กำหนดวันและเดือนที่นิยมประกอบพิธีไหว้ครู

 กำหนดวันและเดือนที่นิยมประกอบพิธีไหว้ครู

การจัดพิธีไหว้ครูมีข้อกำหนดว่าให้กระทำพิธีเฉพาะวันพฤหัสบดี อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากพวกพราหมณ์ ซึ่งนับถือเทพเจ้านามพระพฤหัสบดีเป็นเทพฤทธิ์ ในฐานะปุโรหิตาจารย์ที่เคารพนับถือของพระอินทร์และเทวดาอื่นๆ จึงนิยมไหว้ครูกันในวันพฤหัสบดี

มีตำนานที่ถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู นอกจากนี้ยังถือกันว่า เวลากลางวันพระพฤหัสบดีเป็นธาตุไฟ และเป็นธาตุน้ำในเวลากลางคืน เป็นดาวพระเคราะห์ที่ให้วิทยาความรู้แก่มนุษย์ เราจึงถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู
เดือนที่นิยมกระทำพิธีไหว้ครู ตามแบบโบราณนิยมให้ประกอบพิธีไหว้ครูและครอบครูในเดือนคู่ เช่น เดือน ๔ เดือน ๖ เดือน ๘ เดือน ๑๐ เดือน ๑๒ และเดือนยี่ แต่มีข้อยกเว้นเดือนเดียวคือ เดือน ๙ อนุโลมให้จัดพิธีได้ เพราะถือกว่า ๙ เป็นเลขมงคลของไทยสืบมา  ในบางครั้งตามคติโบราณ ยังต้องระบุจันทรคติเพิ่มขึ้นด้วย โดยพิจารณาอีกว่าตรงกับวันขึ้นแรมข้างใด จะนิยมวันพฤหัสบดีข้างขึ้น นับว่าเป็นมงคลยิ่ง เพราะข้างขึ้นถือว่าเป็น "วันฟู" เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง
 
การตั้งเครื่องบูชาและเครื่องสังเวย
-   ที่สำหรับครูปัธยาย  จัดเครื่องสังเวยของสุกและเป็นเครื่องคู่ (คือสิ่งละ ๒ ที่)
-  ที่สำหรับครูดนตรีอยู่ทางขวามือ จัดเครื่องสังเวยของสุกเครื่องคู่
-  ที่องค์พระพิราพทางด้านซ้ายมือ จัดเครื่องสังเวยของดิบเป็นเครื่องคู่
-  ที่พระภูมิจัดเครื่องสังเวยของสุกเครื่องเดี่ยว
-  ที่ตรงหน้าเครื่องปี่พาทย์วงที่ใช้บรรเลงในพิธี จัดเครื่องสังเวยของสุกเครื่องเดี่ยว
รายละเอียดสังเวย มีดังนี้
  บายศรีปากชาม ๔  คู่ หัวหมูสุก ๓  คู่ ดิบ ๑  คู่
  มะพร้าวอ่อน ๔  คู่ เป็ดสุก ๓  คู่ ดิบ ๑  คู่
  กล้วยน้ำ ๔  คู่ ไก่สุก ๓  คู่ ดิบ ๑  คู่
  ผลไม้ ๗ อย่าง ๔  คู่ กุ้งสุก ๓  คู่ ดิบ ๑  คู่
  อ้อยทั้งเปลือก ๑  คู่ ปลาสุก ๓  คู่ ดิบ ๑  คู่
  เผือก มัน ถั่ว งา นม เนย ๔  คู่ ปูสุก ๓  คู่ ดิบ ๑  คู่
  เหล้า ๔  คู่ หัวใจ ตับ หมูดิบ ๑  คู่
  เครื่องกระยาบวช ๔  คู่ ไข่ไก่ดิบ ๑  คู่
  ขนมต้มแดง ขาว ๔  คู่ หมูหนาม ๔  คู่
  เครื่องจิ้ม ๔  คู่ ข้าวเหนียวหน้าเนื้อ หรือมะตะบะ ๑ คู่
  หมาก พลู บุหรี่ ไม้ขีดไฟ ๔  คู่ น้ำเย็น ๔  คู่
  บุหรี่ กับ ชา ๔  คู่
จัดสิ่งของเหล่านี้ให้ครบไม่ขาดไม่เกิน  นอกจากเครื่องบูชาและเครื่องสังเวยแล้ว ยังมีเครื่องกำนล ประกอบด้วย ขัน ๑ ใบ เงิน ๖ บาท ผ้าห่มหรือผ้าเช็ดหน้า ๑ ผืน เทียนขี้ผึ้งขาว ๓ เล่ม ดอกไม้ ธูป บุหรี่ ไม้ขีดไฟ และหมากพลู ๓ คำ ใช้ทั้งประธานในพิธีและผู้เข้าครอบครู

ขั้นตอนการไหว้ครู
๑.  จัดเตรียมสถานที่และทำความสะอาดบริเวณที่จัดให้เรียบร้อย
๒.  เชิญหัวโขนหรือศีรษะครู ทั้งที่เป็นเทพเจ้า เทวดา ฤาษี และคนธรรพมาประดิษฐาน เพื่อเป็นประธานตั้งไว้บนโต๊ะที่เตรียมพร้อมแล้ว
๓.  นิมนต์พระภิกษุ จำนวน ๙ รูป มาทำพิธีสวดมนต์เย็นเพื่อความเป็นสิริมงคล ในบริเวณสถานที่ที่จัดไว้ในตอนเย็น และนิมนต์มาทำพิธีอีกครั้งในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นก่อนเริ่มพิธีไหว้ครู
๔.  จัดเครื่องกระยาบวช เครื่องสังเวย เครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูปเทียน

เครื่องสังเวยจะจัดออกเป็น ๓ ชุด คือ
- ส่วนของพระมหาเทพ เทวดา นางฟ้า เป็นอาหารสุก
- ส่วนของพระครูฤาษี พระปรคนธรรพ เป็นอาหารสุก
- ส่วนของพระพิราพ ซึ่งเป็นเทพอสูร เป็นอาหารดิบ

๕.  เชิญประธานจัดงานมาจุดธูปเทียนบูชาครู  ครูผู้ประกอบพิธีแต่งชุดขาว อ่านโองการเชิญครูต่างๆ มาร่วมในพิธี
"พิธีไหว้ครู" หมายถึง การสำรวมใจระลึกถึงพระคุณของบรมครูที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ และพร้อมใจกันเปล่งเสียงวาจาด้วยความเคารพที่ครูผู้กระทำพิธีอ่านโองการ
๖.  ดนตรีบรรเลงเพลงหน้าพาทย์แต่ละเพลงตามที่ครูผู้ประกอบพิธีจะเรียกเพลง หลังจากที่อ่านโองการเชิญครูปัธยายแต่ละองค์แล้ว
๗.  ครูผู้ประกอบพิธีกล่าวถวายเครื่องเซ่นสังเวยต่างๆ ที่ได้จัดมา เสร็จแล้วกล่าวลาเครื่องเซ่นสังเวย
๘.  ผู้มาร่วมงานรำถวายเพื่อบูชาครู ซึ่งนิยมรำเพลงช้า-เพลงเร็ว เพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงบางเพลง เช่น ตระนิมิตร ตระบองกัน คุกพาทย์ เป็นต้น
๙.  ครูผู้ประกอบพิธี ทำพิธีครอบให้ศิษย์ที่มาร่วมงาน โดยนำศีรษะครูมาครอบให้ ๓ ศีรษะ คือ
-  ศีรษะพระครูฤาษี อันเป็นสัญลักษณ์ครูทั่วไป
-  ศีรษะพระพิราพ อันเป็นสัญลักษณ์ครูโขน
-  ศีรษะเทริดโนห์รา อันเป็นสัญลักษณ์ครูละคร


"พิธีครอบครู" หมายถึง การนำศีรษะครูมาครอบ (รับเป็นศิษย์) และครูจะคอยควบคุมรักษา ครูจะอยู่กับศิษย์คอยช่วยเหลือให้ศิษย์มีความจำในกระบวนการรำ จังหวะดนตรี หากมีสิ่งใดที่ไม่งามจะเกิดขึ้นกับศิษย์ ครูจะช่วยปัดเป่าให้พ้นจากตัวศิษย์ ทำให้ผู้เรียนมีกำลังใจ มีความมั่นใจมากขึ้น และพิธีครอบครูนั้น ผู้ศึกษานาฏศิลป์ทุกคนถือว่าเป็นพิธีสำคัญ และจำเป็นสำหรับผู้ที่ศึกษาปฏิบัติท่ารำที่อยู่ในระดับสูง เช่น การรำเพลงหน้าพาทย์ ก่อนจะรำผู้ศึกษาจะต้องผ่านพิธีครอบครูก่อนจึงจะต่อท่ารำได้
๑๐.  ลูกศิษย์นำขันกำนล มีดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าเช็ดหน้าขาว เงินกำนลครู ๒๔ บาท (อาจแตกต่างกันไป มีตั้งแต่ ๖ บาท ๑๒ บาท ๒๔ บาท หรือ ๓๖ บาท)  ผู้ที่ได้รับครอบถือว่าเป็นศิษย์ที่มีครูแล้ว และในวงการนาฎศิลป์ได้รับคนผู้นี้เป็นนาฎศิลป์โดยสมบูรณ์

๑๑.  ลูกศิษย์ที่จะจบออกจากสถาบันเป็นปีสุดท้าย จะเข้ารับมอบ โดยครูผู้ประกอบพิธีจะส่งศรพระขันธ์ให้กับศิษย์ผู้นั้นรับไว้ เปรียบเสมือนการขออนุญาตเพื่อไปสอนศิษย์ต่อไป
"พิธีมอบ" เป็นขั้นตอนที่สูงที่สุด หมายถึง การได้รับการมอบความรู้ความเป็นครู ผู้สืบทอดการอบรมสั่งสอนในสมัยที่ยังไม่มีปริญญาบัตรเป็นเครื่องกำหนดความรู้ ครูผู้สอนวิชานาฏศิลป์จะพิจารณาว่า ศิษย์คนใดมีความรู้ในวิชานาฏศิลป์มีฝีมือในการรำยอดเยี่ยม จนถือเป็นแบบแผนที่ดีได้ และมีความประพฤติเรียบร้อย เหมาะสมที่จะเป็นครูสืบทอดความเป็นผู้รู้ให้กับผู้อื่นได้ต่อไป  การมอบนั้น ครูผู้กระทำพิธีจะรวบรวมบรรดาอาวุธทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการแสดงโขน-ละคร เช่น พระขรรค์ ดาบ หอก ธนู รวมทั้งบทละคร มัดรวมไว้ และครูจะภาวนาคาถาประสิธิ์ประสาทความเป็นผู้รู้ และส่งมัดอาวุธให้ศิษย์ได้น้อมรับ
๑๒.  ครูผู้ประกอบพิธีจะเจิมหน้าผาก ประพรมน้ำมนต์ พร้อมให้ของที่ระลึก(ถ้ามี) และกล่าวคำอวยพรให้กับศิษย์ทุกคนที่เข้าพิธีไหว้ครู
๑๓.  ศิษย์ทุกคนจะรำส่งครู ซึ่งนิยมรำโปรยข้าวตอกดอกไม้เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไป

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า

รำท่าครูสอน