความชำนาญทุกลักษณะมาใช้ ผู้รำต้องสอดแทรกอารมณ์และตีท่ารำตามบทร้องและเนื้อเรื่องในลีลาต่างๆ ทุกลักษณะมีทั้งท่ารำที่อ่อนงาม เร่งเร้า และ ลักษณะอื่นๆ นานาประการ (ว่าเข้านั่น) ในโอกาสเดียวกันนี้ศิษย์ที่ครอบมือต้องร่วมรำกับบรรดานักรำรุ่นพี่ๆ ทุกคน ย่อมเป็นโอกาสอันดีที่จะได้สังเกตลีลาการรำของแต่ละคนเพื่อจำหมายไปใช้ ประโยชน์ต่อไป และถ้าศิษย์คนใดหวังจะเป็นโนราชั้นนำก็ต้องฝึกรำคล้องหงส์ด้วยตนเองให้ได้ จึงจะเป็นที่ยอมรับของสังคมและสามารถรำในพิธีแก้บนได้
    จบครับสั้นๆแต่ได้ใจความ อย่างไรก็ตาม การรำคล้องหงส์ของคณะโนราแต่ละครูอาจมีส่วนปลีกย่อยต่างกันออกไป


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน